เผย กทม. เร่งทำแผนที่ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง ต่อจำนวนคลินิกชุมชนอบอุ่น และร้านยา เล็งเพิ่มจำนวน อสส. รองรับระบบ Telemedicine
วานนี้ 20 ก.ค. 2565 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เครือข่าย ComCovid จัดเวที “นโยบายฝ่าวิกฤตโรคระบาด กทม.ด้วยระบบสุขภาพปฐมภูมิ ฝันไปหรือทำได้จริง” โดย ผศ.ทวิดา กมลเวช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยอมรับว่าขณะนี้ตนติดเชื้อโควิด 19 ตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด และเข้าร่วมเสวนาผ่านทางซูม
ผศ.ทวิดา กล่าวว่า ขณะนี้ กทม. กำลังทดลองระบบสุขภาพผ่านดุสิตโมเดล โดยวชิรพยาบาล และ แซนด์บ็อกซ์ของโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โดยพบว่าหนึ่งในจุดอ่อนสำคัญของระบบสาธารณสุขกรุงเทพมหานครคือ ข้อมูลการรักษายังเป็นข้อมูลดิบไม่ได้อยู่ในระบบเดียวกัน จัดการได้ยากซึ่งกำลังแก้ไข ในขณะเดียวกันถ้าจะพัฒนาศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) ให้เป็นโรงพยาบาลมาตรฐาน HA ก็ไม่สามารถทำได้แต่สามารถทำให้ศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นโรงพยาบาลระดับชุมชนได้ โดยขณะนี้ได้นำแผนที่ของศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่งต่อจำนวนคลินิกชุมชนอบอุ่น และร้านยาวางระยะทางในละแวกเดียวกัน เพื่อวางสายการส่งต่อยา คนไข้ และสายการสนับสนุนเวชภัณฑ์ต่างๆ
“การทดลองในบางพื้นที่ในลักษณะชุมชนและพบว่าไปเกี่ยวพันกับการใช้สิทธิ์ในระบบสุขในกองทุนสุขภาพทั้ง 3 กองทุนซึ่งแต่ละแห่งมีสัดส่วนต่างกัน”
ผศ.ทวิดา
อีกส่วนที่ให้ความสำคัญคือเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ที่จะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้เกิดโทรเวชกรรม หรือ Telemedicine ขึ้นได้จริง ในขณะนี้กำลังดูเรื่องกำลังคนว่าจะเพิ่มไปส่วนไหนอย่างไร แล้วจะดูรายละเอียดในเรื่องของกองทุนสุขภาพเขต เพราะต่อให้เอกชนทำ CSR ก็อาจไม่ยั่งยืน กำลังหากลไกที่จะทำให้ชุมชนและระบบสุขภาพเป็นเนื้อเดียวกัน หากทำได้ทุกอย่างก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติและจะสามารถรับมือกับภาวะวิกฤตโรคระบาด
ด้าน อารี คุ้มพิพัทักษ์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เวลาคนกทม.ป่วยก็มักจะนึกถึงศูนย์บริการสาธารณสุขซึ่งเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิเป็นแห่งแรก แต่ปัญหาก็คือคนไข้ไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ ขณะที่ชุมชนก็มีต้นทุน และศูนย์บริการสาธารณสุขก็มีทรัพยากร แต่ทั้ง 2 ขั้วนี้ไม่ได้มาพบกัน
“ระบบการแพทย์ปฐมภูมิต้องเพิ่มการมีส่วนร่วมของชุมชน คือมีส่วนร่วมในการคิด จัดการ และออกแบบ โดยชุมชนเป็นเจ้าของระบบสุขภาพปฐมภูมิ ไม่ใช่เข้ามาแบ่งเบาภาระของศูนย์บริการสาธารณสุข”
อารี
ขณะที่ นพวรรณ พรหมศรี มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมาวิกฤตโควิด-19 พิสูจน์ว่าชุมชนสามารถจัดการวิกฤติสุขภาพได้ และเป็นจังหวะดีที่จะหนุนเสริมความเข้มแข็งของชุมชนให้เกิดความร่วมมือกับหน่วยงานด้านสาธารณสุขอย่างยั่งยืน เพราะชุมชนเข้าใจคนในชุมชนทราบเงื่อนไขของแต่ละคนสามารถดูแลได้ดีกว่า ก็จะช่วยศูนย์บริการสาธารณสุขได้มาก
“เข้าใจว่าศูนย์บริการสาธารณสุขมีภาระงานเยอะชุมชนก็จะช่วยตรงนี้ได้”
นพวรรณ
ด้าน ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช) กล่าวว่า เห็นด้วยกับการที่จะต้องหาทางปลดล็อกการใช้เงินจากกองทุนสุขภาพเขต ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยากในการที่จะรวม 3 กองทุนสุขภาพขณะที่การนิยาม “ระบบสุขภาพปฐมภูมิ” ก็ต่างกันเพราะในหลักวิชาการไม่มีชุมชนอยู่ในองค์ประกอบของการแพทย์ปฐมภูมิ เพราะ “ชุมชน” ในที่นี้ที่หมายความว่าเป็นผู้ให้บริการและเป็นผู้รับบริการในเวลาเดียวกัน ต้องขยายออกมาให้ชัดโดยเครือข่ายต้องจับมือกับกระทรวงสาธารณสุข และในส่วนของวิชาชีพผลักดันในเรื่องของนิยามการแพทย์ปฐมภูมิ
“ราชวิทยาลัยต้องเข้มแข็งออกมาบอกว่ามีอะไรที่ปฐมภูมิต้องทำ ใครทำอะไรและใครทำอะไรได้บ้างไม่ได้บ้าง มาตรฐานต้องเปิดกว้าง มันมีกรอบวิชาชีพอยู่เช่นใครฉีดยาได้ใครฉีดยาไม่ได้”
ภญ.ยุพดี
ขณะที่ อารี ยังเสนอด้วยว่าเมื่อเอาเฉพาะหน้าในเรื่องของสถานการณ์โควิด-19 ในการระบาดระลอกนี้ที่เข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ต้องปรับแนวคิดในการจัดการว่าไม่ใช่โรคร้ายแรงให้ชีวิตเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งจะทำได้หรือไม่นั้นอยู่ที่ “ชุมชน” เป็นสำคัญพร้อมทั้งบอกว่าฝันใกล้ ๆ คือต้องการให้การดูแลโควิดอย่างครบวงจรในชุมชน
ผศ.ทวิดา กล่าวตอนท้ายว่าในอนาคตเห็นความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มจำนวนอาสาสมัครสาธารณสุข และมีการใช้ Telemedicine กับคนไข้มากขึ้น ซึ่ง อสส. จะเป็นส่วนเชื่อมต่อ แล้วจะทำให้ภาระไม่ไปอยู่ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขมากจนเกินไป