รักษาฟรีเหมือนเดิม หลังราชกิจจานุเบกษา ประกาศยกเลิกจ่ายค่าตรวจคัดกรอง-การเข้ารักษาโควิด รพ.นอกระบบบัตรทอง แจงรักษาตามสิทธิที่ตนมีอยู่ เหมือนโรคทั่วไป ด้าน“นพ.ยง” ชี้ยอดติดเชื้อจริงหลักหมื่น ขณะที่ “นพ.มนูญ” เสนอเลื่อนประกาศโรคประจำถิ่น
วันนี้ (30 มิ.ย.2565) จากกรณีราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศ “สปสช.” ยกเลิกจ่ายค่าตรวจคัดกรอง-การเข้ารักษาโควิด โรงพยาบาลนอกระบบบัตรทอง เริ่ม 1 ก.ค. นี้ นั้น นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน และยืนยันว่าไม่มีการลอยแพผู้ป่วยโควิด-19 แต่อย่างใด ผู้ป่วยยังคงได้รับการรักษาฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่ายเหมือนเดิม เพียงแต่ปรับแนวทางการจ่ายค่าบริการสาธารณสุขโรคโควิด-19 ให้หน่วยบริการเพื่อรองรับการเป็นโรคประจำถิ่นตามนโยบายรัฐบาล
หลังจากนี้หากประชาชนมีอาการเข้าข่ายว่าจะติดโควิด สามารถขอรับชุดตรวจATK ที่ร้านขายยาใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการผ่านแอปเป๋าตังหรือใช้บัตรประชาชนไปรับ เพื่อตรวจยืนยันได้ทันที หากขึ้น 2 ขีดคือผลเป็นบวกว่าติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มที่มีอาการไม่มากหรือกลุ่มสีเขียวเข้ารักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกที่หน่วยบริการประจำตามสิทธิหรือหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งจะได้รับการดูแลรักษาตามแนวทางเจอแจกจบของกระทรวงสาธารณสุข หรือ โทร.ประสานร้านขายยาตามรายชื่อที่อยู่ในเว็บไซต์สปสช.เพื่อรับยาตามโครงการเจอแจกจบที่ร้านขายยาได้เช่นกัน
กรณีเป็นกลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่ม 608 หรือมีอาการรุนแรง จะถูกพิจารณาให้พบแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษา หากแพทย์ให้การรักษาแบบใดตามดุลพินิจของแพทย์ สิทธิรักษาพยาบาลของแต่ละท่านก็จะดูแลครอบคลุมหมด ในส่วนของผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 30 บาท สปสช.ก็ดูแลค่าใช้จ่ายครอบคลุมทั้งหมดเช่นกันหากแพทย์มีดุลพินิจให้รักษาแบบ Home Isolation หรือเป็นผู้ป่วยในต้องแอทมิทนอนโรงพยาบาล ก็อยู่ในความครอบคลุมของสิทธิประโยชน์เช่นกัน
หากมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินตามเกณฑ์สีเหลือง-แดง ก็ใช้สิทธิ UCEP Plus เข้ารักษาโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ในส่วนของสายด่วน สปสช. 1330 หลังจากวันที่ 1 ก.ค.2565 ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่จำเป็นต้องโทร.แจ้งแล้ว แต่หากมีข้อสงสัยว่าจะต้องทำอย่างไร โทร.มาสอบถามขั้นตอนได้หรือหากมีอาการแย่ลงจะต้องทำอย่างไรต่อ หรือต้องการประสานหาเตียงเข้ารักษาในโรงพยาบาลก็โทรมาได้เช่นกัน
รักษาตามสิทธิที่มี เหมือนโรคทั่วไป
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้รายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทยว่า มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยหนักอย่างลดลงต่อเนื่อง ไม่พบการระบาดเป็นวงกว้างต่อเนื่อง จำนวนเตียง ยา และเวชภัณฑ์ มีเพียงพอต่อการให้บริการได้ตามมาตรฐาน รัฐบาลจึงมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อรองรับการเดินหน้าไปสู่โรคประจำถิ่นอย่างปลอดภัย ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 21 มิ.ย. 2565 ได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมในการดำเนินการรองรับการเดินหน้าไปสู่โรคประจำถิ่น โดย ประชาชนยังคงได้รับการดูแลรักษาพยาบาลตามสิทธิสุขภาพที่ตนมีอยู่ ทั้งนี้ แม้ว่าโรคโควิด-19 จะเข้าสู่โรคประจำถิ่น แต่ถือว่ายังเป็นโรคหนึ่งโรคกระทรวงสาธารณสุขเอง มีแนวคิด “Health for Wealth” ที่มุ่งคืนระบบบริการการแพทย์แก่ประชาชนทุกคนทุกโรค และประชาชนสามารถอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้
ด้าน บุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า สำหรับประกันสังคมมีการดำเนินการเช่นกันในเรื่องนี้ โดยเตรียมยกเลิกการรักษา HI ในวันที่ 4 ก.ค.นี้ แต่ผู้ติดเชื้อโควิดสามารถเข้ารับการรักษาตามแนวทาง “เจอ แจก จบ” ได้เช่นเดิม และสามารถรักษาที่ไหนก็ได้ในโรงพยาบาลของประกันสังคม รวมทั้งของสิทธิ UCEP เช่นกัน โดยจะมีการประกาศแนวทางเพื่อดำเนินการตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค.เป็นต้นไป ส่วนฮอสปิเทลให้บริการถึงวันที่ 30 ก.ค. 2565
“นพ.ยง” เผยยอดติดเชื้อจริงหลายหมื่น
วันเดียวกัน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระบุว่า โควิด 19 สายพันธุ์ BA.5 กำลังจะครองพื้นที่ ทำให้มีการระบาดมากขึ้นทั้งนี้ หลังจากนักเรียนเปิดเทอม โควิด 19 ก็ได้มีการระบาดเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดโดยเฉพาะในช่วง 2 อาทิตย์หลังนี้ มีผู้ป่วยจำนวนมาก ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง โดยเฉพาะในเด็ก
ถ้าดูการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ ที่ศูนย์ฯ ได้ทำการตรวจมาโดยตลอด จะเห็นได้ชัดว่า แต่ละสายพันธุ์จะครองพื้นที่ อยู่ไม่นาน กราฟที่เห็นจะเห็นได้ชัดว่า สายพันธุ์โอมิครอน เปลี่ยนจาก BA.1 มาเป็น BA.2 และ ในเดือนนี้ สายพันธุ์ BA.2 กำลังจะถูกแทนที่ด้วยสายพันธุ์ BA.5 ในอาทิตย์ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ สายพันธุ์ BA.5 กำลังจะยึดพื้นที่ทั้งหมดแทน BA.2
ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ การระบาดจะเพิ่มขึ้นเป็นระลอก ซึ่งสายพันธุ์ BA.5 เป็นสายพันธุ์ที่หลบหลีกภูมิต้านทานของวัคซีนได้สูงขึ้นไปอีก จึงไม่แปลกที่ฉีดวัคซีนแล้ว มีโอกาสติดโรคได้ อย่างไรก็ตามอาการของโรคที่ผ่านมาก็ไม่ได้รุนแรง
ถ้านับจำนวนทั้งหมดของผู้ติดเชื้อ ขณะนี้น่าจะอยู่ที่หลายหมื่นคน มากกว่ายอดที่รับไว้ในโรงพยาบาลที่กระทรวงรายงานหลายสิบเท่า ดังนั้น อัตราการเสียชีวิตขณะนี้น่าจะน้อยกว่า 0.1 % ของผู้ที่ติดเชื้อ และผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ก็ยังเป็น 608 และผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบ 3 เข็ม วัคซีนช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ ทำให้การระบาดขึ้นสูงขณะนี้ จึงสามารถดูแลรักษาที่บ้านได้เป็นจำนวนมาก
การระบาดขณะนี้อยู่ในฤดูกาล และจะระบาดต่อไป จนถึงเดือนสิงหาคม จึงจะค่อยๆลดลง ประชาชนส่วนใหญ่ก็จะติดเชื้อไปเป็นจำนวนมาก จึงอยากให้ทุกคนควรได้รับวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็มขึ้นไป จะเป็น 4 เข็มหรือ 5 เข็ม ก็คงขึ้นอยู่กับระยะเวลาห่างของเข็มสุดท้ายว่าฉีดมาแล้วนานเท่าไหร่
สำหรับผู้ที่ติดเชื้อ ถ้าร่างกายแข็งแรงดี สามารถหายได้เอง ที่เป็นห่วงคือ กลุ่มเปราะบาง และผู้ที่ยังได้วัคซีนไม่ครบ 3 เข็ม ควรจะได้ยาต้านไวรัส อย่างเร็ว ยาต้านไวรัสที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ มีอยู่ 3 ตัวที่ใช้ในการป้องกันลดความรุนแรงของโรค ลดการนอนโรงพยาบาล ลดการเสียชีวิต คือ remdesivir, molnupiravia และ paxlovid จึงเป็นยาที่แนะนำให้ใช้ในกลุ่มเปราะบางตั้งแต่เริ่มวินิจฉัยได้ และให้เร็วที่สุด อย่างน้อยต้องภายใน 5 วันหลังมีอาการ
“นพ.มนูญ” เสนอเลื่อนประกาศโรคประจำถิ่น
ด้าน นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ระบุว่า วันที่ 1 ก.ค.65 ไทยกำลังก้าวเข้าสู่การพ้นการระบาดใหญ่โควิด-19 ไปเป็นโรคประจำถิ่น ตามแผนของกระทรวงสาธารณสุขจริงหรือ? ถ้าจะเลื่อนวันประกาศไปอีกสักพักจนสถานการณ์คลี่คลายกว่านี้ก็น่าจะดี เนื่องจากทุกโรงพยาบาลในกทม. ขณะนี้รับคนไข้โรคโควิดเพิ่มขึ้น โรงพยาบาลวิชัยยุทธต้องกลับมาเปิดหอผู้ป่วยโควิดเพิ่มอีก 1 วอร์ด หลังจากที่เคยปิดไปแล้ว ผู้ป่วยที่รับมาการรักษาส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง เนื่องจากได้รับวัคซีนมาก่อนหน้านี้