กทม. เปิด 9 คลินิก Long COVID พรุ่งนี้ (9 พ.ค. 65)

‘นพ.ธีระ’ คาด ไทยมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงเกิน 5 ล้านคน ส่อพบคนมีภาวะ “Long COVID” หลายแสนจนถึงหลักล้านคน แนะ ผู้เคยป่วยป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ 

วันนี้ (8 พ.ค. 2565) สำนักการแพทย์ กทม. แจ้งเตรียมเปิดคลินิกรักษาผู้ป่วย Long COVID โดยดำเนินการตามแนวทางของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่พ้นระยะเฉียบพลันและยังคงมีอาการผิดปกติในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ครอบคลุมการให้คำปรึกษา การตรวจประเมินการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือตรวจพิเศษ การวินิจฉัย การดูแลรักษาติดตามอาการ และการส่งต่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (กรณีจำเป็น) ในรูปแบบการให้บริการแบบผู้ป่วยนอก (Onsite และ Online Telemedicine) โดยเปิดคลินิก 1 วัน/สัปดาห์ เริ่มเปิดให้บริการในวันที่ 9 พ.ค. 2565 เป็นต้นไป ในวันและเวลาราชการ

สำหรับคุณสมบัติผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในคลินิก Long COVID จะต้องเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายป่วยมากกว่า 1 เดือนขึ้นไป การให้บริการจะเน้นไปทางติดตามอาการที่เกิดหลังจากหายป่วยโควิด-19 โดยผู้ป่วยสามารถรับบริการผ่าน 2 ช่องทาง 

1. ผู้ป่วยมาเข้ารับบริการที่คลินิกปกติ และแพทย์วินิจฉัยอาการที่เข้าได้กับ Long COVID และส่งผู้ป่วยมาที่คลินิกดังกล่าว 

2. ผู้ป่วยที่สงสัยอาการตนเองและเข้ามารับบริการที่คลินิก Long COVID โดยตรงรูปแบบการให้บริการแบบ One stop service จัดให้มีการบริการคัดกรอง พบแพทย์ในจุดเดียว กรณีที่ต้องมีการปรึกษาจิตแพทย์ จะให้มีการทำแบบสอบถามเพื่อประเมินความเสี่ยงทางด้านสุขภาพจิตก่อนเข้าพบแพทย์ 

ทั้งนี้ การรักษาพยาบาลเป็นไปตามสิทธิของผู้ป่วย สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานในคลินิก Long COVID จะแบ่งเป็น 

1. บุคลากรที่ปฏิบัติงานในคลินิก Long COVID ประกอบด้วย แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป พยาบาลวิชาชีพ สหวิชาชีพอื่น ๆ เช่น นักกายภาพบำบัด เป็นต้น 

2. กรณีที่จำเป็นต้องได้รับการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ ประกอบด้วยอายุรแพทย์ระบบทางเดินหายใจ อายุรแพทย์ระบบประสาท จิตแพทย์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายป่วยมากกว่า 1 เดือนขึ้นไป สามารถรับบริการได้ที่โรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ทั้ง 9 แห่ง ตามรายละเอียดดังนี้ 

1. โรงพยาบาลกลาง ณ คลินิกประกันสุขภาพ ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 13.00-16.00 น. 

2. โรงพยาบาลตากสิน ณ ARI Clinic ทุกวันจันทร์ เวลา 13.00-16.00 น. 

3. โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ณ คลินิกอายุรกรรม ทุกวันพุธ เวลา 13.00-16.00 น. 

4. โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธฺโร อุทิศ ณ คลินิกอายุรกรรม ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 13.00-16.00 น. 

5. โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ ณ คลินิกอายุรกรรม ทุกวันพฤหัสบดี เวลา13.00-16.00 น. 

6. โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร ณ คลินิกอายุรกรรม ทุกวันอังคารเวลา 08.00-12.00 น. 

7. โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ณ ARI Clinic ทุกวันพุธ เวลา 13.00-16.00 น. 

8. โรงพยาบาลสิรินธร ณ คลินิกวัณโรค ทุกวันอังคาร เวลา 08.00-12.00 น.

9. โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน ณ คลินิกผู้ป่วยนอก ทุกวันพุธ 13.00-16.00 น. 

โดยสามารถนัดหมายรับบริการผ่าน BFC ของโรงพยาบาลทั้ง 9 แห่ง และขยายช่องทางให้บริการตรวจรักษาผ่านระบบ telemedicine ในแอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” เพื่อรองรับการให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครผ่านการเบิกจ่ายค่ารักษาตามสิทธิ

ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.prbangkok.com หรือโทร0-2221-2141-69

ส่อพบคนมีภาวะ “Long COVID” หลายแสนจนถึงหลักล้านคน

ด้าน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat เกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยว่า ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกทะลุ 516 ล้านคน เสียชีวิตรวม 6.2 ล้านคน ส่วนไทยจากข้อมูล Worldometers เช้านี้พบว่า เมื่อวันที่ 6 พ.ค. จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก ทั้งนี้ จำนวนเสียชีวิตของไทยคิดเป็นร้อยละ 27.8 ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย

รศ.นพ.ธีระ ระบุอีกว่า ส่วนอาการลองโควิดนั้น พบได้บ่อยและเป็นได้แทบทุกระบบในร่างกาย Gennaro FD และทีมได้เผยแพร่ผลการวิจัยทบทวนข้อมูลอย่างเป็นระบบจากงานวิจัยกว่า 196 ชิ้นทั่วโลก รวมกลุ่มตัวอย่าง 120,970 คน เพื่อดูอัตราการเกิดภาวะลองโควิดตามคำจำกัดความขององค์การอนามัยโลก พบว่าทั่วโลกผู้ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 มาก่อนจะมีอัตราการเกิดภาวะลองโควิดสูงถึงร้อยละ 56.9 โดยเกิดได้ทั่วร่างกายหลากหลายระบบ เพศหญิงมักมีอาการผิดปกติทั่วไป และอาการด้านระบบหัวใจและหลอดเลือด และระบบประสาท ในขณะที่ยิ่งมีอายุมากขึ้นจะมีอัตราการเกิดอาการผิดปกติทั่วไป อาการทางด้านจิตเวชระบบทางเดินอาหาร ระบบหายใจ และผิวหนังมากขึ้น อาการลองโควิดพบได้ทุกเพศ ทุกวัย และเป็นได้ไม่ว่าจะเคยติดเชื้อแบบไม่มีอาการ มีอาการน้อย หรือมีอาการรุนแรง 

โดยสหราชอาณาจักรได้ออกรายงานเมื่อวันที่ 6 พ.ค. ระบุว่า ข้อมูลที่ประเมินถึงวันที่ 3 เม.ย. พบว่ามีประชากรอย่างน้อย 1.8 ล้านคน กำลังประสบปัญหาลองโควิด ผู้ป่วยลองโควิดจำนวน 791,000 คน หรือร้อยละ 44 มีอาการต่อเนื่องมาแล้วมากกว่า 1 ปี และอีก 235,000 คน หรือร้อยละ 13 มีอาการต่อเนื่องมากกว่า 2 ปีอาการที่พบคือ อ่อนเพลีย/เหนื่อยล้า มากกว่าร้อยละ 51 เหนื่อยหอบ ร้อยละ 33 สูญเสียการดมกลิ่น ร้อยละ 26 มีปัญหาเรื่องสมาธิ ร้อยละ 23

รศ.นพ.ธีระ ระบุว่า สำหรับไทยมีคนติดเชื้อ ทั้งการตรวจด้วย RT-PCR และ ATK ทั้งในและนอกระบบสูงเกิน 5-6 ล้านคนแล้ว ดังนั้น โอกาสที่จะมีประชาชนที่ประสบปัญหาลองโควิดจำนวนมากหลายแสนคนจนถึงหลักล้าน สิ่งที่ควรทำคือผู้ที่เคยติดเชื้อไปแล้ว ควรป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง และคอยประเมินอาการผิดปกติต่าง ๆ หากสงสัยควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ส่วนคนที่ยังไม่เคยติดเชื้อควรต้องระมัดระวังการใช้ชีวิตประจำวัน เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงกิจกรรมเสี่ยง สถานที่เสี่ยง ใส่หน้ากากเสมอ โควิดไม่จบแค่หายหรือตาย แต่ที่ทรมานคือเรื่องลองโควิดที่จะบั่นทอนคุณภาพชีวิต และเป็นภาระค่าใช้จ่ายทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และประเทศ

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS