แพทย์ระบาดวิทยา ชี้ สายพันธุ์โอมิครอนทำอัตราเด็กเล็กป่วยหนักสูงขึ้น เตือนผู้ปกครองระวังช่วงสงกรานต์ ถามสังคมพร้อมไหมถ้าไม่ตรวจ เท่ากับไม่ติด ขณะที่เข้าสู่ระยะ 2 ของแผนเปลี่ยนผ่านสู่โรคประจำถิ่นแต่ยังติดเชื้อสูง
วันนี้ (4 เม.ย. 2565 ) นอกจากการแถลงชี้แจงกรณีพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลูกผสมXE ที่สะท้อนให้เห็นว่าเชื้อยังกลายพันธุ์อยู่ต่อเนื่อง ยังมีอีกหลายปัจจัยที่เป็นจุดท้าทายการนับถอยหลังสู่โรคประจำถิ่นในวันที่ 1 กรกฎาคม ทั้งกรอบตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละไม่ต่ำกว่า 20,000 คน แต่วันนี้อยู่ที่ 24,892คน ถ้ารวมกับผู้ที่เข้าข่ายติดเชื้อจากผล ATK ด้วยก็จะไม่ต่ำกว่า 40,000-50,000 คนต่อวันและยังมีอัตราเสียชีวิตทำลายสถิติใหม่ 97 คน ขณะที่เทศกาลสงกรานต์ที่จะมาถึงในอีกไม่กี่วัน ก็กำลังเป็นจุดท้าทายสำคัญ
ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ประธานหลักสูตรระบาดวิทยา ม.อ.หาดใหญ่ และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยกับ The Active ว่าการสูญเสียในผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากท่ามกลางสถานการณ์ระบาดในขณะนี้ ขณะที่กลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปีซึ่งยังไม่ฉีดวัคซีนเริ่มมีอัตราป่วยเพิ่มขึ้น จึงเป็นอีกกลุ่มเสี่ยงที่น่ากังวลในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่อาจมีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น จึงควรเตือนให้ผู้ปกครองเฝ้าระวัง
“เรื่องเด็กเป็นเรื่องใหม่ เพราะได้ไปเห็นข้อมูลว่ามีเด็กที่ป่วยหนักเยอะช่วงโอมิครอน เลยอยากให้กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่าจริงหรือไม่ ให้ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ หรือกรมการแพทย์เตรียมพร้อม เฝ้าระวังเพราะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีกลุ่มนี้ไม่ได้ฉีดวัดซีน ไม่ควรเอามาเล่นสงกรานต์ด้วย หรืออย่าเอาเข้าไปใกล้จะช่วยให้ติดได้น้อยลง”
ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์
ด้าน นพ.จักรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคเปิดเผยว่าในวันนี้ผู้เสียชีวิต 97 คน เป็นเด็ก 2 คน คนแรกอายุ 4 เดือน อีกคนอายุประมาณ10 ขวบ เมื่อตรวจสอบการติดเชื้อในกลุ่มเด็ก 0-14 ปี แยกเป็นระลอกเดลตา เดือน เม.ย.64 กับระลอกโอมิครอน เดือน ม.ค.65 ทำให้เริ่มพบเด็กป่วยอาการหนักและเสียชีวิตมากขึ้น
- อายุ 0-4 ปี ระลอกเดือน เม.ย. 64 อาการรุนแรง 1,438 คน ตาย 23 คน ระลอกเดือน ม.ค.65 อาการรุนแรง 515 คน ตาย 27 คน
- อายุ 5-9 ขวบ ระลอกเดือน เม.ย.64 อาการรุนแรง 173 คน ตาย 9 คน ระลอกเดือน ม.ค.65 อาการรุนแรง 101 คน ตาย 2 คน
- อายุ 10-14 ปี ระลอกเดือน เม.ย.64 อาการรุนแรง 179 คน ตาย 13 คน ระลอกเดือน ม.ค.65 อาการรุนแรง 125 คน ตาย 3 คน
นอกจากนี้ ยังพบว่าเด็กเล็กที่มีโรคประจำตัวเสี่ยงกว่าไม่มีโรคประจำตัว ผู้ปกครองต้องสังเกตอาการใกล้ชิด ทั้งนี้จากจำนวนเด็กอายุ 0-18 ปี ที่เสียชีวิต104 คน พบว่าไม่ได้ฉีดวัคซีน 99 คน โดย 5 คน ฉีดวัคซีนแล้ว ทั้งหมดอายุ 12-18 ปี เป็นวัคซีน 1 เข็ม 2 คน และวัคซีน 2 เข็ม จำนวน 3 คน
ในภาพรวมขณะนี้ กลุ่มเด็กเล็ก 0-6 เดือน หากติดเชื้อเสี่ยงเสียชีวิตมากกว่า โดยพบป่วยอาการรุนแรง 45 คน ตาย 9 คน ในกลุ่มเด็กเล็ก อายุน้อยกว่า 5 ขวบ จากข้อมูลการเสียชีวิต 60% ติดเชื้อในครอบครัว ญาติ อีก 40% ไม่สามารถระบุแหล่งโรคได้
ทั้งนี้แผนการเปลี่ยนผ่านจากโควิด-19 ไป สู่โรคประจำถิ่นของกระทรวงสาธารณสุขกำลังเข้าสู่ระยะที่ 2 คือพยายามจะคงตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ให้สูงไปกว่านี้ และต้องจับตาดูว่า ในอีก 1 เดือนเราจะสามารถลดผู้ติดเชื้อได้ต่ำกว่าวันละหมื่นคนหรือไม่ ขณะที่อัตราการป่วยและเสียชีวิตเวลานี้ยังอยู่ที่ 0.2% ซึ่งยังห่างไกลจากเงื่อนไขการเป็นโรคประจำถิ่นที่จะต้องมีอัตราการเสียชีวิตไม่เกิน 0.1% ซึ่งหากอัตราการเสียชีวิตยังคงที่ ที่ 0.2% นั่นหมายความว่าเราอาจต้องมีผู้เสียชีวิตไปอีกกว่า 5,000 คน กว่าโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น
“ไม่ตรวจ” เท่ากับ “ไม่ติด” สังคมรับได้ไหม ?
ศ.นพ.วีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า หน่วยบริการที่เคยช่วยเหลือและเป็นกำลังหลักเวลานี้ก็เริ่มถูกโควิด-19 โจมตีอย่างหนัก ทั้งแพทย์ พยาบาล อสม. ทยอยติดเชื้อกันทั่วประเทศ ขณะที่โรงพยาบาลบางแห่งประกาศขอลดการบริการในภาพรวมเพื่อให้ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการหนัก และผู้ป่วยโรคอื่นที่จำเป็น ยังคงเข้าถึงบริการได้ และด้วยเหตุที่มีผู้ติดเชื้อมากแต่อาการทั่วไปไม่รุนแรง ระบบการเงินและบริการสนับสนุนการกักตัวที่บ้านมีแนวโน้มที่จะถูกยกเลิก เหลือเพียงระบบผู้ป่วยนอก หรือ เจอ แจก จบ
เมื่อโควิด-19 เข้าสู่ปีที่ 3 ของการระบาด ศ.นพ.วีระศักดิ์ เสนอว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่การไม่ตรวจ เท่ากับไม่ติด จะถูกนำมาใช้จริง ในสถานการณ์ปัจจุบัน
“ผมคิดว่าถ้าคุณไม่เป็นไร คุณไม่ต้องไปตรวจ คิดว่ารัฐบาลคงจะบอกเร็ว ๆ นี้แต่ถ้าคุณมีอาการก็ไปตรวจ บางทีไปหาหมอที่โรงพยาบาล คลีนิคโรคทางเดินหายใจตอนนี้ เขาอาจจะตรวจหรือไม่ตรวจก็ได้ ถ้าอาการไม่มาก ก็เหมือนหวัดที่เราไม่ได้ตรวจ แล้วถามว่าถ้าไม่ตรวจแล้วจะกลายเป็นคนแพร่เชื้อต่อไหม เราคงไม่ต้องกลัว เพราะมันแพร่ไปแล้ว ตอนนี้คนเดินแพร่เชื้อกันไปในชุมชน”
ประธานหลักสูตรระบาดวิทยา ม.อ.หาดใหญ่
ก่อนหน้านี้ช่วงต้นของการระบาด เราคาดหวังกับการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ผ่านการฉีดวัคซีน แต่ปัจจุบันแม้ฉีดวัคซีนแล้วหลายเข็ม ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อได้ บางคนติดเชื้อแล้วก็ติดเชื้อซ้ำได้ จนมีข้อสังเกตว่าภูมิคุ้มกันหมู่มีจริงหรือไม่ ในขณะที่โควิด-19 ยังคงกลายพันธุ์ต่อไป และแพร่ได้เร็วกว่าเดิม แต่แพทย์เห็นว่า หากอาการไม่รุนแรง ก็ไม่ใช่เรื่องน่ากังวล