สืบจากศพ ! ส่งมอบ “ห้องชันสูตรความดันลบ” แห่งแรก ให้ รพ.นครปฐม

ศึกษาการเสียชีวิตจากโควิด-19 ต่อยอดการรักษา โรคอุบัติใหม่ ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยกับบุคลากรทางการแพทย์

วันนี้ (28 มี.ค.65) โรงพยาบาลนครปฐม รับมอบห้องชันสูตรความดันลบ (Modular Autopsy) แห่งแรกในประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนจากมูลนิธิเอสซีจี หอการค้าจังหวัดนครปฐม และมูลนิธิไทยพีบีเอส เพื่อปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ให้ปลอดภัยจากโควิด-19 ขณะวินิจฉัยร่างผู้เสียชีวิตและเตรียมพร้อมรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคต

หมอ

พญ.ดารารัตน์ รัตนรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครปฐม กล่าวว่า โรงพยาบาลนครปฐม เป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่มีประชากรในเขตพื้นที่รับผิดชอบประมาณ 7 แสนคน โดยแต่ละวันมีผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงเข้ามารับการตรวจกว่า 700-1,000 คน และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลขณะนี้ 96 คน โดยมีสถิติผู้เสียชีวิตที่ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 408 คน

นอกจากนี้โรงพยาบาลนครปฐม ต้องทำหน้าที่ชันสูตรศพผู้เสียชีวิตทางคดี ให้กับโรงพยาบาลในเขตสุขภาพที่ 5 ที่ไม่มีการผ่าชันสูตรศพ เช่น จ.กาญจนบุรี จ.สุพรรณบุรี และ จ.สมุทรสงคราม เฉลี่ย 600-732 คนต่อปี ซึ่งบางคนอาจมีเชื้อ โควิด-19 ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถทำการผ่าชันสูตรศพได้ ด้วยก่อนหน้านี้โรงพยาบาลไม่มีห้องชันสูตรที่ได้มาตรฐานและความปลอดภัยต่อบุคลากรทางการแพทย์

“ห้องชันสูตรศพความดันลบ (Modular Autopsy) นอกจากช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการติดเชื้อให้กับบุคลากรทางการแพทย์แล้วยังเพิ่มศักยภาพในการขยายการบริการลดภาระงานของโรงเรียนแพทย์และต่อยอดการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคโควิด-19 และโรคอุบัติใหม่ในอนาคต”

พญ.ดารารัตน์ รัตนรักษ์

ห้องชันสูตรความดันลบ มีขนาด 80.38 ตร.ม. สามารถควบคุมแรงดันอากาศได้เหมาะสมและปลอดภัยทั้งระบบความดันบวก เพื่อกำจัดเชื้อโรคและฝุ่น และระบบความดันลบเพื่อกำจัดการแพร่กระจายและลดเชื้อไวรัสออกสู่ภายนอกอาคารช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ปฎิบัติหน้าที่อย่างมั่นใจและปลอดภัย แบ่งพื้นที่การใช้งานออกเป็น 4 ส่วน

1.Autopsy Zone สำหรับบุคลากรปฏิบัติงานผ่าสูตรพลิกศพ โดยระบบการจัดการอากาศในโซนนี้ใช้ระบบห้องความดันลบ ออกแบบห้องให้ทำความสะอาดง่าย และแอนตี้โซนเพื่อกักอากาศลดการแพร่เชื้อออกสู่ภายนอก

2.Preparation Zone และ Ante Room สำหรับบุคลากรเพื่อเตรียมตัวเข้าปฎิบัติงานโดยแบ่งเป็น locker room สำหรับเก็บสัมภาระ เปลี่ยนชุด PPE โดยระบบการจัดการอากาศในโซนนี้ใช้ระบบห้องความดันบวก

3.Exit Zone และ Ante Room สำหรับบุคลากรหลังออกจากเสร็จสิ้นการปฎิบัติงานและถอดชุด PPE โดยระบบการจัดการอากาศในโซนนี้ใช้ระบบห้องความดันลบ

4.Bathroom สำหรับบุคลากรใช้ชำระล้างร่างกายก่อนและหลังปฏิบัติหน้าที่

ด้านมาตรฐานความปลอดภัย มีระบบบำบัดอากาศ และระบบบ่อบำบัดน้ำเสียที่เติมสารเคมีฆ่าเชื้อ และมอนิเตอร์ค่าชี้วัดของเชื้อต่างๆ รวมถึงโควิด-19 ภายใต้มาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษและกรมควบคุมโรค เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนใกล้เคียง

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน