กลับมาแล้ว! ผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้น 4-5% ช่วงฤดูหนาว

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชี้ไปตามคาดจะระบาดช่วงฤดูหนาว จากเปิดเทอม และกิจกรรมรวมกลุ่มจนถึงปีใหม่ ห่วงประชาชนฉีดวัคซีนลดลง ด้าน เลขาธิการ สปสช. เผยรายชื่อยารักษาโควิด 7 ตัว ขึ้นบัญชียาหลัก เบิกฟรี  

วันนี้ (10 พ.ย. 2565) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยเป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุขคาดการณว่าช่วงปลายปี ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาวจะมีการติดเชื้อและป่วยด้วยโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการเปิดเทอม รวมถึงมีกิจกรรมต่างๆ เช่น ฮาโลวีน ลอยกระทง ต่อเนื่องไปจนถึงช่วงปีใหม่ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา วันที่ 30 ตุลาคม – 5 พฤศจิกายน 2565 มีผู้ป่วยโควิด 19 รวม 2,759 ราย เฉลี่ย 394 รายต่อวัน เพิ่มขึ้นกว่า 2-3 สัปดาห์ก่อนประมาณ 4-5% ส่วนผู้ป่วยปอดอักเสบมี 333 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 169 ราย และผู้เสียชีวิต 40 รายเฉลี่ย 5 รายต่อวัน ยังไม่เพิ่มขึ้นจากเดิมมาก

“การติดเชื้อและการป่วยที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากที่คนไทยเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ลดลง ทำให้ภูมิต้านทานเริ่มน้อยลงด้วย เมื่อประกอบกับการมีกิจกรรมต่าง ๆ ช่วงปลายปีมากขึ้น จึงทำให้การติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้ จึงต้องเร่งรัดให้มีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น รวมทั้งการฉีดวัคซีนในเด็กเล็กอายุ 6 เดือน – 4 ปีให้มากขึ้น”

นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่าวัคซีนโควิด-19 มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย โดยประเทศไทยได้ฉีดไปแล้วกว่า 143 ล้านโดส พบว่าช่วยป้องกันการเสียชีวิตของประชาชนได้อย่างน้อย 5 แสนคน และป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงมากกว่า 1 ล้านคน ดังนั้น เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันในช่วงฤดูหนาวที่จะมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น จึงขอให้ประชาชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นมารับวัคซีน โดยเฉพาะเด็กอายุ 6 เดือน – 4 ปีที่ยังไม่เคยรับวัคซีนมาก่อน จะมีโอกาสป่วยอาการรุนแรงและเสียชีวิตสูงกว่าเด็กโต ขอให้พ่อแม่ผู้ปกครองพามารับวัคซีนที่โรงพยาบาลใกล้บ้านโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

“บัญชียาหลักโควิด-19” ส่งผลผู้ป่วยบัตรทองเข้าถึงยา

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เปิดเผยว่า จากที่บอร์ด สปสช. มีมติเห็นชอบให้ยา วัคซีน เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ และชุดตรวจทางห้องปฏิบัติการสำหรับการตรวจคัดกรอง ตรวจยืนยัน การดูแลรักษาที่เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ที่ถูกกำหนดโดยกรมการแพทย์ สธ. หรือหน่วยงานที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) มอบหมายให้กำหนดมาตรฐาน ทุกรายการเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามเกณฑ์การพิจารณา Green channel เนื่องจากเป็นโรคระบาดในภาวะเร่งด่วน

รมว.สธ.เป็นประธาน บอร์ด สปสช. ประชุมออนไลน์

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2565 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ประสานคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อพิจารณาเพิ่มข้อบ่งใช้ยา Intravenous Immunoglobulin (IVIG) สำหรับกลุ่มอาการอักเสบของอวัยวะหลายระบบในเด็กซึ่งเกิดหลังการติดเชื้อโควิด (Multisystem Inflammatory Syndrome in Children :MIS-C) ภาวะลิ่มเลือดอุดตันและเกล็ดเลือดต่ำหลังฉีดวัคซีนโควิด19 (Vaccine-induced immune thrombotic thrombocytopenia : VITT) กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) และเยื่อหุ้มหัวใยอักเสบ (pericarditis) ให้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2565 สธ. ประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง

โดยเมื่อวันที่ 23 ก.ย. และ 19 ต.ค. 2565 คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ได้พิจารณารายการยาสำหรับรักษาโควิด-19 และมีมติคณะอนุกรรมการฯ ครั้งที่ 9-10/2565 เห็นชอบให้มี “บัญชียาหลักแห่งชาติสำหรับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” เพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณสุขและความจําเป็นเร่งด่วนของประเทศ และให้ติดตามประสิทธิผล ผลข้างเคียงของยา โดยนำกลับมาทบทวนอย่างน้อยทุก 6 เดือน หรือเมื่อมีหลักฐานใหม่

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลีกแห่งชาติ ยังเห็นชอบให้ยารักษาโควิด-19 รวม 7 รายการ บรรจุเป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติสำหรับโรคโควิด-19 ได้แก่ 

  • ยาเนอร์มาเทรลเวียร์+ไรโทนาเวียร์ (nirmatrelvir+ritonavir) 
  • ยาเรมเดซิเวียร์ (remdesivir)
  • ยาโมนูพิราเวียร์ (molnupiravir)
  • ยาฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir)
  • ยาเดกซาเมทาโซน (dexamethasone)
  • ยาโทซิลิซูแมบ (tocilizumab) 
  • ยาบาริซิทินิบ (baricitinib) 

โดยชดเชยเป็นค่ายา รวมไปถึงเห็นชอบให้เพิ่มเงื่อนไขการใช้ยา IVIG ที่ชดเชยเป็นยา ได้แก่ การรักษาภาวะ MIS-C, การรักษาภาวะ VITT และกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบหลังได้รับวัคซีนโควิด-19

“เดิมทีก่อนที่ สธ.จะประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคเผ้าระวัง การเบิกจ่ายค่ายาดูแลผู้ป่วยโควิด-19 จะดำเนินการตามหลักเกณฑ์ Green Channel ด้วยเป็นโรคระบาดภาวะเร่งด่วน แต่เมื่อมีการปรับเป็นโรคเฝ้าระวังแล้ว และ บอร์ด สปสช. มีมติให้การรักษาโรคโควิด-19 เป็นสิทธิประโยชน์กองทุนบัตรทอง ดังนั้นในการเบิกจ่ายยารักษาจะต้องเป็นไปตามรายการยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งการบรรจุรายการยาของคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ จะช่วยให้ผู้ป่วยโควิด-19 ที่เป็นสิทธิบัตรทอง สามารถเบิกจ่ายค่ายารักษาได้”

เลขาธิการสปสช. กล่าวเลขาธิการสปสช. กล่าว

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active