นับถอยหลัง 1 ต.ค. นี้ ปรับ “โควิด” จากโรคติดต่อร้ายแรง สู่โรคเฝ้าระวัง

“อนุทิน” เผยไฟเซอร์ ทยอยส่งมอบวัคซีนเด็กช่วง ต.ค. จนครบ 3 ล้านโดส ย้ำกลุ่มเสี่ยงยังต้องฉีดเข็มกระตุ้น ด้าน “สาธิต” ร่วมประชุมอนามัยโลกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หนุน สุขภาพปฐมภูมิ-เตรียมรับโรคระบาดอนาคต

วันนี้ (10 ก.ย. 2565)  อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า วันที่ 1 ตุลาคมนี้ จะมีผู้บริหารเข้ารับตำแหน่งใหม่ทั้งปลัด รองปลัด และอธิบดี ซึ่งเป็นช่วงที่มีการปรับโรคโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ยืนยันว่าการดำเนินงานต่าง ๆ จะไม่มีรอยต่อและไม่มีผลกระทบต่อการบริการประชาชน ระบบการดูแลต่าง ๆ มีความพร้อม 

อย่างไรก็ตาม ขอย้ำให้กลุ่มเสี่ยง 608 ยังต้องมารับวัคซีนเข็มกระตุ้น เนื่องจากขณะนี้ผู้เสียชีวิตจากโควิดยังเป็นกลุ่มนี้เกือบ 100% รวมทั้งยังแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องไปในพื้นที่เสี่ยงหรือร่วมกิจกรรมที่มีความเสี่ยง

อนุทินกล่าวต่อว่า สำหรับการลงนามกับไฟเซอร์ เพื่อจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็กอายุ 6 เดือน – ต่ำกว่า 5 ปี ในส่วนของสัญญามีการเจรจา และผ่านมติ ครม.รวมถึงความเห็นชอบของไฟเซอร์แล้ว คาดว่าจะมีการลงนามระหว่างกรมควบคุมโรคและไฟเซอร์ในช่วงบ่ายวันที่ 7 ก.ย. ที่ผ่านมา และจะเริ่มทยอยส่งมอบในช่วงเดือนตุลาคมนี้ไปจนครบ 3 ล้านโดส 

ส่วนแนวทางบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ในปี 2566 ต้องรอการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ว่าจำเป็นต้องฉีดกระตุ้นหรือไม่ ต้องเน้นกลุ่มเสี่ยงใด จำนวนเท่าใด ซึ่งรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุน

ส่วนเรื่องยาต้านไวรัสนั้น กระทรวงสาธารณสุขมีการติดตามการใช้งานและสำรองไว้อย่างเหมาะสม ซึ่งผู้ป่วยทุกรายไม่จำเป็นต้องรับยาต้านไวรัส ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ และหากแพทย์เห็นว่าไม่จำเป็นต้องรับยาก็ไม่ควรไปซื้อมารับประทานเอง โดยการซื้อยาต้านไวรัสในร้านขายยาต้องใช้ใบสั่งแพทย์เนื่องจากยังเป็นยาที่อนุญาตให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน

ขณะที่ สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 75 (75th WHO Regional Committee for South-East Asia) ที่ เมืองพาโร ราชอาณาจักรภูฏาน ระหว่างวันที่ 5-9 ก.ย. ที่ผ่านมา เปิดเผยว่าได้สนับสนุนข้อแนะนำทั้ง 2 ข้อในรายงาน คือ 1. การปรับระบบสุขภาพให้มุ่งเน้นการบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ ซึ่งเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง เป็นรากฐานสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งงานสุขภาพปฐมภูมิจะช่วยสนับสนุนการตรวจจับ ป้องกัน และตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขทั้งระดับเล็กและระดับใหญ่ 

และ  2. การป้องกันและการเตรียมความพร้อมสำหรับโรคระบาดและสาธารณสุขฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งโควิด-19 ทำให้ทั่วโลกเรียกร้องให้มีสนธิสัญญาโรคระบาด ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำ ซึ่งขอบคุณที่สนับสนุนประเทศไทยให้เป็นตัวแทนภูมิภาคเข้าไปร่วมร่างสนธิสัญญา โดยหวังว่าจะได้รับการเห็นชอบในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกในปี 2567 

“โรคโควิด-19 ทำให้เกิดวิกฤตซ้ำซ้อน 2 เรื่อง คือ วิกฤตสุขภาพ และวิกฤตเศรษฐกิจ หากต้องการยุติโรคระบาดต้องร่วมมือกันฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ครอบคลุม 70% ของประชากรภายในปี 2565 ซึ่ง 4 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บรรลุเป้าหมายแล้ว”

อย่างไรก็ตาม แม้จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ไทยยังให้ความสำคัญต่องบประมาณด้านสุขภาพ สร้างความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพ เสริมสร้างศักยภาพการเตรียมความพร้อมงานด้านสาธารณสุขและบริการระดับปฐมภูมิโดยเฉพาะเขตเมือง โดยเชื่อว่าผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะสนับสนุนประเทศสมาชิกในภูมิภาค ขับเคลื่อนเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพในการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การอนามัยโลกครั้งที่ 152 การประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 76 และการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติในปี 2566

สำหรับการประชุมคณะกรรมการองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สมัยที่ 75 มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยประเทศสมาชิกทุกประเทศยกเว้นเมียนมา และหน่วยงานที่เป็น Non Government Agencies ถือเป็นการประชุมครั้งแรกที่เจอกันแบบต่อหน้า หลังจากการประชุมเมื่อครั้งที่ 72

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active