รพ.ย่านปริมณฑล ร้อง ฟาวิฯ ขาดแคลน กั๊กผู้ป่วย 608 เข้าไม่ถึงยา

ย้ำต้องบริหารความเสี่ยง ยา ‘ฟาวิพิราเวียร์’ มีสำรองไม่พอ จ่ายยาเท่าที่จำเป็น สวนทางเกณฑ์กรมการแพทย์ ‘หมอชนบท’ ติง รัฐเลิกผูกขาด ผลิต นำเข้า กระจายทางเลือกซื้อผ่านเอกชน ราคาถูก ประชาชนเข้าถึงง่าย     

วันที่​ (7​ ส.ค.​65)​ The Active ได้รับข้อมูลจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดปริมณฑล สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุถึงสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ทำให้มีผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก​ ทำให้กำลังประสบปัญหายาต้านไวรัส​ฟาวิพิราเวียร์​ และโมลนูพิราเวียร์ ขาดแคลน แม้ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข จะยืนยันว่ามียาเพียงพอก็ตาม

ผู้บริหารโรงพยาบาลแห่งนี้ เปิดเผยว่า โดยปกติแล้วโรงพยาบาลจะต้องมียาต้านไวรัสรักษาโควิด​ สำรองไว้ 10,000 เม็ด ซึ่งจะเพียงพอสำหรับผู้ติดเชื้อ 200 คน​ แต่ในช่วงวันหยุดยาวปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา​โรงพยาบาลมียาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ สำรองไว้เพียง 3,000 เม็ด​ จึงไม่สามารถจ่ายยาให้กับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง 608 ได้ทุกคน​ แพทย์ต้องพิจารณาจากผู้ป่วยที่อาการหนัก เข้ามาแอดมิดในโรงพยาบาลเพื่อประเมินอาการว่าต้องใช้ยาต้านไวรัสหรือไม่​  ทั้ง ๆ ที่แนวทางการรักษาของกรมการแพทย์​ ระบุให้กลุ่ม 608 ต้องได้รับยาต้านไวรัสทันที

“ถ้านำยาที่เหลืออยู่เพียง 3,000 เม็ด มาจ่ายให้กับกลุ่ม 608 ทุกคน​ หากเจอกลุ่มที่อาการหนักจริง ๆ ก็จะไม่สามารถรักษาชีวิตได้ ปัจจุบันมีกลุ่ม 608​ ติดเชื้อมารักษาที่โรงพยาบาลวันละ 10 คน ไม่สามารถจ่ายยาให้กับกลุ่มเสี่ยงทุกคน​ แม้ขณะนี้จะได้รับยาเพิ่มมาในสต๊อกเป็น 5,000 เม็ดแล้ว แต่ก็ยังต้องบริหารความเสี่ยงใช้เท่าที่จำเป็นยังถือว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ยาขาดแคลน”

ผู้บริหารโรงพยาบาล ระบุอีกว่า ความไม่ชัดเจนในตอนนี้คือกระทรวงสาธารณสุข ไม่สามารถบอกได้ว่าจะส่งยาให้จำนวนเท่าไหร่ และเมื่อไหร่​ ทำให้ยังคงต้องบริหารจัดการความเสี่ยงกับยาที่มีอยู่อย่างจำกัดต่อไป ในขณะที่โรงพยาบาลก็ไม่สามารถจัดซื้อยาเหล่านี้เองได้ ต้องรอยาที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรมเท่านั้น

The Active พยายามติดต่อไปยัง นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข​ (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสนับสนุนงานบริการสุขภาพ) ยังไม่สามารถติดต่อได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ (4 ส.ค.65) นพ.ธงชัย เคยให้สัมภาษณ์ ยืนยันว่า ยาไม่ได้ขาดแคลน กระทรวงสาธารณสุขได้จัดหา ​และกระจายยารักษาโควิด ไปทั่วประเทศอย่างเพียงพอ โดยยาฟาวิพิราเวียร์ 6.8 ล้านเม็ด โมลนูพิราเวียร์ 6.6 ล้านเม็ด และอยู่ระหว่างจัดซื้อเพิ่มอีก 30 ล้านเม็ด เพื่อให้สามารถมียาใช้มากกว่า 30 วัน ปัจจุบันอัตราการใช้ยาเพียงพอต่อการใช้มากกว่า 14 วัน และมีการติดตามการใช้ยาด้วยระบบ VMI เมื่อมีการใช้ยาไป ก็จะส่งไปทดแทนได้ต่อเนื่อง เพื่อให้ในพื้นที่มียาคงคลัง สำหรับการใช้ในระยะเวลามากกว่า 14 วัน

รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ย้ำว่า ผู้ติดเชื้อไม่จำเป็นต้องกินยาต้านไวรัสทุกคน แม้จะเป็นกลุ่ม 608 ก็ตาม โดยแพทย์จะพิจารณาสั่งจ่ายยาตามอาการและข้อบ่งชี้ ​

“แม้จะมีโรคเรื้อรัง แต่การจ่ายยาอยู่ที่ดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งจะพิจารณาจากความเสี่ยงในกลุ่มที่มีอาการมากหรือควบคุมอาการไม่ได้ รวมทั้งยาต้านไวรัสรักษาโควิด เป็นยาที่ขึ้นทะเบียนฉุกเฉิน ขณะนี้ อนุญาตให้ใช้ในโรงพยาบาลและคลินิกเวชกรรม ซึ่งต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น ประชาชนไม่ควรหาซื้อยามากินเอง จะเป็นอันตรายได้”

ขณะที่แหล่งข่าวจากชมรมแพทย์ชนบท ย้ำว่า ยาขาดแคลนจริง แต่อาจใช่ทุกพื้นที่เพราะสถานการณ์แกว่งไปมาขึ้นอยู่กับพื้นที่การระบาดมากหรือน้อย ตอนนี้ไม่สามารถประเมินแนวโน้มผู้ติดเชื้อได้ เพราะการรวบรวมข้อมูลผู้ติดเชื้อไม่เป็นระบบเหมือนก่อน แต่ถึงยังไงการมียาไว้สำรองอย่างเพียงจะเป็นทาออกที่ดีที่สุด ซึ่งการแก้ปัญหาอาจต้องใช้เวลา แต่วิธีแก้เดียวที่จะทำได้ คือ รัฐต้องยุติการผูกขาดยาโดยองค์การเภสัชกรรม ให้ต้องนำเข้าเพียงเจ้าเดียว รัฐควรเปิดกว้างให้เอกชนเจ้าอื่นนำเข้ายามาได้ เพื่อให้ยาราคาถูก และเป็นทางเลือกให้กับสถานพยาบาล และประชาชนมากขึ้น  


Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS