‘ประกันสังคม’ สั่ง รพ. ร่วม ‘เจอ แจก จบ’ หลังปล่อยผู้ประกันตนติดโควิดเคว้ง!

ไฟเขียว โรงพยาบาลรัฐ – เอกชน คู่สัญญา รับผู้ป่วยโควิดแบบผู้ป่วยนอก ตามแนวทาง ‘เจอ แจก จบ’ อิงเกณฑ์รักษาตาม สปสช. เบิกย้อนหลังได้ตั้งแต่ 1 มี.ค.65

จากกรณีเพจ ชมรมแพทย์ชนบท ตั้งคำถามถึงการดำเนินตามนโยบายของรัฐบาล ว่าด้วยการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แบบผู้ป่วยนอก หรือ OPD ‘เจอ แจก จบ’ โดยระบุว่า สำนักงานประกันสังคม ยังไม่ตอบสนองนโยบายดังกล่าว เพราะผู้ป่วยที่ใช้สิทธิประกันสังคมยังไม่สามารถใช้บริการได้ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าการที่แต่ละสิทธิประกันสุขภาพ มีหลักเกณฑ์ไม่เหมือนกัน ส่งผลให้ผู้ปฏิบัติหน้างานสับสน และสร้างความยุ่งยากต่อประชาชนเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้ติดเชื้อที่ใช้สิทธิประกันสังคม ต้องไปรักษาในระบบ CI และ HI เท่านั้น โรงพยาบาลคู่สัญญาจึงจะเบิกค่าใช้จ่ายได้ แต่ในพื้นที่ซึ่งมีผู้ป่วยจำนวนมาก ระบบเหล่านั้นไม่สามารถรองรับได้ไหว ทำให้ผู้ป่วยประกันสังคม ต้องกลับไปดูแลตนเองที่บ้าน เพราะระบบใหญ่ยังไม่ปรับให้เอื้อกับการดูแลในปัจจุบัน

ล่าสุดวันนี้ (12 มี.ค.65) ได้มีการเผยแพร่ประกาศ สำนักงานประกันสังคม ด่วนที่สุด ลงวันที่ 11 มี.ค.65 เรื่อง แจ้งหลักเกณฑ์และอัตราค่าบริการทางการแพทย์กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19  โดยส่งถึง ผู้อำนวยการสถานพยาบาลประกันสังคมทุกแห่ง ลงนามโดย บุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม  เพื่อแจ้งแนวทาง หลักเกณฑ์ รวมถึงอัตราการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ตามแนวทาง ‘เจอ แจก จบ’ 

“สำนักงานประกันสังคม พิจารณาแล้วเพื่อให้การบริการรักษา และการจ่ายเงินบริการทางการแพทย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงขอให้สถานพยาบาลให้บริการตามแนวทาง “เจอ แจก จบ” ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการ หรืออาการไม่รุนแรง ให้เข้ารับบริการประเภทผู้ป่วยนอก ในสถานพยาบาลรัฐและเอกชนในระบบประกันสังคมทุกแห่ง ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 เป็นต้นไป”

ประกาศฉบับดังกล่าว ยังระบุ แนวทางการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาล โดยสำนักงานประกันสังคม จะจ่ายค่าบริการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ ตามเกณฑ์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แบบบริการผู้ป่วยนอก จ่ายแบบเหมาจ่ายในอัตรา 1,000 บาทต่อราย ครอบคลุมรายการ ดังนี้

(1) ค่าบริการให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวในการแยกกักตัวที่บ้าน

(2) การให้ยาที่เป็นการรักษาโรคโควิด ได้แก่ ยาฟ้าทะลายโจร, ยาฟาวิพิราเวียร์ (เบิกจากกระทรวงสาธารณสุข) ตามแนวทางกรมการแพทย์ และหรือ ยารักษาตามอาการ รวมค่าจัดส่ง เป็นต้น

(3) การประสานติดตามอาการเมื่อให้การดูแลครบ 48 ชั่วโมง

(4) การจัดระบบส่งต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องส่งต่อ


2. ค่าบริการสำหรับการให้คำปรึกษาหรือการดูแลรักษาเบื้องต้น เมื่อได้รับคำปรึกษาจากผู้ป่วยโควิด หลังให้การดูแลครบ 48 ชั่วโมงไปแล้ว เมื่อผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลง หรือให้ปรึกษาอื่น ๆ จ่ายแบบเหมาจ่ายในอัตรา 300 บาทต่อราย สำหรับหน่วยบริการที่ให้การดูแลตามข้อ 1 

สำหรับการดำเนินการดังกล่าวให้มีผลย้อนหลังได้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 โดยหน่วยบริการที่ให้บริการผู้ประกันตน สามารถเบิกย้อนหลังได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้