พะยูนตาย! สัญญาณเตือนวิกฤต ‘ธรณ์’ หวัง COP29 ยื่นมือช่วย ตั้งกองทุนแก้โลกร้อน

ชี้ ผลกระทบถึงรายได้ – เศรษฐกิจชาวประมง แนะรัฐบาลเร่งช่วยเหลือ เยียวยาหวังเวทีโลก ‘COP29’ เห็นปัญหา

ท่ามกลางสถานการณ์โลกรวน ทั้งการเกิดอุทกภัยใหญ่ และพายุหมุนเขตร้อนที่ไม่ได้เกิดขึ้นมานานแล้วกลับมาก่อตัวก่อตัวพร้อมกันถึง 4 ลูก ในมหาสมุทรแปซิฟิก ขณะที่ประเทศไทย ก็เห็นความรุนแรงของภัยพิบัติ และความผิดปกติของทรัพยากรธรรมชาติ หลายอย่าง หนึ่งในนั้น คือ สถานการณ์ของพะยูนที่ตายเฉลี่ยเดือนละ 3.75 ตัว เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ ตายเฉลี่ย 1 ตัว

โลกร้อน? ทำพะยูนตายพุ่งสูงผิดปกติ 2 ปี ตาย 76 ตัว

ล่าสุด พบซากพะยูนเกยตื้นที่ท่าเรือเกาะปู จ.กระบี่ โดย ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง เปิดผลชันสูตร พบว่า พะยูนมีร่างกายอยู่ในเกณฑ์ผอม ภายนอกไม่มีแผลฉกรรจ์หรือแผลจากเครื่องมือประมง คาดว่า พะยูนตายจากภาวะก้อนลิ่มอุดตันในหัวใจ ร่วมกับป่วยเรื้อรังจากภาวะปอดผิดปกติ ทำให้สัตว์อ่อนแอ และจมน้ำตาย

ข้อมูลที่น่าสนใจ พบว่า ในช่วงเวลา 2 ปี มีพะยูนตายถี่ขึ้น โดยขณะนี้มีพะยูนตายแล้ว 76 ตัว เฉพาะเดือนพฤศจิกายนนี้ พบพะยูนตายแล้ว 5 ตัว และในรอบสัปดาห์นี้พบตายแล้ว 3 ตัว ทั้งที่ป่าคลอก จ.ภูเก็ต, เกาะลิบง จ.ตรัง, และล่าสุด เกาะปู จ.กระบี่

จากสังเกต คือ เดิมพื้นที่เหล่านี้ล้วนเป็นแหล่งหญ้าทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของพะยูน ขณะที่ข้อมูลอีกชุดพบว่า ในปี 2566 หญ้าทะเลไทย ลดลงจากปี 2563 มากกว่า 60,000 ไร่ ทำให้พะยูนมีอาหารไม่เพียงพอ ส่งผลให้พะยูนอ่อนแรง ที่อาจเป็นสาเหตุของการป่วย และการย้ายถิ่น

เช่นเดียวกับ อาหลี ชาญน้ำ นายกสมาคมคนรักเล จังหวัดกระบี่ เชื่อเช่นกันว่า พะยูนที่ตายตัวล่าสุด น่าจะเกิดจากการอดอาหารตาย เพราะพื้นที่ที่พบซาก คือ บริเวณเกาะปู รวมถึงพื้นที่เกาะจำ และเกาะศรีบอยา เคยเป็นแหล่งหญ้าทะเลขนาดใหญ่ มีพื้นที่กว่า 20,000 ไร่ แต่ตอนนี้กว่าร้อยละ 90 หญ้าทะเลตาย จึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งหามาตรการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล

“ตราบใดที่พะยูนไม่มีหญ้าให้กิน พะยูนก็จะตายไปตามธรรมชาติ ในส่วนของชาวบ้านก็พร้อมเต็มที่สำหรับการให้ความร่วมมือกรณีหญ้าทะเล”

อาหลี ชาญน้ำ

ขณะที่ ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรทางทะเล และผู้ที่ติดตามสถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผลักดันหาแนวทางทั้งการอนุรักษ์ ฟื้นฟูสัตว์ และท้องทะเล ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ ตรงประเด็น ไทยพีบีเอส ชี้ให้เห็นว่า ไม่เพียงแค่อัตราการตายของพะยูนที่พุ่งสูงขึ้นมาจากภาวะโลกร้อน แต่ขณะนี้ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากภาวะโลกรวน-โลกร้อน อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งมีผลกระทบที่เกิดขึ้นหลัก ๆ 2 ด้าน คือ

  • สภาพอากาศสุดขีด ทั้งฝนตก น้ำท่วม และดินโคลนถล่ม ที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

  • ระบบนิเวศล่มสลาย ส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะระบบนิเวศหญ้าทะเล และระบบนิเวศแนวปะการัง ซึ่งเป็น 2 ใน 3 ของระบบนิเวศที่ดีที่สุดในทะเลประเทศไทย แต่กลับถูกทำลายจากสภาวะโลกร้อนไปแล้ว
ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

ในส่วนของการล่มสลายของระบบนิเวศที่เกิดขึ้น The World Economic Forum จัดให้เป็นอันดับ 3 ของความเสี่ยงในโลกปัจจุบัน และเมื่อมาดูสถานการณ์หญ้าทะเล และแนวปะการังของประเทศไทย ผศ.ธรณ์ บอกว่า การที่หญ้าทะเลเสื่อมโทรม ไม่ได้กระทบเฉพาะพะยูน เพราะหญ้าทะเล ถือเป็นระบบนิเวศแห่งหนึ่งที่แยกออกจากป่าชายเลน ชายฝั่ง หรือแหล่งปะการัง แต่ยังส่งผลไปถึงชาวประมง อย่างที่ เกาะลิบง ที่ชาวบ้านทำอาชีพประมง จับหอยชักตีน ปูม้า และปลา บริเวณแหล่งหญ้าทะเลในช่วงน้ำลง จึงอาจทำให้ชาวเกาะลิบงสูญเสียรายได้ในการทำอาชีพ ซึ่งเดิมมีรายได้กว่า 20 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งยังส่งผลไปถึงการท่องเที่ยวระดับชุมชน เพราะไม่มีพะยูนให้ดู

“ถ้าโลกร้อนกว่านี้ หญ้าทะเลและปะการังคงหมดภายใน 5-10 ปี เช่นเดียวกับพะยูนก็คงเหลือที่หลักสิบ แล้วผลกระทบมันก็จะกลับมาที่ความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล พี่น้องหากินลำบาก รายได้ลดลง กิจการต่าง ๆ ย่ำแย่ ผลกระทบก็มาเรื่อย ๆ ขณะที่บนบกก็จะเกิดผลกระทบด้านอื่นตามมาเช่นกัน”

ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

หวัง COP29 รับรู้ปัญหา จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือ

ข้อมูลจาก กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้มอบหมายให้ พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หารือร่วมกับ Mr.Henry Gonzalez ตำแหน่ง Chief Investment Officer ของกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund : GCF)ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) ครั้งที่ 29 หรือการประชุม COP29 ณ เมืองบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน

สำหรับกรอบเจรจา COP29 ของไทยในปีนี้มี 10 ประเด็น ดังนี้

  • เป้าหมายทางการเงินครั้งใหม่ (New Collective Quantified Goal: NCQG)

  • การทบทวนสถานการณ์และการดำเนินงานระดับโลก (Global Stock take)

  • การกำหนดตัวชี้วัดเพื่อขับเคลื่อนการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามเป้าหมายระดับโลก

  • การเร่งสร้างกติกาและกลไกดำเนินงานของกองทุนจัดการความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage Fund)

  • การหาข้อสรุปให้เกิดความร่วมมือและกลไกที่เอื้ออำนวยการดำเนินงานระหว่างภาคีด้านคาร์บอนเครดิตภายใต้ความตกลงปารีส

  • การสร้างช่องทางออนไลน์เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานภาคเกษตรด้านวิชาการและสนับสนุนทางการเงิน

  • การเสริมพลังเครือข่ายขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของแต่ละประเทศ (Action for Climate Empowerment : ACE)

  • การกำหนดสาระของรายงานผลความคืบหน้าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายสองปี ที่ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องจัดส่งภายในสิ้นปี ค.ศ. 2024

  • การขับเคลื่อนศักยภาพลดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น โดยเร่งถ่ายทอดเทคโนโลยีและสนับสนุนทางการเงินจากประเทศพัฒนาแล้ว

  • การสร้างกลไกขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม โดยคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดจากมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งหมดนี้ สอดคล้องกับหลักการของกรอบอนุสัญญาฯ และความตกลงปารีส ตลอดจนนโยบายและแผนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ ซึ่งการประชุมนี้มีความสำคัญกับไทยอย่างมาก เพราะไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 9 จากกว่า 170 ประเทศทั่วโลก ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตามรายงาน Global Climate Risk Index ขณะที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็ไม่มาก แต่ผลกระทบจากภัยพิบัติกลับสูง

บทบาทของประเทศไทยในการเดินหน้าแก้ปัญหาโลกร้อนในเวทีโลกขณะนี้ เป็นสิ่งที่น่าจับตา เพราะจากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพะยูน และทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลนั้นทำให้ ผศ.ธรณ์ ได้แจ้งไปยัง จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถึงการนำเสนอปัญหาเรื่องสภาพอากาศสุดขีด และระบบนิเวศล่มสลายในเวที COP29 เพื่อเป็นการช่วยลดโลกร้อนและทางแก้ปัญหา โดยมีกองทุนสำหรับการช่วยฟื้นฟูความเสียหายต่อระบบนิเวศและความเดือดร้อนของผู้คน ซึ่งประเทศไทยไม่เคยพูดเรื่องนี้เลย 

“ถ้าเรานำเสนอประเด็นนี้ ก็จะสร้างความชัดเจนว่าประเทศไทยเองก็เดือดร้อน ทั้งที่เราปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับกลาง ๆ แต่เราโดนผลกระทบเยอะมาก เพราะฉะนั้น ถ้าประเทศไทยมีกองทุนหรือความช่วยเหลือจากนานาชาติ ก็จะเป็นเรื่องที่ช่วยแก้ปัญหาได้มาก เพราะถ้าให้พูดตรง ๆ ปัญหาขนาดนี้ ระบบงบประมาณของเรารองรับไม่ไหว”

ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

เยียวยา-ช่วยเหลือ-ให้ความรู้ สู่ทางออกโลกร้อน

ผศ.ธรณ์ ระบุด้วยว่า แม้ขณะนี้คณะประมง จะตั้งหน่วยวิจัยหญ้าทะเลต้านโลกร้อน มาเป็นเวลา 3-4 ปี และการจัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (กรมโลกร้อน) ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ด้วยปัญหาเรื่องการฟื้นฟูหญ้าทะเลเป็นเรื่องที่แก้ไขยากมาก และมียังอุปสรรคในเรื่องการหาข้อมูลหรืองานวิจัย ขณะที่โลกร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นการแก้ไขในเรื่องหญ้าทะเลหรือพะยูนกลายเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำให้ดีขึ้นได้ภายใน 30 ปี

สิ่งที่ต้องทำคือ รัฐบาลต้องสนับสนุนงบประมาณการวิจัยเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน และตั้งกองทุนในลักษณะที่เยียวยาและช่วยเหลือ เพื่อหาทางปรับตัวและรับมือสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบ เพราะจากประสบการณ์ตลอดการศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อม ของ ผศ.ธรณ์ พบว่า ประเทศไทยมีงบประมาณเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโลกร้อนน้อยมาก สวนทางกับปัญหาที่ทวีคูณความรุนแรงมากขึ้นในทุก ๆ ปี

“เราก็รู้อยู่ว่าอีก 30 ปีข้างหน้าจะได้รับผลกระทบจากโลกร้อนมากขึ้น แต่ผลกระทบในตอนนี้เกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่อยากได้คือการเยียวยา การให้ความรู้ในการปรับตัวรับมือ งานวิจัยพื้นฐาน เพื่อจะเอาข้อมูลต่าง ๆ มาใช้ในการปรับตัวรับมือ ฉะนั้นรัฐต้องหาทางช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน”

ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active