จับทิศทางฤดูฝน 2567 น้ำจะท่วม หรือจะแล้ง ?

เข้าสู่ฤดูฝนได้ไม่นาน หลายพื้นที่ก็เผชิญน้ำท่วม ‘กรมชลประทาน’ ยันพร้อมตั้งรับมือน้ำท่วม น้ำแล้ง และจัดการน้ำเผื่อใช้ในอนาคต ขณะที่ ‘กรมอุตุฯ’ เตือน สิงหาคม-กันยายนปีนี้ ฝนตกชุกสุดของปี

กรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา

กรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา บอกว่า ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน ปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา สำหรับปริมาณฝนโดยรวมใกล้เคียงปีที่แล้ว (ปีที่แล้วปริมาณฝนมากกว่าค่าปกติร้อยละ 1) ปลาย พ.ค.-กลาง มิ.ย. มีฝนเพิ่มมากขึ้นและตกต่อเนื่อง เดือน ส.ค.-ก.ย. ฝนตกชุกหนาแน่น อาจมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1-2 ลูก ต่อมากลาง มิ.ย.-กลาง ก.ค. จะเป็นช่วงที่ฝนตกน้อย คาดประเทศไทยตอนบนจะสิ้นสุดฤดูฝนกลาง ต.ค. ส่วนภาคใต้โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกจะมีฝนตกชุกหนาแน่นต่อไปอีกจนถึงกลาง ม.ค. 2568

คาดหมายฤดูฝนของประเทศไทย 2567

  • ปลายเดือน พ.ค.-กลาง มิ.ย. ฝนจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ฝนจะตก ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยเฉพาะ ภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก 60-80 ของพื้นที่กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางแห่ง
  • กลางเดือน มิ.ย.- กลาง ก.ค. ปริมาณและการกระจายของฝนลดลง อาจทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำในบางแห่ง โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน
  • เดือน ส.ค.-ก.ย. ฝนจะตกชุกหนาแน่น จะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่เป็นส่วนใหญ่กับมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และตกหนักมากในบางแห่ง ซึ่งก่อให้เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งในบางพื้นที่
  • เดือน ต.ค. ปริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีฝนลดลงและเริ่มมีอากาศหนาวเย็นในตอนเช้า โดยเฉพาะตอนบนของภาค สำหรับบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ จะมีฝนตกชุกหนาแน่นต่อไป กับมีฝนตกหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่ง

ส่วนแนวโน้มสถานการณ์ฝน 2567

สำหรับการพยากรณ์ฝนล่วงหน้า 7 วัน (27 พ.ค.-2 มิ.ย. 67) มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง แนวโน้มฝนจะเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคอีสาน และฝั่งตะวันตกของไทย

ชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตลอดช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด เป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้อย่างเพียงพอ

ชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน

ต่อจากนี้จะเป็นการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2567 (1 พ.ค.-31 ต.ค.67) ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าสภาวะเอลนีโญในขณะนี้จะอ่อนกำลังลงและเปลี่ยนเข้าสู่ภาวะเป็นกลาง ในช่วงเดือนมิถุนายนโดยมีความน่าจะเป็นถึงร้อยละ 69 ที่จะเปลี่ยนสู่สภาวะลานีญ่าซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้นในเดือน ก.ค.-ก.ย. และจะคงสภาวะนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี 2567

เดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน บอกว่า ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 66/67 กรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง (ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 66 -30 เม.ย. 67) ไว้ทั้งสิ้น 24,985 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาวางแผนจัดสรรน้ำไว้ประมาณ 8,700 ล้าน ลบ.ม.เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร และอุตสาหกรรมรวมไปถึงการควบคุมค่าความเค็มและคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ

ปัจจุบันสิ้นสุดฤดูแล้งแล้วพบว่าทั้งประเทศมีการใช้น้ำตลอดช่วงฤดูแล้งรวมทั้งสิ้นประมาณ 23,832 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 95
ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำรวมประมาณ 8,586 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 99 ของแผนฯ ภาพรวมผลการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งเป็นไปตามแผนที่วางไว้พื้นที่ในเขตชลประทานไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนน้ำอีกทั้งยังมีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนอย่างเพียงพอ

โดย ณ วันที่ 1 พ.ค. 67 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 41,765 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนได้อีกกว่า 34,572 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 11,256 ล้าน ลบ.ม. สามารถรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนได้อีกกว่า 13,615 ล้าน ลบ.ม.

ขณะนี้ได้วางมาตรการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอใช้ไปจนถึงฤดูแล้งหน้าด้วยการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศอย่างเพียงพอส่งเสริมให้เกษตรกรใช้น้ำฝนเป็นหลักในการเพาะปลูก บริหารจัดการน้ำท่าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำ รวมทั้งวางแผนป้องกันอุทกภัย เพื่อลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด

แนวทางการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน ปี 2567

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active