‘ธรณ์’ ย้ำ โลกร้อนทะเลเดือด ฉุดไม่อยู่! พาระบบนิเวศพังทุกมิติ คน-สัตว์-ศก. เดือดร้อนหนัก

ชี้หญ้าทะเลลดลง ปะการังฟอกขาว สัญญาณอันตราย ทะเลร้อนกว่าเดิม สร้างผลพวงสภาพอากาศแปรปรวนทั้งระบบ จี้ผลักดัน พ.ร.บ.โลกร้อน อย่างเร่งด่วน ก่อนจะตามปัญหาไม่ทัน  

วันนี้ (11 มี.ค. 67) ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ผ่าน รายการตรงประเด็น Thai PBS ถึงสถานการณ์ทะเลเดือดที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องผลกระทบต่อมนุษย์ สัตว์ทะเล และความเสี่ยงในอนาคต รวมถึงแนวทางการรับมือ

ผศ.ธรณ์ บอกว่า ตลอดระยะเวลา 50 กว่าปี ปัจจุบันนี้เราอยู่ในจุดที่สถานการณ์น่ากลัวที่สุด เดิมทีไม่คิดว่าสถานการณ์จะเลวร้ายเร็วขนาดนี้ ยิ่งเฉพาะในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ที่อยู่ในจุดที่เรียกว่า “โลกร้อนทะเลเดือด” ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกก็ล้วนออกมาเตือนเหมือนกันหมด เพราะฉะนั้นสถานการณ์ต่อจากนี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วงมาก

ผศ.ธรณ์ ยังยกตัวอย่าง กรณีการตายของพะยูน และหญ้าทะเลที่กำลังลดน้อยลงเรื่อย ๆ ที่ จ.ตรัง ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่บอกให้ต้องรีบหันมาสนใจปัญหาอย่างจริงจัง เพราะสถานการณ์เมื่อปีที่แล้ว อากาศบนแผ่นดินและในทะเล ร้อนที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ พอมาถึงในช่วงต้นปีนี้ ทะเลก็ดันร้อนขึ้นกว่าปีที่แล้วอีก ตรงนี้เป็นเหตุให้ทุกอย่างแปรปรวนไปหมด ทะเลที่ครอบคลุมโลกใบนี้อยู่เมื่อมันร้อนขึ้น จะทำให้เกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เป็นอันตราย เช่น เอลนีโญ ลานีญา หรือพวกพายุไต้ฝุ่น เฮอร์ริเคน ที่พัฒนาความรุนแรงจากระดับ 5 เป็นระดับ 6

เช่นเดียวกันกับ ปัญหาปะการังฟอกขาว ที่เพิ่มระดับความรุนแรงจาก 2 ระดับ กลายเป็น 5 ระดับ ปัญหาที่เจอในตอนนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วงชีวิตของทุกคน และที่น่าเป็นห่วงคือในอนาคต อีก 5-6 ปีข้างหน้า ปัญหาเหล่านี้จะยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ถึงแม้วันนี้จะหยุดการกระทำที่ส่งผลเสียต่อโลกได้ทั้งหมด โลกก็จะไม่เย็นลงในทันที เพราะปัญหาที่เกิดไปแล้วจะลากยาวไปอีก 20-30 ปี ซึ่งคนในวัยเกษียณก็จะไม่มีทางได้เห็นโลกที่เย็นกว่านี้แล้ว

“เราต้องอย่าคิดว่าภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องเล่น ๆ ผู้คนมักคิดว่าปัญหาโลกร้อนเป็นอะไรที่แก้ง่าย มนุษย์เป็นเจ้าของธรรมชาติ เราสร้างธรรมชาติได้ เราฟื้นฟูได้ทุกอย่างขอเพียงแค่ให้มีเงิน ด้วยความคิดเหล่าแหละที่ทำให้เรามาถึงจุดนี้  จุดที่แม้แต่เทคโนโลยีสมัยใหม่ก็ช่วยเราไม่ได้ ขนาดนาซ่า ยังทำได้อย่างเดียวคือเตือนว่าโลกกำลังร้อนขึ้น”

สำหรับวิธีการแก้ไขปัญหา ผศ.ธรณ์ บอกว่า ในขณะที่กำลังพูดถึงแต่เรื่องการลดโลกร้อน ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องทำ คือ ต้องเข้าใจและต้องปรับตัวเพื่ออยู่กับภาวะโลกร้อน เพราะในวันนี้เมื่อปะการังหายไปหมด สัตว์น้ำที่ใช้ปะการังเป็นที่อยู่อาศัยก็จะหายตามไป อุทยานต้องปิดแนวปะการังห้ามมีการท่องเที่ยว

“ธุรกิจภาคการท่องเที่ยวดำน้ำในแนวปะการัง 80,000 ล้านบาทต่อปีจะทำอย่างไร หญ้าทะเลที่หายไป ชาวบ้านที่อยู่แถบริมทะเล ทำอาชีพเก็บหอยชักตีนเป็นรายได้หลักมาตลอด 50 ปี จะให้พวกเค้าไปทำอาชีพอะไร ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือประคับประคอง ให้ชาวบ้านไปต่อได้ในพื้นที่เดิม ปัญหาที่ว่านี้ไม่ใช่เกิดขึ้นเพียงแต่ที่ จ.ตรัง จ.กระบี่ เพราะว่าในพังงาก็โดน ที่ตราดก็โดนมา 3-4 ปีแล้ว แต่แค่ไม่ได้เป็นข่าว ที่ยังรอดอยู่ในปัจจุบันมีแค่ที่ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย คือ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี และ นครศรีธรรมราช ปัญหาคือเมื่อหญ้าทะเลตาย พะยูนที่มีจำนวน 220 ตัวในพื้นที่ก็กระจัดกระจายตัวกันออกไปหาแหล่งอาหารใหม่”

“สิ่งที่เราทำได้ตอนนี้คือ เมื่อพะยูนเดินทางขึ้นเหนือไปที่กระบี่ตอนบนและที่ภูเก็ต ซึ่งหญ้าทะเลยังมีสภาพที่ดีอยู่ แต่ทั้ง 2 จังหวัดนี้เป็นจังหวัดที่มีการท่องเที่ยวสูงมาก เพราะฉะนั้นพะยูนที่ไม่เคยชินกับพวกเรือเร็วต่าง ๆ เราก็ต้องเข้าไปบริหารจัดการเรื่องการจำกัดจำนวนเรือ จำกัดความเร็วเรือ ซึ่งเราเคยทำไว้แล้วที่ จ.ตรัง แต่ต้องขยายไปที่ จ.กระบี่ ภูเก็ต หรือจังหวัดอื่น ๆ ที่พะยูนอพยพไปด้วย รัฐต้องสนับสนุนงบประมาณมากขึ้นเพื่อการวิจัยและการสำรวจ เพราะตอนนี้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องพร้อมทำงาน และอยากที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ขาดก็เพียงแต่งบประมาณเท่านั้น”

ผู้เชี่ยวชาญด้านทะเล ยังระบุว่า ในส่วนปัญหาโลกร้อนที่เกิดขึ้นบนบก ต้องรีบเร่งผลักดัน พ.ร.บ.โลกร้อน ให้เกิดขึ้นเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ ทุก ๆ อย่างที่ใช้อุปโภค บริโภคย่อมปล่อยก๊าซเรือนกระจก การที่ซื้อน้ำมาหนึ่งขวด ไม่ได้หมายความว่าจ่ายเงินเพื่อซื้อน้ำเพียงอย่างเดียว แต่ต้องจ่ายเงินเพื่อค่าคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยในกระบวนการผลิต จนมาเป็นขวดน้ำขวดนั้นด้วย เพื่อเอาไปใช้ทดแทนการกระทำที่ส่งผลเสียต่อโลก เราเรียกสิ่งนี้ว่าภาษีคาร์บอนไดออกไซด์ ต้องมีการบังคับใช้เศรษฐกิจสีเขียวอย่างจริงจัง และเร่งสปีดให้ทัน อย่างในเมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส ก็มีนโยบายให้ใช้แต่รถยนต์ไฟฟ้า สิ่งที่ประเทศไทยทำอยู่ คือทำนโยบาย หรือมาตรการต่าง ๆ ตามเทรนด์โลก ตอนนี้ความเร็วของเทรนด์โลกจะแรงขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าเราอาจมาถูกทางแล้ว แต่ก็กังวลว่าเราจะตามเขาไม่ทัน

ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผศ.ธรณ์ ยอมรับว่า ถ้าลองเปรียบเทียบประเทศไทย กับนานาประเทศถึงความตระหนักในเรื่องการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน พบว่า ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับปานกลาง และมีสนธิสัญญาต่าง ๆ มากมาย สิ่งนี้สื่อให้เห็นว่า คนในประเทศมีความตระหนักเยอะ แต่ปัญหาคือผลกระทบจากภาวะโลกร้อนติดลำดับ TOP ของโลก

“ต้องแยกก่อนว่าถึงแม้เราจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกปานกลาง ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะโดนผลกระทบในระดับปานกลาง เพราะว่าประเทศเรามีระบบนิเวศที่ดี สิ่งนี้ดึงดูดคนต่างชาติให้มาท่องเที่ยว และต้องอย่าลืมประเทศของเราพึ่งพิงรายได้จากการท่องเที่ยวสูงมาก เมื่อเกิดภาวะโลกร้อน สภาพแวดล้อมเสียหาย ทำให้ปัญหากระทบต่อประเทศไทยหนักขึ้นไปในหลายมิติด้วย”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active