กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เผย การเน่าเสียของอาหาร ปล่อยก๊าซมีเทนทำโลกร้อนกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า เตรียมดึง ราชการ ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ส่งต่ออาหารกินได้ แก่ผู้ยากไร้ อาหารสัตว์ป่า หมักก๊าซชีวภาพ
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ปัญหาขยะในประเทศไทย มีปริมาณขยะมูลฝอยที่เป็นขยะอินทรีย์เกิดขึ้นมากถึง 17.56 ล้านตันต่อปี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 64 ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมด หรือ 254 กิโลกรัมต่อคนต่อปี “ขยะอาหาร” จึงเป็นหนึ่งในปัญหาที่หลายประเทศทั่วโลก รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศให้ความสำคัญ เพราะการเน่าเสียของอาหารจะปล่อยก๊าซมีเทนที่มีศักยภาพเป็นก๊าซเรือนกระจก ส่งผลทำให้โลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า โดยในแต่ละปีจะมีขยะอาหารที่ถูกฝังกลบ ประมาณ 1.3 พันล้านตัน ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษคิดเป็นร้อยละ 8 ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ
ขณะที่การประเมินขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พบว่ามีอาหารที่ถูกทิ้งเป็นขยะอาหารประมาณ 1.6 พันล้านตันต่อปี ซึ่งหนึ่งในสามของอาหารที่ผลิตออกมาในโลกกลายเป็นขยะอาหาร ทั้งที่สามารถนำไปรับประทานต่อได้ก็ตาม แต่ในเวลาเดียวกันกลับมีผู้คนทั่วโลกที่ต้องเผชิญกับความหิวโหยถึง 870 ล้านคน
เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เป้าหมายที่ 12 ที่กำหนดให้ลดอัตราการสูญเสียอาหาร (food loss) และขยะอาหาร (food waste) ตลอดห่วงโซ่การผลิตที่เกิดจากการจำหน่ายและการบริโภคทั่วโลกลดลงร้อยละ 50 ภายในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับภาคีเครือข่าย แก้ไขปัญหาขยะอาหารที่เกิดขึ้น ผ่านโครงการอาหารปันสุข (Zero Food Waste) ลดการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะอาหารใช้ประโยชน์จากอาหารที่ยังกินได้ ผักผลไม้ อาหารสด อาหารปรุงสำเร็จ ที่เหลือจากการจำหน่ายในร้านอาหาร หรือซูเปอร์มาร์เก็ต เช่น ผักผลไม้ อาหารสด อาหารปรุงสำเร็จ ส่งต่อให้กับมูลนิธิรับบริจาคอาหารนำไปแจกจ่ายให้ผู้ที่ต้องการหรือนำไปเป็นอาหารสัตว์ หรือนำไปหมักทำปุ๋ยหรือผลิตก๊าซชีวภาพ ที่สามารถลดการทิ้งเป็นขยะอาหารได้ เป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ลดปริมาณขยะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ด้วยแนวคิด “ชีวิตวิถีใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” ซึ่งจะมีพิธีประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนโครงการอาหารปันสุข (Zero Food Waste) วันที่ 28 มีนาคม นี้
“อาหารส่วนเกินที่อาจเหลือจากการจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็น ผักผลไม้ อาหารสด หรืออาหารปรุงสำเร็จ หากถูกส่งต่อให้กับหน่วยงานหรือองค์กรไม่แสวงกำไร นำไปแจกจ่ายให้ผู้ที่ต้องการ หรือนำไปเป็นอาหารสัตว์ ทำให้ลดขยะหรือของเสียเหลือศูนย์ จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และการขาดแคลนทรัพยากรของประเทศ เป็นการปฏิวัติรูปแบบการใช้พลังงานและวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ รักษาสมดุลระหว่างมนุษย์กับทรัพยากร นำไปสู่ความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน”
วราวุธ ศิลปอาชา
ก่อนหน้านี้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านอาหารเพื่อสัตว์ป่า กับบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ส่งต่ออาหารส่วนเกินจากการจำหน่ายให้กับหน่วยงานภาคสนามของกรมอุทยานฯ ได้แก่ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า 23 แห่ง ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่า 3 แห่ง และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก 1 แห่ง รวม 27 แห่ง ที่รับผิดชอบดูแลสัตว์ป่าพ่อแม่พันธุ์สัตว์ป่าของกลาง และสัตว์ป่าจากกรณีแก้ไขปัญหา ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี ในขณะที่งบประมาณในการดูแลมีอยู่อย่างจำกัด จึงมีเป้าหมายร่วมกันในการลดปริมาณอาหารส่วนเกินเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และเสริมสร้างสวัสดิภาพสัตว์ป่า