วิเคราะ์แผนจัดการน้ำท่วมล้มเหลวส่วนหนึ่งเพราะ ‘ผังเมือง’ คาดฝั่งตะวันออก ยังมีบึงรับน้ำไม่เพียงพอ และต่ำกว่าระดับน้ำทะเล แนะเร่งสำรวจและสร้างบึงรับน้ำเพิ่ม ประเมินทำอุโมงค์ยักษ์ และธนาคารน้ำใต้ดินเป็นการทุ่มงบฯเกินจำเป็น
ต่อเนื่องกับเวทีเสวนา “วิกฤตสยาม 3 น้ำ” ช่วงที่ 2 ด้วยการระดมข้อเสนอของภาคประชาชน เตรียมเสนอ ต่อผู้ว่าฯ กทม. สมัยหน้า ซึ่งในเวทีนี้เต็มไปด้วยเสียงสะท้อนจากตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบ และเครือข่ายภาคประชาชนที่ร่วมกันจับตา เฝ้าระวังปัญหาอุทกภัยในประเทศ โดยเฉพาะ กทม.และปริมณฑลที่ถือว่าเป็นพื้นที่ไข่แดง ทางเศรษฐกิจ
แต่จากการพูดคุยกลับพบข้อมูลว่า กทม.ฝั่งตะวันออก ที่ไม่มีระบบป้องกันน้ำท่วม ขณะที่หลายแนวคิดในการป้องกัน และแก้ปัญหาน้ำท่วม อย่างการทำอุโมงค์ยักษ์ และธนาคารน้ำใต้ดิน ก็ยังมีกระแสวิพากษ์จากภาคประชาชน ว่าเป็นการทุ่มงบประมาณเกินจำเป็น และแก้ปัญหาไม่ตรงจุด
วิพากษ์ผังเมืองกทม. เอื้อก่อสร้าง-ทับที่รับน้ำ
ก้องศักดิ์ สหะศักดิ์มนตรี ผู้แทนจาก เครือข่ายปกป้องคุณภาพชีวิตชุมชนเมือง (คปช.) ระบุว่า การแก้ปัญหาต้องเริ่มตั้งแต่กระดุมเม็ดแรก ด้วยการเข้าใจผังเมืองและแผนที่น้ำ และหากดูแผนที่เส้นทางผ่านของน้ำ หรือ Flood way ก็จะเข้าใจได้ว่าทำไมน้ำจึงท่วม กทม.
การวางแผนจัดการน้ำท่วมระยะยาวของ กทม. ล้มเหลว สาเหตุหนึ่งมาจาก การขยายตัวของเมือง ที่ทำให้พื้นที่ดินเข้ามาทดแทนพื้นที่รับน้ำ ทั้งนี้ หน่วยงานรัฐ อย่าง กรมโยธาธิการและผังเมือง อนุญาตให้การก่อสร้างทับพื้นที่รับน้ำเดิม หรือพื้นที่สีเขียวลาย ได้อย่างไร โดยมีข้อเสนอให้ทบทวนและปรับปรุงผังเมือง ด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
พิชญาพร โพธิ์สง่า ผู้ดำเนินรายการ ให้ข้อมูลเพิ่มถึง รายละเอียดผังเมืองรวม กทม.ว่า เตรียมจะประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2563 แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังชะลอการพิจารณา จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องติดตามต่อว่า พื้นที่สีเขียวที่ใช้รับน้ำ อยู่ตรงไหนบ้าง และหายไปได้อย่างไร?
กทม.ชั้นในปลอดภัย ยกเว้น กทม.ฝั่งตะวันออก ยังไร้ระบบป้องกันน้ำท่วม
ชวลักษณ์ เวียงวิเศษ ผู้แทนจากกลุ่มบึงรับน้ำ เปิดเผยข้อมูลปี 2562 พบว่า กทม. และปริมณฑลมี GDP รวมกัน 48% ดังนั้นการปกป้อง กทม. และปริมณฑล จึงเป็นพื้นที่ความสำคัญ เช่น กรณีน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ที่ส่งผลต่อการขาดแคลนอาหาร ก่อให้ความเสียหายด้านเศรษฐกิจ 1.44 ล้านบาท โดยทางธนาคารโลกจัดอันดับให้เป็นความร้ายแรงเป็นอันดับโลกด้วย
ชวลักษณ์ อธิบายถึงเหตุผลที่ กทม.ฝั่งตะวันตกไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่รับน้ำ เพราะจากแผนที่แนวคันป้องกันน้ำ จะพบว่า มีเพียงพื้นที่สีเขียว และชมพู ที่มีระบบการป้องกันน้ำท่วมที่ดี (มีเส้นสีแดง เปรียบเหมือนแหล่งรับน้ำ หรือแก้มลิงล้อมรอบ)
ขณะที่พื้นที่สีเหลือง เช่น มีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง คลองสามวา คันนายาว ฯบฯ กลับไม่มีระบบการป้องกันน้ำใดๆ เลย โดย แก้มลิงใน กทม. แบ่งเป็น ฝั่งธนบุรี 2 แห่ง ฝั่งพระนคร 23 แห่ง รวมเป็น 25 แห่ง
“กทม.ชั้นในและฝั่งตะวันตก ค่อนข้างจะปลอดภัยแล้ว ขณะที่ ฝั่งตะวันออก ยังมีบึงรับน้ำไม่เพียงพอ และเป็นพื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล
ล่าสุดแม้จะมีการสำรวจว่าอาจจะต้องสร้างบึงรับน้ำเพิ่มอีก 12 แห่ง แต่ก็ยังมีบางพื้นที่ที่ไม่สามารถสร้างได้ กทม.ฝั่งตะวันออกยังมีพื้นที่เหลือ ต้องเร่งสำรวจและสร้างบึงรับน้ำให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ารัฐจะเร่งเดินหน้าโครงการ EEC ในพื้นที่ตะวันออก…”
ชวลักษณ์ เวียงวิเศษ ผู้แทนจากกลุ่มบึงรับน้ำ
สอดคล้องกับ พงศ์พรหม ยามะรัต ผู้แทนจากกลุ่มบึงรับน้ำ ที่มองว่า เส้นทางน้ำ (Flood way) ตามธรรมชาติอยู่ทางฝั่งตะวันออกของ กทม. เปลี่ยนแปลงไม่ได้ คำถามคืออยู่กับน้ำอย่างไร
“ที่ผ่านมามีความเชื่อเสมอว่า น้ำท่วมไหลลงอ่าวไทย แต่เวลานี้ ไม่มีใครคิดเรื่อง Ice Sheet ที่ละลายมหาศาล และโลกก็ประกาศว่า น้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นหลัก ‘เมตร’
รัฐบอกจะทำเขื่อน คำถาม คือเมื่อไหร่จะทำ ผมใช้คำนี้ว่า Perfect storm มีน้ำลงจากภาคเหนือ ฝน มรสุม และน้ำทะเลหนุนสูง คำถามคือกทม.จะเป็นอย่างไร
กทม.จะกลายเป็น อ่างเลี้ยงปลาทั้งเมือง…”
พงศ์พรหม ยามะรัต ผู้แทนจากกลุ่มบึงรับน้ำ
พงศ์พรหม อธิบายต่อว่า กทม.มีคูคลอง 3,000 คลอง โดนถมไปทั้งหมด เหลือเพียงกว่า 1,000 คลอง สิ่งที่ กทม.ทำคือ ท่อใต้ดิน และฝากความหวังกับสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ว่าแก้ปัญหาผลจริงหรือไม่ แต่ที่เห็นปัญหาแน่ๆ 2 เรื่องคือ จะเกิดน้ำเน่าเสียใต้ดิน และไม่มีเส้นทางไหลของน้ำอย่างเป็นระบบ หากมีน้ำเหนือไหล่บ่ารุนแรงจะทำอย่างไร
อีกเรื่องคือ การทำธนาคารน้ำ (Water Bank) ที่ส่งผลให้บางพื้นที่ถนนทรุด โดยที่เราไม่รู้เลยว่า จะเกิด Perfect storm เมื่อไหร่ ขณะเดียวกัน กทม.ก็ยังมีพื้นสีเขียว น้อยติดอันดับโลก และมีปัญหาด้านมลพิษ ที่ผ่านมาเคยหารือกับพรรคการเมือง หลายพรรค นั่งคุยกันว่า อะไรคืออุปสรรคปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถผลักดันกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมได้ คำตอบของพรรคการเมืองก็คือ “หลายพรรคการเมือง สู้ กระทรวงฯ เดียวที่มีอำนาจไม่ได้”
“ถ้ากรุงเทพฯบริหารผังเมืองผิดขวางทางน้ำ ต้องยุติผังเมืองฉบับนี้ ภาคประชาชนต้องทวงคืนแก้มลิง-คู้บอนให้ได้ และขอเชิญพรรคการเมืองมาร่วมกัน
…อย่าให้เขาสนุกกับการเผาเงิน โดยไม่สนหัวประชาชน คอรัปชั่นที่ทำให้ประชาชนต้องตาย เป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้“
พงศ์พรหม ยามะรัต ผู้แทนจากกลุ่มบึงรับน้ำ
ภายในเวทียังมี บุญสม ชื่นทิวากร ประธานชุมชนตลาดหลักสี่ ริมคลองเปรมประชากร และ รัตนา ศิวเสน เหรัญญิก ชุมชนตลาดหลักสี่ ริมคลองเปรมประชากร ตัวแทนภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมซ้ำซาก ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก พร้อมฝาก ผู้ว่า กทม. ขอให้สร้างระบบป้องกันน้ำในคลองเปรมประชากร และไม่อยากได้ยินคำว่า “น้ำรอการระบาย” อีกแล้ว
ขณะที่ ธนัช นฤพรพงศ์ รองผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ระบุว่า ที่ผ่านมาพยายามออกแบบโมเดลแก้ปัญหาน้ำท่วมให้ชุมชนริมคลองเปรมประชากร สานต่อโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วม 9 คลองต่อไป แม้จะมีเสียงไม่เห็นด้วยเล็กน้อยแต่ต้องแข็งใจเดินหน้าต่อ นอกจากนี้ยังมีบึงรับน้ำ เช่น บึงมักกะสัน ก็ยังต้องแก้ไขทางระบายน้ำต่อด้วย จึงฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับลูกแก้ปัญหาทั้ง การระบายน้ำในคลอง และบึงอย่างเป็นระบบต่อไป
โดยข้อมูลทั้งหมดในเวทีระดมสมองจากภาคประชาชนครั้งนี้จะถูกรวบรวม และ ส่งต่อให้กับ ผู้ว่านกทม.สมัยหน้า และเป็นฐานข้อมูลให้ภาคประชาชนรับรู้ และเป็นเครื่องมือต่อยอดไปสู่ความตื่นตัวในการผลักดันนโยบาย เพื่อแก้วิกฤตน้ำและร่วมออกแบบเมืองร่วมกัน