ชี้การถอนตัวของสหรัฐฯ จากความตกลงปารีส ในสมัยที่แล้วของ ทรัมป์ กระทบต่อความร่วมมือระดับโลก ในฐานะสหรัฐฯ ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับต้น ๆ ย้ำ ไทยต้องยืนหยัดจุดยืนเดิมในเวทีโลก เดินหน้าร่วมแก้ปัญหาวิกฤตภูมิอากาศ
วันนี้ (7 พ.ย. 67) ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ ตรงประเด็น ไทยพีบีเอส ในประเด็นทิศทางการต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงผลกระทบต่อประเทศไทย หลังอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบนี้
ธารา บอกว่า องค์กรนานาชาติได้เตรียมความพร้อมอยู่ระดับหนึ่งก่อนการเลือกตั้งสหรัฐฯ ว่า หากทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง แนวทางการเจรจาเรื่องสิ่งแวดล้อมจะเดินหน้าไปอย่างไรในเวทีระดับโลก อย่างการประชุมรัฐภาคีสมาชิกความตกลงพหุภาคีระหว่างประเทศหรือ COP โดยไม่พึ่งพาบทบาทของสหรัฐฯ
ก่อนหน้านี้ โดนัลด์ ทรัมป์ เคยถอนตัวจาก ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ในสมัยที่แล้ว โดยกล่าวว่าความตกลงปารีส ไม่ยุติธรรมต่อสหรัฐฯ และเรียกการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์เป็น “เรื่องหลอกลวง” พร้อมสัญญาว่าจะลดการสนับสนุนการลงทุนด้านพลังงานสะอาด รถยนต์ไฟฟ้า และเพิ่มการขุดเจาะเชื้อเพลิงฟอสซิล
“ผมคิดว่า 100% ทรัมป์ คงประกาศช่วงที่รับตำแหน่งว่าจะถอนตัว ก็จะเปิดโอกาสให้จีน ให้ผู้เล่นใหม่ ๆ เข้ามาเป็นผู้นำด้านการเจรจา ซึ่งน่าเสียดาย เพราะถ้าสหรัฐฯ ไม่เล่น ประชาคมโลกก็จะบอกว่า ไม่เป็นไร ถ้าคุณถอนตัวจริง ๆ เราก็ยังอยู่ได้”
ธารา บัวคำศรี
สิ่งที่ ผอ.กรีนพีช ประเทศไทย ระบุ ยังสอดคล้องกับ ลอเรนซ์ ทูเบียนา (Laurence Tubiana) ผู้ออกแบบความตกลงปารีส ที่กล่าวว่า ผลการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ถือเป็นอุปสรรคในงานด้านสภาพภูมิอากาศโลก แต่ความตกลงปารีสได้แสดงให้เห็นแล้วว่ามันยืดหยุ่นและแข็งแกร่งกว่านโยบายของประเทศใดประเทศหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม การถอนตัวของสหรัฐฯ จากความตกลงปารีสจะมีผลกระทบต่อความร่วมมือระดับโลก เพิ่มความท้าทายขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่ง ผอ.กรีนพีช ประเทศไทย ยังยกตัวอย่างการถอนตัวจากความตกลงปารีสในสมัยที่แล้วของทรัมป์ ว่า กระทบการเจรจาในเชิงรูปแบบอยู่มาก เพราะสหรัฐฯ เป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับต้น ๆ ของโลก เป็นรองเพียงแค่ประเทศจีน
สำหรับประเทศไทยในเวทีเจรจาระดับโลก ธารา เน้นย้ำว่า แม้ว่าสหรัฐฯ ภายใต้การนำของทรัมป์ จะมีท่าทีชะลอการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน แต่การเจรจาและการแก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศยังคงเดินหน้าต่อไป ประเทศไทยต้องยืนหยัดในบทบาทของตัวเอง ในการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในเวทีเจรจาอย่างการประชุม COP29 ที่จะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ ก่อนยุคของ ทรัมป์ จะเริ่มขึ้นอีกครั้งในวันที่ 20 มกราคม 2568 หลังการสาบานตนครั้งที่ 2
“ประเทศไทยต้องยืนหยัดในจุดยืน เราเป็นคนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ได้เยอะมาก แต่มีความเสี่ยงทางภัยพิบัติสิ่งแวดล้อมสูง เราต้องมีจุดยืนที่ชัดเจนในเวทีโลกว่าเราอยากเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ”
ธารา บัวคำศรี
สำหรับ ความตกลงปารีส (Paris Agreement) เป็นสนธิสัญญาระหว่าง 196 ประเทศภาคีใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ หรือ UNFCCC ด้วยเป้าหมายหลักคือการพยายามรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกให้ไม่สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสจากยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยหากทรัมป์ถอนตัวจากความตกลงปารีสอีกครั้ง การควบคุมอุณหภูมิให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ก็จะกลายเป็นสิ่งที่แทบเป็นไปไม่ได้