อิทธิพลพายุโซนร้อน “จ่ามี” ทำฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคใต้ฝั่งตะวันตก

พายุโซนร้อนกำลังแรง “จ่ามี” ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก สำหรับภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนตกหนักบางแห่ง และจะมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคใต้ฝั่งตะวันตก  

วันนี้ (27 ต.ค.67) สำนักงานทรัพยากรน้ำแแห่งชาติ ประกาศ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำล้นตลิ่ง  คาดการณ์ ช่วงวันที่ 28 – 29 ต.ค. 67 ลมตะวันตกเฉียงเหนือและลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกับพายุโซนร้อนกำลังแรง “จ่ามี” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง คาดว่าจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก สำหรับภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนตกหนักบางแห่ง และจะมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคใต้ฝั่งตะวันตก

 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต เพื่อหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมรับมือสถานการณ์อุทกภัยและดินโคลนถล่ม ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี โดยกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) คาดการณ์ว่า ตั้งแต่วันนี้จนถึงช่วงสิ้นเดือน ต.ค. 67 จะมีฝนตกค่อนข้างมากในพื้นที่ จ.ภูเก็ต จากนั้นปริมาณฝนจะลดลงแต่ยังคงตกต่อเนื่องไปจนถึงช่วงสัปดาห์แรกของเดือน พ.ย. 67 ทั้งนี้ ปัจจุบันภาพรวมของ จ.ภูเก็ต มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำต่าง ๆ ค่อนข้างมาก รวม 94% ของความจุทั้งหมด

กรมชลประทานได้ระบายน้ำเพื่อพร่องน้ำออกจากอ่างฯ อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังคงเน้นย้ำให้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ของอ่างฯ แต่ละแห่งอย่างใกล้ชิด พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการเตรียมรับมือปัญหาดินโคลนถล่มเนื่องจากฝนตกหนัก ซึ่ง สทนช. ได้คาดการณ์พื้นเสี่ยงดินโคลนถล่มของ จ.ภูเก็ต จนถึงวันที่ 31 ต.ค. 67 ได้แก่ บริเวณ ต.ราไวย์ กะรน เชิงทะเล และกมลา และกรมทรัพยากรธรณีได้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และมีการประสานงานร่วมกับจังหวัดเพื่อแจ้งเตือนประชาชน โดย จ.ภูเก็ต ได้มีการเตรียมความพร้อมในการติดตั้งเครื่องมือและระบบสื่อสารต่าง ๆ เพื่อเป็นช่องทางในการแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้ง 49 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และ กทม. รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง ในช่วงวันที่ 28 – 29 ต.ค. 67 โดยกำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ สภาพน้ำ ปริมาณฝน และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดทีมปฏิบัติการและเครื่องจักรกลสาธารณภัยเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงเพื่อเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามพยากรณ์อากาศและปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด

ไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 4 (237/2567) ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2567 เวลา 11.00 น. แจ้งว่า พายุโซนร้อนกำลังแรง “จ่ามี” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน เคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกอย่างช้า ๆ คาดว่าจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตอนกลาง ในช่วงวันที่ 26 – 28 ตุลาคม 2567 โดยพายุนี้จะไม่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย แต่จะทำให้มีลมฝ่ายตะวันตกและลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดเข้าหาศูนย์กลางของพายุมีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้น ฝนตกหนักบางพื้นที่ และมีลมแรงบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง

หลังจากนั้นพายุจะเปลี่ยนทิศทางเคลื่อนตัวออกห่างจากชายฝั่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามกลับไปทางทะเลจีนใต้ตอนบน นอกจากนี้ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ในช่วงวันที่ 28 – 29 ตุลาคม นี้ ส่วนคลื่นลมในทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร โดยมีพื้นที่แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง ระหว่างวันที่ 28 – 29 ตุลาคม 2567 รวม 49 จังหวัด 

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานแจ้ง 49 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือกับปริมาณฝนที่ตกหนักหรือบริเวณฝนสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดอุทกภัยได้ โดยกำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ สภาพน้ำ และเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างต่อเนื่อง ตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้หากประเมินสถานการณ์แล้ว คาดว่าสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงหรือขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น ให้จังหวัดเตรียมเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการ เครื่องจักรกลสาธารณภัย และวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมออกช่วยเหลือประชาชนได้ทันทีที่เกิดสถานการณ์ ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ให้จังหวัดแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และแจ้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามข้อมูลสภาวะอากาศ สถานการณ์น้ำ และข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด ตลอดจนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น 

สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ขอให้ติดตามสภาพอากาศ ประกาศการแจ้งเตือนภัย สถานการณ์น้ำในพื้นที่ และข่าวสารจากทางราชการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น โดยสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” และหากมีความเดือดร้อนจากสาธารณภัยสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active