กำแพงกันคลื่นต้องทำ EIA มีผลบังคับใช้วันนี้ (7 มิ.ย. 66)

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงทรัพฯ กำแพงกันคลื่นทุกขนาดต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่จะไม่มีผลย้อนหลังกับโครงการที่มีการอนุมัติงบประมาณปี 2567 ไปแล้ว ‘Beach for life’ หวังภาครัฐเดินหน้าฟื้นฟูชายหาดจากผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว

7 มิ.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวานนี้ (6 มิ.ย.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ระบุ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 เพื่อให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

สาระสำคัญ คือ การก่อสร้างหรือขยายสิ่งก่อสร้างบริเวณหรือในทะเล คือ รอดักทราย เขื่อนกันทรายและคลื่น รอบังคับกระแสน้ำ แนวเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่งทะเล กำแพงติดแนวชายฝั่งทะเล ทุกขนาด ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA

อย่าไรก็ตาม ท้ายประกาศฉบับดังกล่าว ระบุ ไม่ให้ใช้บังคับกับโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการที่ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยผ่านการพิจารณาตามขั้นตอนการกลั่นกรองโครงการ ซึ่งได้รับความเห็นชอบตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ต่อสำนักงบประมาณแล้วก่อนที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ และประกาศนี้ให้ใช้บังคับนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งหมายถึงวันที่ 7 มิ.ย. เป็นต้นไป

ด้านตัวแทนเครือข่าย Beach for life ระบุว่า ก่อนหน้านี้มีความพยายามเรียกร้องให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี ที่ให้อำนาจกรมโยธาธิการและผังเมือง รับผิดชอบโครงการกำแพงกันคลื่น, กำแพงกันคลื่นต้องกลับมาทำ EIA และฟื้นฟูชายหาดที่เสียหายจากกำแพงกันคลื่น 

ฉะนั้น ประกาศฉบับนี้เป็นกระดุมเม็ดแรกที่ทำให้เห็นว่ารัฐตระหนักและยอมรับว่ากำแพงกันคลื่นมีผลกระทบจริง ๆ ประกาศนี้เป็นการวางหลักประกันสิทธิ ก่อนโครงการจะเกิดขึ้น แต่ในส่วนของพื้นที่ที่มีการสร้างกำแพงกันคลื่นและเกิดความเสียหายไปแล้ว หากจะต้องฟื้นฟู รื้อหรือเติมทรายก็ควรจะต้องมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเช่นกัน 

“การประกาศให้มีการกลับไปทำ EIA กับโครงการกำแพงกันคลื่นเป็นหนึ่งในสามข้อเรียกร้องของทางกลุ่มเรา ส่วนในอีกสองข้อเรียกร้องที่ว่าด้วยการยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่ให้อำนาจกับกรมโยธา และการฟื้นฟูชายหาดจะเป็นขั้นต่อไปที่รัฐบาลจะต้องเร่งพิจารณา เพราะถ้าดำเนินการตามสามข้อเรียกร้อง เราเชื่อว่าชายหาดในประเทศไทยจะถูกฟื้นฟูกลับมา และกำแพงกันคลื่นจะลดลง”

ทั้งนี้ ยังกล่าวอีกว่า กำแพงกันคลื่นไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่การใช้ต่างหากที่มีปัญหา ดังนั้น ควรจะมีการควบคุมการใช้ให้มีความเหมาะสมและรอบคอบมากกว่า  


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active