เกษตรกร จ.พระนครศรีอยุธยา สะท้อนการเยียวยาน้ำท่วมที่ล่าช้า และไม่สอดคล้องกับความเสียหายจริง ส่งผลให้เกษตรกรต้องกลับเข้าสู่วังวนหนี้ ด้านผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท แนะภาครัฐตั้งกรรมการร่วมจากผู้นำชุมชน หรือพยานในพื้นที่ หวังช่วยให้การประเมินเงินชดเชยเป็นไปตามจริง
แม้น้ำท่วมจะคลี่คลายไปแล้ว แต่น้ำท่วมปี 2565 ก็ยังทิ้งร่องรอยความเสียหายไว้ถึง 63 จังหวัด กว่า 2 แสนครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงเกษตรกร ที่อาชีพต้องอยู่กับความไม่แน่นอนของฟ้า-ฝน แม้น้ำจะลดก็อาจต้องเจอกับปัญหาหนี้สินตามมา
8 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม.ได้อนุมัติวงเงินเยียวยาน้ำท่วมรอบล่าสุดวงเงิน 7 พันล้านบาท โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีก็ย้ำว่า ให้เร่งเยียวยาแม้น้ำจะยังลดไม่หมด ในขณะที่ชีวิตหลังน้ำท่วม ของเกษตรกรที่อยู่ใน อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลายคนต้องกลับเข้าสู่วังวนหนี้ซ้ำ
เรณู กสิกุล เกษตรกรอำเภอบางบาล จังหวัดนครศรีอยุธยา บอกว่า 1-2 ปีที่ผ่านมาแม้ต้องเจอกับปัญหาน้ำท่วมก็ไม่หนักหนาเท่ากับปีนี้ เพราะปีนี้ระดับน้ำสูงไปถึงชั้น 3 ของบ้าน ความสูงของน้ำอยู่ที่ 3.20 เมตร ซึ่งถือว่าหนักที่สุดมากกว่าปี 2554 ส่งผลให้บ้านเสียหายหนัก และยอมรับว่าเมื่อน้ำลดแล้ว ก็คงต้องกู้เงินมาซ่อมแซมอีกครั้ง แม้จะไม่คุ้ม แต่ก็ต้องทำใจ
“น้ำท่วมรอบที่แล้วได้รับเงินเยียวยาประมาณ 5 พันบาท แต่ก็ไม่พอกับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม ต้องไปกู้เงินจากสหกรณ์ และ ธ.ก.ส.เป็นทางออกสุดท้าย แม้มันจะเป็นการกลับเข้าสู่วงจรหนี้สิ้นอีกครั้ง”
เรณู ยังกล่าวอีกว่าปัจจุบันภาครัฐยังมีข้อจำกัดของการชดเชยเงินเยียวยาที่อาจไม่เพียงพอต่อการซ่อมแซมตามจริงเพราะบางครั้งไม่เข้าเงื่อนไข ทางเลือกเดียวที่จะฟื้นฟูชีวิตเกษตรกรคือการไปกู้ ธ.ก.ส.ซึ่งเชื่อว่า ปีนี้อาจต้องกู้เงินเพิ่มอีก 2 แสนบ้านเพื่อมาซ่อมแซมบ้าน
ขณะที่มติ ครม.เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา วงเงิน 7,000 ล้านบาท เพื่อเยียวยาน้ำท่วมรอบล่าสุด เช่น
- ท่วมนาน 1 เดือน เยียวยา 5,000 บาท/ครัวเรือน
- ท่วมนาน 2 เดือน เยียวยา 6,000 บาท/ครัวเรือน
- ท่วมนาน 3 เดือน เยียวยา 7,000 บาท/ครัวเรือน ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการเพื่อจ่ายเงิน
ไมตรี จงไกรจักร ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท บอกว่า หลังเกิดภัยพิบัติในไทย เสียงสะท้อนที่ได้ยินจากภาคประชาชนคือการชดเชยที่ไม่คุ้มกับความเสียหาย โดยวิเคราะห์ว่าปัญหาอาจเกิดจากระบบการสำรวจที่มักมีเพียงหน่วยงานเดียวในการตัดสินใจตามเกณฑ์ที่กำหนดบนแบบฟอร์มที่มีอยู่แล้ว
จึงเสนอให้มีคณะกรรมการร่วมโดยมีผู้นำหมู่บ้านหรือ พยานในพื้นที่ร่วมด้วย เพื่อให้ตรงกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง ขณะที่งบประมาณในการจัดการภัยพิบัติก็ต้องกระจายให้ท้องถิ่นสามารถจัดการตัวเองได้
ข้อมูลจาก มิวนิก รี บริษัทนายหน้าประกันภัยระดับโลก พบว่าในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา หายนภัยครั้งใหญ่ที่สร้างความเสียหายมหาศาล มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากปัจจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงมีแนวคิดรูปแบบของการชดเชยเยียวยา เช่น กฎหมายว่าด้วยการละเมิด,การประกันภัยบุคคล และกองทุนประกันภัย ขึ้นกับบริบทของแต่ละพื้นที่
ระหว่างเวทีสะท้อนการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในไทยเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน ซึ่งมีผู้แทนสหประชาชาติ สมาชิกรัฐสภา นักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เห็นตรงกันว่า ต้องมีการออกแบบนโยบายที่ทันสมัยกับสถานการณ์ที่มีแนวโน้มมากขึ้น รวมถึงการชดเชยเยียวยาที่เป็นธรรม และระหว่างรอมาตรการชดเชยเยียวยา สิ่งสำคัญที่ต้องทำควบคู่กันไป คือ การสร้างชุมชุนเข้มแข็งให้สามารถรับมือ และจัดการภัยพิบัติได้ เพราะจะเป็นตัวช่วยสำคัญเพื่อลดทั้งความสูญเสีย และงบประมาณในการเยียวยา