ชาวนครปฐมเตรียมบิ๊กแบ็กรับมือน้ำทะเลหนุนสูงอีกครั้ง 11 พ.ย. นี้

ปัจจุบันแม่น้ำท่าจีนบางอำเภอระดับน้ำยังทรงตัวและล้นตลิ่ง กองทัพเรือเร่งเพิ่มจุดติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ รวม 30 เครื่อง ระบายน้ำออกทะเล อีกหลายหน่วยงานพร้อมเริ่มติดตั้งชีทพาย-บิ๊กแบ็กปิดคลองบางแก้ว ลดท่วมพื้นที่ชุมชน-เขตเศรษฐกิจ

ประเชิญ คนเทศ ที่ปรึกษาชมรมเรารักษ์แม่น้ำท่าจีน ว่า จากการลงเรือสำรวจสภาพน้ำในแม่น้ำท่าจีนพบว่าระดับน้ำยังคงทรงตัว เนื่องจากมีปริมาณน้ำที่ระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำและจากลำน้ำสาขา อาทิ คลองพระพิมล คลองโยง ที่ไหลเข้ามาสมทบเพิ่มเติมเข้าสู่แม่น้ำท่าจีน ประกอบกับน้ำทะเลที่หนุนสูงในช่วงเวลานี้ ซึ่งจะหนุนสูงสุดอีกครั้งในวันที่ 11 พ.ย.นี้ ที่สำคัญยังพบว่า เรือขนสินค้าก็เป็นอุปสรรคสำคัญกับการระบายน้ำด้วยส่วนหนึ่ง  

สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)  ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า เรือขนสินค้าก็เป็นอุปสรรคสำคัญกับการระบายน้ำด้วยส่วนหนึ่ง  โดย สทนช. ภาค 2 จะมีการประสานกรมเจ้าท่า และจังหวัดนครปฐม เพื่อพิจารณาดำเนินการประสานขอความร่วมมือผู้ประกอบการจัดระเบียบเรือขนส่งในช่วงที่เร่งระบายน้ำในช่วงนี้ด้วยเช่นกัน

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ สทนช.ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการเร่งด่วนโดยการวางบิ๊กแบ็กปิดคลองบางแก้วเพื่อป้องกันน้ำจากแม่น้ำท่าจีนไหลเข้าคลองบางแก้ว พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำออกจากคลองบางแก้วลงสู่แม่น้ำท่าจีน ซึ่งกรมชลประทานได้ดำเนินการสำรวจและวางเครื่องจักรเครื่องมือพร้อมแล้ว ซึ่งในวันที่ 9 พ.ย.นี้ จะเริ่มวางโครงสร้างกำแพงเหล็ก หรือชีทพาย ก่อนวางบิ๊กแบ็กเพื่อปิดคลองบางแก้วซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนที่น้ำทะเลหนุนสูงสุด

เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ยังกล่าวอีกว่า ศูนย์อำนวยการน้ำส่วนหน้าฯ ภาคกลาง ได้ประสานกองทัพเรือเพิ่มจุดติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำสะพานวัดเทียนดัดอีกจำนวน 30 เครื่องซึ่งจะติดตั้งแล้วเสร็จทั้งหมดภายในคืนนี้ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลได้เร็วขึ้น  

โดยสถานการณ์น้ำแม่น้ำท่าจีนปัจจุบันระดับน้ำที่ อ.นครชัยศรี ยังคงสูงกว่าระดับตลิ่งประมาณ 30 เซนติเมตร ขณะที่
อ.สามพราน ปัจจุบันระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 85 เซนติเมตร แต่ยังต้องเฝ้าระวังในช่วงวันที่ 11 พ.ย.นี้ ที่อาจจะส่งผลกระทบที่น้ำจะเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมน้ำได้ ซึ่งหน่วยงานท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้วางกระสอบทรายเพื่อป้องกันผลกระทบแล้วเช่นกัน

สำหรับสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาระดับน้ำยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ 1,094 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งเป็นผลจากการบริหารจัดการน้ำ เร่งระบายน้ำ สูบน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขังทำให้ระดับน้ำลดลงเร็วกว่าแผนได้ถึงประมาณสองสัปดาห์ รวมถึงการเร่งแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำที่ท่วมขัง ควบคู่กับการเร่งมาตรการฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วตามระเบียบราชการโดยเร็วต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active