น้ำท่วมลุ่มเจ้าพระยา คาดนานกว่า 1 เดือน ถึงจะกลับสู่ภาวะปกติ หากฝนไม่เพิ่ม

นักวิชาการ เผย ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีมวลน้ำท่วมกว่า 5,100 ล้าน ลบ.ม. เทียบเท่ากับปริมาณน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ครึ่งเขื่อน คาดการณ์หากไม่มีฝนเพิ่ม ประมาณกลาง​ พ.ย. ​จะเข้าสู่ภาวะปกติ คาด กทม. ฝนเดือนต.ค. มากกว่าปกติร้อยละ 48

วันนี้ (8 ตุลาคม 2565) ผศ.ภาณุวัฒน์ ปิ่นทอง หัวหน้าศูนย์วิจัยวิศวกรรมน้ำและโครงสร้างพื้นฐาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า น้ำท่วมครั้งนี้ คือบททดสอบการบริหารจัดการน้ำที่จำเป็นจะต้องบูรณาการอย่างเเท้จริงระหว่าง หน่วยงานรัฐ ท้องถิ่น เเละประชาชน จากสถานการณ์ปีนี้ที่เป็นลานีญา ​เราทราบกันดีตั้งเเต่ต้นปีแล้วว่าจะมีน้ำมาก ซึ่งทาง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ร่วมกับหน่วยงาน วางแผนการเพาะปลูกในฤดูฝน ในพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อให้มีการเก็บเกี่ยวก่อนรับน้ำหลากในเดือน ก.ย. ถึง ต.ค.

แต่เหตุการณ์ปัจจุบันกลับพบว่า หลายทุ่งของพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำ กลับมีพื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหาย ซึ่งทำให้เกิดความยากต่อการบริหารจัดการของลุ่มน้ำเจ้าพระยาในช่วงเวลานี้เป็นอย่างมาก จึงอาจจะต้องมีการทบทวนถึงมาตรการต่าง ๆ มาประกอบ เช่น การกระจายน้ำรับเข้าระบบทางน้ำเเละเเหล่งน้ำในพื้นที่ต้นน้ำ การหน่วงน้ำในพื้นที่กลางน้ำ เเละในพื้นที่ปลายน้ำต้องหาวิธีเร่งระบายน้ำลงสู่ทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ

“สิ่งเหล่านี้ล้วนเเต่มีความสำคัญ ตลอดจนการประสานกับจังหวัดเเละท้องถิ่นให้ร่วมปฏิบัติการตามแผน ทั้งในเรื่องการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับสภาพของแต่ละพื้นที่ รับน้ำในช่วงเวลาที่เเตกต่างกัน เเละการป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจที่อาจได้รับความเสียหาย ก็จะทำให้สามารถก้าวข้ามปัญหา เพื่อมุ่งสู่การบริหารจัดการน้ำให้กับพื้นที่เกษตรกรรมตามเป้าหมาย BCG ได้อย่างเต็มศักยภาพ”​

ผศ.ภาณุวัฒน์ ยังกล่าวอีกว่า สถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยาต่อจากนี้ในเดือน ต.ค. ยังคงน่าเป็นห่วงจากฝนคาดการณ์ที่ตกมากกว่าค่าปกติอยู่ร้อยละ 20 ซึ่งได้มีการหาพื้นที่หน่วงน้ำและชะลอน้ำบางส่วนในพื้นที่ตอนบนเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพื่อลดผลกระทบในพื้นที่ตอนล่าง แต่ช่วงเวลาที่ผ่านมามีปริมาณฝนตกหนักกันทุกลุ่มน้ำปิง วัง ยม และน่าน ทำให้น้ำเหนือมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ระดับน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ มีแนวโน้มอาจเพิ่มขึ้นเป็น 3,300 ลบ.ม. ต่อวินาที ซึ่งทำให้เขื่อนเจ้าพระยาอาจจำเป็นต้องเพิ่มการระบายเป็น 3,000 ลบ.ม. ต่อวินาที และยิ่งไปกว่านั้นเขื่อนป่าสักฯ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเก็บกักร้อยละ 112 เกินความจุสูงสุด จึงมีความจำเป็นต้องคงการระบายอยู่ที่ 900 ลบ.ม. ต่อวินาที ต่อเนื่องไปจนกว่ามวลน้ำท่วมทางเหนือเขื่อนจะลดลง

“ปริมาณน้ำที่บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา จึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้ถึง 3,500 ลบ.ม. ต่อวินาที ทั้งนี้ หลังจากกลางเดือนนี้ เมื่อสภาพฝนทางยมน่านลดลง และสถานการณ์น้ำตอนล่างเริ่มคลี่คลาย จะต้องมีการวางแผนทยอยการระบายมวลน้ำท่วมทั้งหมดประมาณ 5,100 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งอยู่เหนือเขื่อนเจ้าพระยาประมาณ 3,600 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งคาดว่าหากไม่มีฝนมาเพิ่ม จะใช้เวลาระบายน้ำจนกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน นี้”

ในส่วนของปทุมธานียังคงมีความเสี่ยงต่อน้ำท่วมขังจากปริมาณฝนตกหนักในพื้นที่เมือง คลองหลวง หนองเสือ และลำลูกกา และกรุงเทพมหานครซึ่งคาดว่าจะมีฝนตกหนักมากกว่าค่าปกติในเดือน ต.ค. ถึงร้อยละ 48 ซึ่งหากเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องเหมือนกับที่ผ่านมาจะทำให้เกิดน้ำท่วมขังจากการระบายน้ำไม่ทันใน 17 เขต คือ ดอนเมือง หลักสี่ บางเขต สายไหม บางซื่อ ห้วยขวาง ตลิ่งชัน บางกอกน้อย ทวีวัฒนา ภาษีเจริญ บางแค หนองเขม จอมทอง ราษฎร์บูรณะ บางขุนเทียน ทุ่งครุ และบางนา

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active