ฝายชั่วคราววังบัว ถูกน้ำกัดเซาะขาด 40 เมตร หลังฝนตกหนัก

อิทธิพลของพายุหมาอ๊อน และร่องมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้มีปริมาณฝนตกชุกต่อเนื่องในพื้นที่จ.กำแพงเพชร รวมทั้งพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำปิงและแม่น้ำวังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้น

จักรพันธ์ จารุวัฒน์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาวังบัว เปิดเผยว่า ในช่วงเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ที่สถานีวัดน้ำ W.4A แม่น้ำวัง อ.สามเงา จ.ตาก มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 511.50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลลงแม่น้ำปิง ที่สถานี P.7A อ.เมือง จ.กำแพงเพชร มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 477.90 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จนทำให้ระดับน้ำไหลข้ามฝายชั่วคราววังบัว สูง 1.09 เมตร ประกอบกับสภาพลำน้ำด้านเหนือของฝายชั่วคราววังบัว มีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการตกตะกอนทับถมบริเวณด้านเหนือ ส่งผลต่อการไหลของน้ำผ่านสันฝายจนเกิดการกัดเซาะตัว ทำให้ฝายชั่วคราววังบัวบริเวณฝั่งตำบลเทพนคร อ.เมืองกำแพงเพชร ตั้งแต่ กม.0+170 – กม.0+210 เกิดการชำรุดขนาดกว้างประมาณ 40 เมตร

ปัจจุบัน ฝายชั่วคราววังบัวยังไม่สามารถรับน้ำเข้าคลองส่งน้ำสายใหญ่วังบัว เพื่อส่งน้ำให้กับเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวต่อเนื่อง พื้นที่ประมาณ 145,351 ไร่ ในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาวังบัวได้ ในเบื้องต้นได้ประสานไปยังโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง ขอสนับสนุนน้ำ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกข้าว ผ่านคลองชักน้ำสาย 2R-MC ในอัตรา 20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผลผลิตทางการเกษตร

ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาวังบัว เปิดเผยอีกว่า สำหรับแนวทางการซ่อมแซมปรับปรุงฝายชั่วคราววังบัวให้มีความมั่นคงแข็งแรง นั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางในการซ่อมแซมระยะเร่งด่วนและปรับปรุงฝายในระยะยาว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาวังบัวและประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง

สำหรับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาวังบัว มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวรวมทั้งสิ้นประมาณ 425,841 ไร่ ปัจจุบันเก็บเกี่ยวแล้วประมาณ 278,054 ไร่ ยังคงเหลือพื้นที่ที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวอีกประมาณ 147,787 ไร่ คาดว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จทั้งหมดในกลางเดือนตุลาคม 2565 จึงขอความร่วมมือจากเกษตรกรที่ได้ทำการเพาะปลูกข้าวนาปีและเก็บเกี่ยวแล้ว ขอให้งดการทำนาปีต่อเนื่อง หากจะดำเนินการปลูกข้าวต่อเนื่อง ให้พิจารณาวางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำในแหล่งน้ำสำรอง ในพื้นที่ของตนเองเป็นหลัก เพื่อลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้

ด้านกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ดังนี้

  • พื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำระดับน้ำท่วมขังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.30 – 0.50 ม. ในช่วงวันที่ 31 ส.ค. – 10 ก.ย. 65
    ลุ่มน้ำชี
  • ลำน้ำพรมและลำน้ำเชิญ บริเวณ จ.ชัยภูมิ
  • แม่น้ำชีและลำน้ำพอง บริเวณ จ.ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ยโสธร และร้อยเอ็ด
  • ลำน้ำยัง บริเวณ จ.กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด
    1.2 ลุ่มน้ำมูล
  • แม่น้ำมูล บริเวณ จ.นครราชสีมา ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
  • ลำโดมใหญ่ บริเวณ จ.อุบลราชธานี
  • ลำเซบก บริเวณ จ.อุบลราชธานี

สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังในส่วนของ แหล่งน้ำและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรน้ำมากเกินเกณฑ์ควบคุม จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ อ่างฯ แม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ อ่างฯ แควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก อ่างฯ น้ำพุง จ.สกลนคร อ่างฯ อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น อ่างฯ ขุนด่านปราการชล จ.นครนายก และอ่างฯ นฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี รวมทั้งอ่างฯ ขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active