ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ ชี้ ไทยไร้แผนรองรับสภาพอากาศแปรปรวน

เวที “วิกฤตสยามสามน้ำ” ระดมสมองแก้น้ำท่วมซ้ำซาก แนะว่าที่ผู้ว่าฯกทม. เคร่งครัดใช้ผังเมืองไม่ปล่อยให้เกิดการลุกล้ำพื้นที่ป้องกันภัยสาธารณะ ย้ำต้องไม่ปกป้องน้ำท่วมแค่ กทม. แต่ต้องมองภาพรวมลุ่มน้ำทั่วประเทศ

ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งเป็นปัญหาคลาสิกที่สังคมไทยต้องเจอ มีหลายเหตุการณ์ที่สะท้อนว่าสถานการณ์กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น จากสภาพอากาศที่แปรปรวน The Active เล็งเห็นถึงความสำคัญแก้วิกฤตน้ำ และหวังให้พลเมืองตื่นตัว และเตรียมความพร้อมรับมือกับวิกฤต ติดอาวุธให้ประชาชนก่อนวันเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. จะมาถึงเร็วๆนี้

สยามสามน้ำ

สำหรับช่วงแรกเป็นเวทีการพูดคุยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการด้านน้ำ เพื่อสะท้อนสาเหตุน้ำท่วม และผลกระทบที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ผ่านเวทีช่วงที่ 1 “เทศกาลพลเมือง ร่วมเปลี่ยนแปลง เวทีเสวนาวิกฤตสยาม 3 น้ำ”

รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ และ นิตยา กีรติเสริมสิน ผู้ดำเนินรายการ อธิบายเพิ่มเติมว่า “สยาม 3 น้ำ” มีความหมายถึง “น้ำฝน-น้ำหนุน-น้ำหลาก” ที่ส่งผลกระทบกับ กทม. และจังหวัดใกล้เคียง เช่น น้ำเหนือที่ไหลเข้าท่วม กทม.ในปี 2554 ฝนที่ตกและรอการระบาย รวมถึงความไม่แน่นอนจากน้ำหนุนของทะเล ขณะที่ผังเมืองภาพรวมก็เริ่มเห็นพื้นที่ซับน้ำลดน้อยลง จึงมีความกังวลว่า อนาคตไทยจะรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้หรือไม่

ความแปรปรวนสภาพอากาศ กับการปรับตัวของผู้คน

ผศ.สิตางศุ์ พิลัยหล้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า การพูดถึงน้ำท่วม ทำให้เราลืมไปเลยว่า มีฤดูแล้ง ซึ่งจริงๆ แล้ว เป็นเรื่องความสมดุลของทรัพยากร ต้องเก็บส่วนที่เกินเอาไว้ใช้ตอนขาดแคลน หรือระบบการจัดการน้ำนั่นเอง แต่ที่ผ่านมา ทุกหน่วยงานมักจะปกป้อง กทม. โดยไม่ได้ดูภาพรวม

“น้ำที่มาจากภาคเหนือผ่านสุโขทัย มีน้ำบางส่วนไหลผ่านทุ่งบางระกำ ผ่านอยุธยาอีก 12 ทุ่งรับน้ำ ที่ผ่านมาก็ถือว่า กทม.รอด มีวันที่ไม่รอด คือ ช่วงที่น้ำเจ้าพระยาเต็ม และน้ำทะเลหนุน…”

ผศ.สิตางศุ์ พิลัยหล้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
สิตางค์

อ.สิตางศุ์ อธิบายต่อว่า กทม.มีพื้นที่ฟันหลอ คือ ไม่มีคันกั้นน้ำ เพราะ กทม.สร้างไม่ได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ของหน่วยงานรัฐอื่น เช่น กรมเจ้าท่า ซึ่งยังไม่พูดถึงการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยย้ำว่า กทม.ไม่ได้ขาดองค์ความรู้ แต่เข้าใจว่าเวลาแก้ปัญหามักจะติดปัญหาระบบ และระดับบริหารที่อาจจะไม่ให้ความสำคัญเรื่องนี้

แม้จะมีหน่วยงานเยอะ มีงบประมาณด้านน้ำกว่าแสนล้านบาท แต่ยังไม่เห็นการให้ความสำคัญของสภาพอากาศที่กำลังเปลี่ยนแปลงเลย

เสนอผู้ว่าฯกทม. ควรมองสถานการณ์เลวร้ายสุด (Worst case scenario) ภายใต้ข้อมูลว่าหาก น้ำทะเลหนุนเพิ่มขึ้น เพียง 20 ซม. จะทำให้ กทม. เสี่ยงติดอันดับโลก และอีก 10 ปี กทม.อาจจะจม…”

ผศ.สิตางศุ์ พิลัยหล้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์

แนะบังคับใช้ กฎหมายผังเมือง อย่างเคร่งครัด ไม่ปล่อยให้ลุกล้ำพื้นที่ป้องกันภัยสาธารณะ

พงษ์สวัสดิ์ อักษรสวาสดิ์ อุปนายกสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม ด้านกฎหมาย ระบุว่า ขณะนี้ไทยใช้กฎหมายผังเมืองฉบับปี 2562 ประกาศมีผลบังคับใช้เป็นปีที่ 3 แล้ว กทม.มีกฎกระทรวงบังคับใช้เป็นผังเมืองรวม ไม่ใช่ผังเมืองเฉพาะ ซึ่งมีความใกล้เคียงกับ กฎหมายผังเมืองในปี 2556 ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในการกำหนดพื้นที่พักน้ำ ระบายน้ำ และป้องกันน้ำท่วม ขณะเดียวกันยังให้อำนาจรัฐ และเอกชนเวรคืนที่ดินได้ แต่ต้องมีค่าชดเชยเพื่อให้ผังเมืองเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้

โดยสรุปตอนนี้เราอยู่ภายใต้กฎหมายผังเมืองปี 62 ซึ่งไม่ต่างจากปี 56 ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้แก้ปัญหาให้กับประชาชนได้อย่างครบถ้วน ยกระดับประชาชนให้มีสิทธื์ มีส่วนร่วม และให้สิทธิ์ประชาชนโดยตรงเพิ่มเติมกฎหมายได้ด้วย

แต่กฎหมายผังเมืองปี 62 เกิดปัญหาเพราะไทยมีกฎหมายหลายฉบับ เช่น กฎหมายที่ดินที่อนุญาตให้ สร้างบ้านได้โดยไม่ต้องดูผังเมือง จึงจำเป็นต้องหันมาปฏิบัติตามกรอบกฎหมายอย่างเคร่งครัด

พื้นที่สีเขียว เป็นพื้นที่โล่งภาคการเกษตร จะต้องถูกใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า… เราต้องไม่ปล่อยให้การจัดสรรของเอกชนเข้าไปล่วงล้ำชุมชน ที่ใช้เพื่อป้องกันภัยสาธารณะ”

พงษ์สวัสดิ์ อักษรสวาสดิ์ อุปนายกสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม ด้านกฎหมาย

พงษ์สวัสดิ์ ยังฝากถึงระดับนโยบาย และผู้ว่าฯ กทม.ว่า วันนี้จะแก้ปัญหาน้ำท่วม แก้เฉพาะพื้นที่ กทม.ไม่ได้อีกต่อไป ต้องมองภาพรวมทั้งลุ่มน้ำทั่วประเทศอีกด้วย

“ต่อไปนี้จะแก้ปัญหาเฉพาะ กทม.ไม่ได้แล้ว ต้องมองภาพรวมทั้งลุ่มน้ำทั่วประเทศผมเสนอว่า ท่านที่จะมาเป็นผู้ว่า กทม. ต้องเอาปัญหาประชาชนเป็นตัวตั้ง และเอากฎหมายที่มีอยู่แล้วมาแก้ปัญหา

พงษ์สวัสดิ์ อักษรสวาสดิ์ อุปนายกสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม ด้านกฎหมาย

เร่งแก้น้ำท่วมภาพรวม ไม่ใช่ปกป้องแค่ กทม.

สอดคล้องกับ ศ.หรรษา วัฒนานุกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำและวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มองว่า ะบบระบายน้ำของไทย ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้น้ำท่วมขังหลายพื้นที่ อุณหภูมิสูงขึ้น และมีอุทกภัยติดอันดับโลก มองเฉพาะแค่ กทม. และปริมณฑล ตั้งอยู่บนพื้นที่สามเหลี่ยมดินดอนปากแม่น้ำ การจัดการระบบจึงต้องคิดอย่างเป็นระบบองค์รวม รวมถึงปัจจัยการเกิดน้ำท่วมหนักที่ต้องดูทั้งเรื่องน้ำทะเลหนุน และการทรุดตัวของผืนดินควบคู่กัน

พร้อมเสนอให้การแก้ปัญหานับจากนี้ ใช้องค์ความรู้ทางธรรมชาติควบคู่กับหลักการทางวิศวกรรมเข้ามาแก้ปัญหา เนื่องจากงบประมาณประเทศไทยยังมีจำกัด

“ก่อนหน้านี้ น้ำทะเลซีกโลกเหนือเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ น้ำทะเลหนุนในไทยเพิ่มขึ้นไม่มาก แต่กลับมีพื้นที่หายไป ซึ่งการศึกษาใหม่พบว่าเป็นผลมาจากแผ่นดินทรุดตัวมากขึ้น”

ศ.หรรษา วัฒนานุกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำและวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม

ขณะที่ .กิตติคุณ เดชา บุญค้ำ ศิลปินแห่งชาติสาขาภูมิสภาปัตยกรรม ระบุว่า วิกฤตหลายอย่างที่เกิดขึ้น มาจากการปล่อยปละละเลยการวางแผนระยะยาว ซึ่งที่ผ่านมา เมืองขยายตัวและขาดการวางแผนการใช้ที่ดินเป็นอย่างมาก การแก้ปัญหาน้ำท่วม กทม. จึงต้องคำนึงถึงจังหวัดใกล้เคียง และบริหารผังเมืองตามระบบที่มีอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือ กฎหมายควบคุมการก่อสร้าง แต่ขาดการขออนุญาตวางแผนก่อสร้าง หรือ planning permit จึงควรเริ่มต้นการแก้ปัญหาโดยกำหนดขอบเขต และให้มีการขออนุญาตวางแผนก่อนก่อสร้างอะไรในผังเมือง ก็จะช่วยพัฒนาเมืองได้อย่างมีทิศทางมากขึ้นด้วย

วีระพันธุ์ ชินวัตร อุปนายก สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม สรุปถึงปัญหาในการทำงาน ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำ จำเป็นต้องบูรณาการกฎหมายทุกฉบับให้ครอบคลุมการแก้ปัญหา เพราะ

แม้กฎหมายจะล้ำสมัยเพียงใด แต่หากต่างคนต่างทำ มีอำนาจเป็นของตัวเอง ก็จะยิ่งยากในการประสานงาน และไม่สามารถแก้ปัญหาประชาชนได้อย่างแท้จริง ผู้นำจึงจำเป็นต้องหันมามอง ความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศให้มากขึ้น โดยเริ่มต้นจากการปรับผังเมืองใหม่…”

วีระพันธุ์ ชินวัตร อุปนายก สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน