เกมอำนาจ มากกว่าประโยชน์สาธารณะ | สรกล อดุลยานนท์

“การเมืองไทย แยกอภิปราย​ส่วนอภิปราย​ โหวตส่วนโหวต​ และการโหวตไม่ได้หมายความว่าใครน่าเชื่อถือกว่าใคร​ หรือใครไม่น่าไว้วางใจ​ มันขึ้นอยู่กับว่า​ ส.ส. จะเสียบแทงใคร​ เป็นเรื่องของอำนาจ POWER GAME ในวงการการเมือง ไม่ใช่เรื่องประโยชน์สาธารณะ”

“ที่ท่านกล่าวมาทั้งหมดไม่เป็นความจริง” มิติใหม่ ชี้แจงในศึกอภิปรายฯ

การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา​ เห็นวิวัฒนาการ​ การตอบคำถามของ​ “พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี​ และ “พลเอก ประวิตร​ วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี​ โดยเฉพาะการตอบที่การตอบคำถามชี้แจงผู้อภิปรายของ​พลเอก ประวิตร​ ว่า “ที่ท่านกล่าวมาทั้งหมดไม่เป็นความจริง” แล้วเดินออกไป นับเป็นมิติใหม่ของการชี้แจงในสภา ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

ขณะเดียวกัน การเตรียมข้อมูลของพรรคฝ่ายค้าน​ ทั้งพรรคก้าวไกลและเพื่อไทย ถือว่ามีประเด็นที่ทำให้สังคมต้องตรวจสอบและสื่อมวลชนควรติดตาม ทั้งเรื่องของตั๋วช้าง, เหมืองทองอัครา​ รวมถึงเรื่องอื่น ๆ

อีกข้อสังเกตหนึ่ง คือ ภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป เดิมคนดูถ่ายทอดสดทางทีวีในช่วงเวลาไพรม์ไทม์​ แต่ปัจจุบันคนดูย้อนหลังประกอบกับมีการตัดคลิปอภิปราย​สั้น​ มาลงใน Social Media ทำให้ถูกแชร์ออกไปและถูกพูดถึงกว้างขวางมากขึ้น

ขณะที่​การชี้แจงของรัฐบาลมีความแตกต่างไปจากเดิม ที่กลุ่มข้าราชการ​ต้องทำข้อมูลและส่งข้อมูลให้กับรัฐมนตรีชี้แจงในสภา​ แต่การอภิปรายครั้งนี้ ยกตัวอย่างกรณี​ “วัคซีน” ที่ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อวัคซีน มาตั้งโต๊ะแถลงที่สภาด้วยตัวเอง พร้อมกับไลฟ์สดทาง Facebook ช่วงชิงพื้นที่ข่าว​ และอธิบายชี้แจง​ ตอบโต้​ ปมปัญหาอย่างทันทีทันควัน ขณะที่ อนุทิน ไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดต่อสภามากนัก เน้นสร้างวาทกรรม นับเป็น​ “การเลือกสนามที่เก่งกว่า”

เปิดแผลระบบอุปถัมภ์ งูเห่า และเปิดเกมแค้น

ส่วนประเด็นที่ผู้คนสนใจ อย่างเรื่อง ตั๋วช้าง เป็นการให้อำนาจจากภายนอกแทรกแซงระบบ​ ที่อภิปรายโดย “รังสิมันต์​ โรม” ส.ส.พรรคก้าวไกล​ ถูก ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาล​ ประท้วงขัดขวางการอภิปรายจนฟังแทบไม่รู้เรื่อง แต่ก็ได้ใช้พื้นที่ใน Social Media ในการอธิบายเรื่องนี้อย่างละเอียด และถูกแชร์ออกไปจำนวนมากเช่นกัน ทำให้ผู้คนไม่ได้สนใจว่าในสภาจะมีการอภิปรายอย่างไร แต่ใช้จังหวะการอภิปรายในการเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริง​ และปฏิเสธไม่ได้ว่าบางประเด็นรัฐบาลชี้แจงไม่ชัดเจนหลายเรื่อง​ โดยใช้ลูกเล่นทางการเมือง เช่น​ รับทราบเรื่องเอาไว้แล้วจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ หรือไม่ก็สร้างประเด็น​ เพื่อแย่งชิงพื้นที่ข่าวสาระสำคัญจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เช่น​ การห้อย​ “หลวงพ่อป้อม” ของ “สิระ​ เจนจาคะ” ส.ส.พรรคพลัง​ประชารัฐ​

หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจเสร็จสิ้น​ และจบลงด้วยการโหวตให้กับ 10 รัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย ไม่เหนือความคาดหมายว่าทุกคนจะรอดด้วยรัฐบาลครองเสียงข้างมากในสภา​ แต่มีประเด็นให้คิดต่อสำห​รับ​จำนวนคะแนนไว้วางใจรายบุคคล ของรัฐมนตรี​ สะท้อนเกมการเมืองและสิ่งที่เรียกว่า​ “งูเห่า” ให้เห็นเด่นชัด​ เป็นผลพวงมาจากรัฐธรรมนูญปี 60 ที่ทำให้ ส.ส. มีราคาค่าตัวมากขึ้น เพราะเปิดโอกาสให้ย้ายพรรคได้ โดยไม่ต้องหลุดออกจากสภาพการเป็น​ ส.ส.

กรณีที่น่าสนใจ คือ​ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข​ จากพรรคภูมิใจไทย ที่ได้คะแนนไว้วางใจมากที่สุด 275 เสียง​ โดยมี​ 4​ ส.ส.พรรคก้าวไกล ยกมือให้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็เสียคะแนนจากฝั่งพรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลจากกลุ่มดาวฤกษ์​ นำโดย ​“มาดามเดียร์​” วทันยาวงษ์โอภาสี​ ภรรยาของ​ “ฉาย บุนนาค” ประธานเครือเนชั่น ไป​ 6 คะแนน ด้วยปัญหาความขัดแย้งเรื่องรถไฟฟ้า​ BTS

ขณะที่​ “ร้อยเอก ธรรมนัส​ พรหมเผ่า” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ได้เสียงจาก ส.ส.พรรคเพื่อไทย ไป 2 เสียง ด้วยสายสัมพันธ์ที่สนิทชิดเชื้อ​ มาตั้งแต่ทำงานการเมืองด้วยกัน มาตั้งแต่แรกเริ่ม ขณะเดียวกันก็ได้เสียงจาก​ พรรคเพื่อชาติ มาอีก 3 เสียง​ ซึ่งเป็นฐานเสียงของ​ “กลุ่มคนเสื้อแดง” สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจบารมีของของ​ ร้อยเอก ธรรมนัส

เกมอำนาจ มากกว่าประโยชน์สาธารณะ

ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นว่าการเมืองก่อนวันเลือกตั้ง​ และหลังวันเลือกตั้ง​ คนละอย่าง และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการโหวตลงคะแนนอภิปรายไม่ไว้วางใจ​ ตามปกติแล้วก็จะนำมาสู่การปรับ ครม.​ แต่ถ้าหากมองแบบ​ ​”พลเอก ประยุทธ์” ก็คงยังไม่อยากปรับ ครม. ให้เกิดความวุ่นวายในช่วงเวลานี้

เกมการเมืองในสภาทั้งหมดมีเหตุผลบนพื้นฐานของประโยชน์ส่วนตัว​ ยากที่จะถามถึงอันไหน คือ ประโยชน์สาธารณะที่ประชาชนจะได้รับ เพราะทั้งหมดเป็นเกม ที่ใช้การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นสนามประลองขุมกำลังทางการเมือง ของแต่ละคนว่าเป็นอย่างไร

ตามปกติการอภิปรายไม่ไว้วางใจ​ จะเป็นเส้นเดียวกัน คือ อภิปรายว่ารัฐบาลบกพร่องอย่างไร​ รัฐบาลก็ชี้แจง แล้ว ส.ส. ยกมือโหวต​ ผลโหวตก็จะเป็นภาพสะท้อนว่ารัฐมนตรี​คนไหนน่าเชื่อถือ​ ไม่น่าเชื่อถือ

“ปรากฏการณ์การเมืองไทยวันนี้แยกออกเป็น 2 ส่วนออกจากกัน​ การอภิปรายก็ส่วนของการอภิปราย​ การโหวตก็ส่วนการโหวต และการโหวตไม่ได้บอกว่าใครน่าเชื่อถือกว่าใคร​ ใครไม่น่าไว้วางใจ​ แต่มันขึ้นอยู่กับว่า ส.ส. เสียบแทงข้างหลังใคร ณ​ วันนี้เป็นเรื่องของอำนาจ Power Game​ ในวงการการเมือง​ ไม่ใช่เรื่องประโยชน์สาธารณะ”


สรกล อดุลยานนท์ หรือ คอลัมนิสต์นามปากกาชื่อคุ้นเคย “หนุ่มเมืองจันท์” วิเคราะห์การเมืองไทยหลังอภิปรายฯ เกมอำนาจทางการเมือง ไว้ในรายการ Active Talk EP.6 การเมืองไทยหลังอภิปรายฯ: หลวงพ่อป้อม, งูเห่า และเรื่องตั๋วตั๋ว (22 ก.พ. 2564)

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS