“การเมืองไทย แยกอภิปรายส่วนอภิปราย โหวตส่วนโหวต และการโหวตไม่ได้หมายความว่าใครน่าเชื่อถือกว่าใคร หรือใครไม่น่าไว้วางใจ มันขึ้นอยู่กับว่า ส.ส. จะเสียบแทงใคร เป็นเรื่องของอำนาจ POWER GAME ในวงการการเมือง ไม่ใช่เรื่องประโยชน์สาธารณะ”
“ที่ท่านกล่าวมาทั้งหมดไม่เป็นความจริง” มิติใหม่ ชี้แจงในศึกอภิปรายฯ
การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา เห็นวิวัฒนาการ การตอบคำถามของ “พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ “พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะการตอบที่การตอบคำถามชี้แจงผู้อภิปรายของพลเอก ประวิตร ว่า “ที่ท่านกล่าวมาทั้งหมดไม่เป็นความจริง” แล้วเดินออกไป นับเป็นมิติใหม่ของการชี้แจงในสภา ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
ขณะเดียวกัน การเตรียมข้อมูลของพรรคฝ่ายค้าน ทั้งพรรคก้าวไกลและเพื่อไทย ถือว่ามีประเด็นที่ทำให้สังคมต้องตรวจสอบและสื่อมวลชนควรติดตาม ทั้งเรื่องของตั๋วช้าง, เหมืองทองอัครา รวมถึงเรื่องอื่น ๆ
อีกข้อสังเกตหนึ่ง คือ ภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป เดิมคนดูถ่ายทอดสดทางทีวีในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ แต่ปัจจุบันคนดูย้อนหลังประกอบกับมีการตัดคลิปอภิปรายสั้น มาลงใน Social Media ทำให้ถูกแชร์ออกไปและถูกพูดถึงกว้างขวางมากขึ้น
ขณะที่การชี้แจงของรัฐบาลมีความแตกต่างไปจากเดิม ที่กลุ่มข้าราชการต้องทำข้อมูลและส่งข้อมูลให้กับรัฐมนตรีชี้แจงในสภา แต่การอภิปรายครั้งนี้ ยกตัวอย่างกรณี “วัคซีน” ที่ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อวัคซีน มาตั้งโต๊ะแถลงที่สภาด้วยตัวเอง พร้อมกับไลฟ์สดทาง Facebook ช่วงชิงพื้นที่ข่าว และอธิบายชี้แจง ตอบโต้ ปมปัญหาอย่างทันทีทันควัน ขณะที่ อนุทิน ไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดต่อสภามากนัก เน้นสร้างวาทกรรม นับเป็น “การเลือกสนามที่เก่งกว่า”
เปิดแผลระบบอุปถัมภ์ งูเห่า และเปิดเกมแค้น
ส่วนประเด็นที่ผู้คนสนใจ อย่างเรื่อง ตั๋วช้าง เป็นการให้อำนาจจากภายนอกแทรกแซงระบบ ที่อภิปรายโดย “รังสิมันต์ โรม” ส.ส.พรรคก้าวไกล ถูก ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาล ประท้วงขัดขวางการอภิปรายจนฟังแทบไม่รู้เรื่อง แต่ก็ได้ใช้พื้นที่ใน Social Media ในการอธิบายเรื่องนี้อย่างละเอียด และถูกแชร์ออกไปจำนวนมากเช่นกัน ทำให้ผู้คนไม่ได้สนใจว่าในสภาจะมีการอภิปรายอย่างไร แต่ใช้จังหวะการอภิปรายในการเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริง และปฏิเสธไม่ได้ว่าบางประเด็นรัฐบาลชี้แจงไม่ชัดเจนหลายเรื่อง โดยใช้ลูกเล่นทางการเมือง เช่น รับทราบเรื่องเอาไว้แล้วจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ หรือไม่ก็สร้างประเด็น เพื่อแย่งชิงพื้นที่ข่าวสาระสำคัญจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เช่น การห้อย “หลวงพ่อป้อม” ของ “สิระ เจนจาคะ” ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ
หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจเสร็จสิ้น และจบลงด้วยการโหวตให้กับ 10 รัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย ไม่เหนือความคาดหมายว่าทุกคนจะรอดด้วยรัฐบาลครองเสียงข้างมากในสภา แต่มีประเด็นให้คิดต่อสำหรับจำนวนคะแนนไว้วางใจรายบุคคล ของรัฐมนตรี สะท้อนเกมการเมืองและสิ่งที่เรียกว่า “งูเห่า” ให้เห็นเด่นชัด เป็นผลพวงมาจากรัฐธรรมนูญปี 60 ที่ทำให้ ส.ส. มีราคาค่าตัวมากขึ้น เพราะเปิดโอกาสให้ย้ายพรรคได้ โดยไม่ต้องหลุดออกจากสภาพการเป็น ส.ส.
กรณีที่น่าสนใจ คือ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จากพรรคภูมิใจไทย ที่ได้คะแนนไว้วางใจมากที่สุด 275 เสียง โดยมี 4 ส.ส.พรรคก้าวไกล ยกมือให้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็เสียคะแนนจากฝั่งพรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลจากกลุ่มดาวฤกษ์ นำโดย “มาดามเดียร์” วทันยาวงษ์โอภาสี ภรรยาของ “ฉาย บุนนาค” ประธานเครือเนชั่น ไป 6 คะแนน ด้วยปัญหาความขัดแย้งเรื่องรถไฟฟ้า BTS
ขณะที่ “ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ได้เสียงจาก ส.ส.พรรคเพื่อไทย ไป 2 เสียง ด้วยสายสัมพันธ์ที่สนิทชิดเชื้อ มาตั้งแต่ทำงานการเมืองด้วยกัน มาตั้งแต่แรกเริ่ม ขณะเดียวกันก็ได้เสียงจาก พรรคเพื่อชาติ มาอีก 3 เสียง ซึ่งเป็นฐานเสียงของ “กลุ่มคนเสื้อแดง” สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจบารมีของของ ร้อยเอก ธรรมนัส
เกมอำนาจ มากกว่าประโยชน์สาธารณะ
ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นว่าการเมืองก่อนวันเลือกตั้ง และหลังวันเลือกตั้ง คนละอย่าง และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการโหวตลงคะแนนอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตามปกติแล้วก็จะนำมาสู่การปรับ ครม. แต่ถ้าหากมองแบบ ”พลเอก ประยุทธ์” ก็คงยังไม่อยากปรับ ครม. ให้เกิดความวุ่นวายในช่วงเวลานี้
เกมการเมืองในสภาทั้งหมดมีเหตุผลบนพื้นฐานของประโยชน์ส่วนตัว ยากที่จะถามถึงอันไหน คือ ประโยชน์สาธารณะที่ประชาชนจะได้รับ เพราะทั้งหมดเป็นเกม ที่ใช้การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นสนามประลองขุมกำลังทางการเมือง ของแต่ละคนว่าเป็นอย่างไร
ตามปกติการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะเป็นเส้นเดียวกัน คือ อภิปรายว่ารัฐบาลบกพร่องอย่างไร รัฐบาลก็ชี้แจง แล้ว ส.ส. ยกมือโหวต ผลโหวตก็จะเป็นภาพสะท้อนว่ารัฐมนตรีคนไหนน่าเชื่อถือ ไม่น่าเชื่อถือ
“ปรากฏการณ์การเมืองไทยวันนี้แยกออกเป็น 2 ส่วนออกจากกัน การอภิปรายก็ส่วนของการอภิปราย การโหวตก็ส่วนการโหวต และการโหวตไม่ได้บอกว่าใครน่าเชื่อถือกว่าใคร ใครไม่น่าไว้วางใจ แต่มันขึ้นอยู่กับว่า ส.ส. เสียบแทงข้างหลังใคร ณ วันนี้เป็นเรื่องของอำนาจ Power Game ในวงการการเมือง ไม่ใช่เรื่องประโยชน์สาธารณะ”
สรกล อดุลยานนท์ หรือ คอลัมนิสต์นามปากกาชื่อคุ้นเคย “หนุ่มเมืองจันท์” วิเคราะห์การเมืองไทยหลังอภิปรายฯ เกมอำนาจทางการเมือง ไว้ในรายการ Active Talk EP.6 การเมืองไทยหลังอภิปรายฯ: หลวงพ่อป้อม, งูเห่า และเรื่องตั๋วตั๋ว (22 ก.พ. 2564)