ย้ำบอร์ดยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ต้องสะสางกฎหมายเซ็นเซอร์ ส่งเสริมโอกาสในเวทีสากล ด้าน ‘ผู้กำกับหนังหน้าใหม่’ ชี้ เงินต้องมาตอนมีไอเดีย
จากกรณีที่เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กับ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะฯ พร้อมคณะรัฐมนตรี มีกำหนดเหมารอบเข้าร่วมชมภาพยนตร์ “สัปเหร่อ” ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน วันที่ 25 ต.ค.66 เพื่อเป็นการผลักดันให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทยหรือไม่ เพื่อศึกษาว่าจะดูทั้งเรื่องผู้กำกับ และภูมิปัญญาไทย ขณะที่เมื่อวานนี้ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยกทีมพรรคภูมิใจไทย ไปชมภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยเช่นกัน เนื่องด้วยมี สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นอดีต สส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย เป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย
The Active พูดคุยกับ เจษฎา ขิมสุข ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีสั้น “Lost in Mekong” ที่กำลังจะเข้าฉายในวันที่ 11 พ.ย. 66 ที่ Doc Club & Pub โดยเป็นหนึ่งในผลงานที่ผ่านการคัดเลือกจากนิทรรศการ Our Mekong, Our Say จนได้เงินทุนมาทำหนังเรื่องแรกของตัวเอง
Lost in Mekong เล่าปัญหาสิ่งแวดล้อม ผ่านแม่น้ำโขง ตั้งแต่อดีตมีกรรมสิทธิ์บนผืนน้ำที่ชาวบ้านต่างยึดถือเสมือนกฎหมายของชุมชน ในการประกอบอาชีพประมงร่วมกัน และสืบทอดมาหลายชั่วอายุคน จนกลายเป็นประเพณีเรียกว่า “ลวงมอง” แต่เมื่อแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลง วิถีแห่ง “ลวงมอง” ก็มาถึงจุดพลิกผัน ส่งผลกระทบต่อหลายชีวิต และบางครอบครัวราวกับถูกฉีกออกเป็นชิ้น ๆ
“เนื้อเรื่องของผมเป็นเรื่องความขัดแย้ง ไม่ใช่ส่งเสริมความสามัคคี หรือสัมพันธภาพในครอบครัว ดังนั้นเรื่องแบบนี้ไม่เข้าเงื่อนไขกองทุนในบ้านเราแน่ ๆ ในขณะที่ต่างประเทศคนของเขาค่อนข้างสนใจหนังสารคดีที่เล่าเรื่องสิ่งแวดล้อม และการขอทุนก็ไม่ได้ด้อยกว่าหนังประเภทอื่น”
เจษฎา ขิมสุข
เจษฎา ย้ำว่า งบประมาณในการสนับสนุนคนสร้างหนังควรมาตั้งแต่ต้นทาง เพราะหากมาผลักดันตอนที่ภาพยนตร์ดังแล้วมองว่าจะเป็นการฉาบฉวยไปหรือไม่ เงินทุนควรต้องมาตอนที่คนทำหนังมีไอเดีย มีสิ่งที่อยากทำ เพราะยังมีเด็กหลายคนต้องทิ้งความฝันเพราะไม่มีทุนในการทำสิ่งนี้ หากรัฐหรือองค์กรที่สนใจผลักดันให้การทำหนังเป็นซอฟพาวเวอร์จริงๆ ควรเริ่มตั้งแต่การเปิดให้ขอทุนที่ต้องมีมากขึ้น เปิดรับแนวเรื่องที่หลากหลายมากขึ้นไม่ใช่แค่ประเภทเดียว
สอดคล้องกับ อนุชา บุญยวรรธนะ หรือ นุชี่ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ที่ตั้งข้อสังเกตว่า ในโรงภาพยนตร์เวลานี้นอกจาก “สัปเหร่อ” ที่ทะยานเข้าสู่ 500 ล้านบาทแล้ว มีภาพยนตร์ไทยอย่างน้อยๆ 3-4 เรื่อง ที่เข้าฉายในเวลาไล่เลี่ยกัน ใช้ทุนสร้างพอ ๆ กัน หรือมากกว่า แต่กลับไม่ได้รับความนิยม และอาจจะต้องลาโรงในเร็ว ๆ นี้ในภาวะขาดทุน ซึ่งถือเป็นความหลากหลายของหนังไทยที่ยังขาดการมองเห็น ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนเรื่องงบประมาณ การยืนโรงฉาย การโพรโมต หรือโครงการที่ให้ ผกก.หน้าใหม่ อบรมศึกษา พัฒนาบทภาพยนต์ตั้งแต่ต้น
เช่นเดียวกับการสนับสนุนคนทำหนัง ที่ในปีนี้ มีถึง 3 เรื่องที่ส่งไปประกวดในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ ทั้ง เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ครั้งที่ 28 คว้ามาได้ถึง 2 รางวัลยอดเยี่ยม และหนังไทยอีกเรื่องได้รับเลือกเข้าประกวดในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียวครั้งที่ 36 แต่ทั้ง 3 เรื่องนี้ ทางทีมผู้กำกับต้องควักกระเป๋าเดินทางไปด้วยตัวเอง
แต่ที่นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย บอกว่า หนักยิ่งกว่าการไม่ได้รับการสนับสนุน คือการตัดแข้งตัดขาคนทำงาน อย่างเรื่องล่าสุด “สัปเหร่อ” ที่ผ่านมา เส้นทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ในไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.2 กองเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ สั่งห้ามฉายฉากพระที่ร้องไห้ฟูมฟายหน้าโลงศพ แต่ในที่สุดก็แก้ปัญหาด้วยการตัดต่อใหม่จนได้ขึ้นจอฉายโรงภาพยนตร์ในที่สุด
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัญหาที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์แห่งชาติ ต้องมองให้เห็นมากกว่าความสำเร็จของหนังเรื่องหนึ่ง ซึ่งจะทำได้จำเป็นต้องแยกออกมาจากระบบราชการ หรือมีที่นั่งของคนในแวดวงอุตสาหกรรมภาพยนต์ เข้าไปนั่งในคณะกรรมการฯ ชุดนี้ด้วย
“เป็นเรื่องดีที่รัฐบาลหันมาให้ความสนใจวงการภาพยนตร์ไทย แต่อยากให้เพิ่มเติมในการศึกษาปัญหาที่ผ่านมาในอุตสาหกรรมนี้ด้วย ที่ผ่านมาหนังหลายเรื่องไม่ได้ประสบความล้มเหลวด้วยตัวเอง แต่มีหลาย ๆ ปัจจัย ถ้ารัฐเรียนรู้จากปัญหาตรงนี้ด้วย ก็จะทำให้วงการภาพยนตร์ไทยแข็งแรง ตอบโจทย์นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ได้
อนุชา บุญยวรรธนะ
นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย กล่าวย้ำอีกว่า บทบาทของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์แห่งชาติ รัฐบาลต้องตั้งหน่วยงานสนับสนุนที่แยกออกมาจากระบบราชการ โดยคนที่มีอำนาจตัดสินใจต้องเป็นคนที่มีความรู้ความเข้าใจในวงการภาพยนตร์ไทยอย่างแท้จริง ปราศจากการเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ รวมทั้งสนับสนุนตั้งแต่การสร้าง พัฒนา ติดตามหลังการถ่ายทำ ส่งเสริมการตลาด การขายในต่างประเทศ สนับสนุนเรื่องการประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ทั้งการเดินทางไปร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศ นับเป็นการทำงานทั้งระบบที่น่าจะทำให้วงการภาพยนตร์ไทยพัฒนาอย่างต่อเนื่องไปได้