วอนผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ รับเป็นนโยบาย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปูพรม สำรวจ โบราณสถานสำคัญยุคกรุงศรีอยุธยา ในพื้นที่ กทม. พระ – ชาวบ้าน หวั่นลูกหลานไม่ทันได้เห็นของเก่าทรงคุณค่า
The Active สำรวจโบราณสถานยุคกรุงศรีอยุธยาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยจุดแรก คือ ‘วัดช่องนนทรี’ เขตยานนาวา พบพระอุโบสถท้องสำเภาแห่งเดียวในกรุงเทพฯ คาดว่าสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อยู่ในสภาพทรุดโทรม โดยมีนั่งร้านคำยันหลังคาไว้ ในขณะที่ฐานพระประธานในพระอุโบสถ ปูนหลุดร่อน
พระยศนันท์ กตปุญโญ พระลูกวัดช่องนนทรี บอกว่า พระอุโบสถหลังนี้ อยู่ในการดูแลของกรมศิลปากร จึงไม่สามารถระดมทุนจากญาติโยมเพื่อมาบูรณะเป็นการเร่งด่วนได้ ก่อนหน้านี้ได้แจ้งไปที่อธิบดีกรมศิลปากรแล้ว และได้สร้างนั่งร้านค้ำยันไว้ชั่วคราว โดยมีการบูรณะใหญ่ครั้งล่าสุดเมื่อ 20 ปีก่อน หลังจากนั้นก็ขาดหายไปไม่ได้มีการบูรณะต่อเนื่อง จนล่าสุดพบบริเวณฐานองค์พระประธาน ที่เริ่มหลุดล่อนเกรงว่าจะทำให้พระประธานล้มลงมา แล้วจะยากต่อการบูรณะให้กลับมาเหมือนเดิม
สำหรับโบราณสถานภายในวัดช่องนนทรี ยังพบเสมาคู่ ซึ่งคาดว่าเคยเป็นพระอารามหลวงในอดีตก่อนสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ แต่วัดช่องนนทรีแทบไม่ปรากฏในบันทึกจดหมายเหตุต่าง ๆ ขณะที่สถาปัตยกรรม พระอุโบสถ พระพุทธรูป และภาพจิตรกรรมฝาผนังพระเวสสันดร ยังคงสมบูรณ์แบบ อาจมีหายไปบ้างบางส่วน สะท้อนว่าที่นี่มีความสำคัญมากในอดีต จึงควรค่าแก่การรักษา และเร่งบูรณะ พร้อมค้นหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์เพิ่มเติม
พระยศนันท์ ระบุว่าเบื้องต้น ทราบว่ากรมศิลปากร กำลังเร่งจัดหางบประมาณเพื่อบูรณะ แต่อาจต้องเป็นปีงบประมาณ 2567 ซึ่งกังวลว่าจะไม่ทันการณ์ ส่วนกรณีที่วัดเปิดให้เข้าชม 3 ครั้งต่อปีในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือวันมาฆบูชา วิสาขบูชา และอาสาฬหบูชานั้น เป็นเพราะว่าวัดไม่มีบุคลากรดูแล หากเปิดทุกวันอาจเกิดการโจรกรรมได้
“หากกรมศิลปากรติดขัดปัญหางบประมาณ อยากวอนไปยัง กทม.ให้เห็นคุณค่าในโบราณสถาณสมัยกรุงศรีอยุธยาก่อนแรกสร้างเมืองหลวง จัดสรรงบประมาณเร่งบูรณะเป็นการชั่วคราวไปก่อน โดยเห็นว่านโยบายการฟื้นฟูโบราณสถาณในพื้นที่ ควรเป็นหนึ่งในนโยบายของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เพราะถือได้ว่าโบราณสถานเก่าแก่เหล่านี้เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านและควรค่าแก่การอนุรักษ์”
พระยศนันท์ กตปุญโญ
ขณะที่ชาวบ้านบริเวณโดยรอบวัดช่องนนทรี ต้องการให้กรมศิลปากรเข้ามาบูรณะอย่างเร่งด่วนเช่นกัน สำเภา วงศ์บ้านด่าน ชาวชุนชนวัดช่องนนทรี เล่าว่า เห็นพระอุโบสถหลังนี้มาตั้งแต่เด็กจนโต คนรุ่นปู่ย่าตายายกราบไหว้เป็นประจำ เป็นอุโบสถโบราณที่มีความสวยงาม อยากให้คงอยู่ต่อไปให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้ศึกษาเรียนรู้ โดยอยากวอนขอไปทางกรมศิลปากรให้เร่งรัดเข้ามาบูรณะหรือจะเป็นทางฝั่งของ กทม. เข้ามาสนับสนุนงบประมาณร่วมกัน
สำเภา บอกอีกว่า ในช่วงที่กำลังจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก็อยากจะฝากไปถึงผู้สมัครทุกคนว่า ใน กทม. ยังมีโบราณสถาณศิลปะเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยา อีกเป็นจำนวนมาก หากบูรณะขึ้นมาก็จะสามารถก็จะเป็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์ บอกเล่าท้องถิ่นต่อไปได้
“ถ้าบูรณะสวยงามกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ก็จะทำให้ชุมชนโดยรอบเกิดการพัฒนาไปด้วย ปัญหาโจรกรรมก็จะน้อยลง”
สำเภา วงศ์บ้านด่าน
อีกจุดที่ The Active ลงพื้นที่สำรวจคือ ‘พระอุโบสถวัดสวนสวรรค์’ เขตบางพลัด ใกล้กับสะพานพระราม 8 พบว่า ถูกปล่อยทิ้งร้างมานานไม่ต่ำกว่าร้อยปี อยู่ท่ามกลางชุมชนหนาแน่น
ประวัติ สุขกิจสมโภชน์ หัวหน้ากลุ่มชาวอุโบสถสวนสวรรค์ เล่าว่า วัดนี้ถูกทิ้งร้างไปหลังจากที่วัดคฤหบดีถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 – 3 ทำให้พระสงฆ์ย้ายไปจำพรรษาที่วัดคฤหบดีซึ่งเป็นวัดอารามหลวง วัดสวนสวรรค์จึงถูกลดความสำคัญลงจนกลายเป็นวัคร้าง ต่อมาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานกับกรมศิลปากร และเคยมีความพยายามที่จะบูรณปฏิสังขรณ์ในยุคของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯ กทม. โดยได้บริจาคเงินสมทบเข้ากับกรมศิลปากรจำนวน 5 ล้านบาท แต่การบูรณะก็ไม่ได้เกิดขึ้น
ส่วนการบูรณะจะทำให้เกิดความขัดแย้งกับชาวบ้านในชุมชนหรือไม่ เนื่องจากบริเวณโดยรอบวัดที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ของกรมศิลปากร มีชาวบ้านปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำนั้น ประวัติ ก็บอกว่า ได้พูดคุยกันแล้ว ชาวบ้านในชุมชนพร้อมที่จะขยับ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบางส่วนออก เพื่ออำนวยความสะดวกให้มีการบูรณะพระอุโบสถ โดยที่ผ่านมาก็จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติปั่นจักรยานเข้ามาเยี่ยมชมความเก่าแก่โบราณของพระอุโบสถ ซึ่งสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตอนปลายสันนิฐานจากพุทธศิลป์
ปัจจุบันพระอุโบสถนี้ เสื่อมโทรมลง หลังคาเริ่มหลุดล่อน รั่ว ฐานพระประธานเอียง ชาวบ้านต้องเอาปูนมาโบกไว้กันเอง ซึ่งผิดหลักการบูรณะของกรมศิลปากรแต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะเกรงว่าพระประธานอาจล้มลงมาได้
ประวัติ เชื่อว่าใน กทม. ยังมีโบราณสถานสมัยกรุงศรีอยุธยาหลงเหลืออยู่อีกหลายแห่ง ซึ่งในแง่ของประวัติศาสตร์มีคุณค่าอย่างมากต่อการเรียนรู้ ทั้งยังเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานหรือความเจริญตั้งแต่เดิมก่อนสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวง แต่ปัจจุบันกลับถูกละเลยปล่อยทิ้งรกร้าง หากพัฒนาโบราณสถาณเหล่านี้ สามารถยกระดับขึ้นกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ ที่สร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ไปพร้อมกัน
“เวลานี้จะฝากนโยบายอะไรไปถึงผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ทุกคนก็จะตอบรับหมด แต่เมื่อเลือกตั้งเสร็จได้ ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ แล้ว จะทำตาม อย่างที่รับปากไว้หรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ลุงก็อยากจะฝากการบูรณะฟื้นฟูโบราณสถาณเหล่านี้เอาไว้ ให้ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ได้คิด และบูรณะให้สำเร็จจะเป็นประโยชน์ต่อเมืองไปด้วย”
ประวัติ สุขกิจสมโภชน์