นักศึกษาเพาะช่าง สร้างงานศิลปะ สะท้อนปัญหาเศรษฐกิจไทย

เจ้าของผลงานศิลปะที่กำลังโด่งดังในโลกโซเชียล ‘ควายผอมแบกกระสอบ’ เผยเบื้องหลังที่มา สะท้อนการกดขี่แรงงาน สภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ปัญหาที่ฝังรากลึก

31 ส.ค 2565 จากกรณี ภาพควายผอมแห้งแบกกระสอบอยู่บนหลัง ที่เป็นกระแสถูกแชร์บนโลกออนไลน์ในตอนนี้ หลายเสียงที่แชร์งานชิ้นนี้มีความเห็นว่าเป็นชิ้นงานที่ไม่ต้องมีคำอธิบายมากมาย แต่เข้าใจได้ด้วยภาพ สื่อความหมายได้ชัดเจนและเข้ากับสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศไทยตอนนี้ เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบกับประชาชนโดยทั่วไป ทั้งคนใช้แรงงานและคนที่ต้องดิ้นรนแบกรับภาระงานที่หนักกว่าค่าแรง จึงอาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่โพสต์นี้ได้รับความนิยมและเป็นกระแสชั่วข้ามคืน

The Active ติดต่อไปที่เจ้าของภาพ คือ ‘ธนาวัช ป้องแก้ว’ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยเพาะช่าง กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเจ้าของผลงาน โดยเขาเล่าถึงเหตุผลการสร้างงานชิ้นนี้ว่ามาจากการเห็นปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ส่งผลกระทบกับประชาชนจำนวนมาก ต้องอยู่ใน “สภาวะจำยอม” และเป็นปัญหาเดียวกันกับตอนที่เขายังเด็ก ซึ่งผ่านมาเกือบ 10 ปี ปัญหาเช่นนี้ก็ยังคงอยู่ ส่งผลให้เขาเลือกหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาสร้างงานเพื่อจะสะท้อนปัญหาที่ฝังรากลึก

ธนาวัช เล่าเพิ่มว่า เหตุผลของการเลือกสื่อภาพ “ควาย” มาจากผลกระทบเศษฐกิจในวัยเด็กที่ทำให้เขาต้องออกไปดิ้นรนทำงานหลังขดหลังแข็ง ประกอบกับสมัยเด็กเป็นลูกชาวนา เห็นคนใช้ควายในการไถนา ซึ่งเป็นภาพที่เขาจำได้ว่าเป็นการเอาสัตว์มาใช้แรงงาน และพอถึงจุดที่เขาเองต้องมาทำงานและการถูกกระทำจากการใช้แรงงานไม่ต่างกันมากนัก ภาพของควายจึงสะท้อนการกดทับและการกดขี่แรงงานได้ชัดเจนแม้จะผ่านมานานก็ตาม

“ตอนนั้นมันเป็นสภาวะจำยอมที่ต้องทำเพราะไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว ต้องหาเงินเพื่อให้ครอบครัวอยู่รอด สิ่งนี้เลยเป็นภาพมองกลับไปว่ามันเหมือนกับในอดีตที่เขาเคยเห็นภาพที่พ่อเอาควายมาไถนา”

“ผลกระทบที่เกิดจากสภาพทางเศรษฐกิจทางสังคมต่อครอบครัวข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากปัญหาสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่นี้ได้ จึงทำให้ข้าพเจ้าจำยอมในการเป็นแรงงานในการปฏิบัติงาน เพื่อมาเจือจุนใช้จ่ายต่อตัวข้าพเจ้าและครอบครัว ในสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่นี้ ทางครอบครัวและตัวข้าพเจ้า ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิต การขาดความสุข ความสนุกสนานกับชีวิตที่ผ่านมาของข้าพเจ้าเป็นอย่างมาก สร้างความรู้สึก อึดอัด กดดัน กับการแบกรับภาระต่าง ๆ กับตัวข้าพเจ้า จากปัญหาเศรษฐกิจทางสังคม ทำให้ข้าพเจ้าและครอบครัวข้าพเจ้าเป็นตัวควบคุมบังคับข้าพเจ้าต้องแบกรับภาระมากมายต่าง ๆ ให้เป็นกรรมกรตามพ่อ ข้าพเจ้าไม่อาจหลีกเลี่ยงมันได้ สิ่งที่ข้าพเจ้าทำได้ต้องยอมรับมัน”

แรงบันดาลใจที่ธนาวัชใช้อธิบายในการสร้างสรรค์ผลงาน

ภาพจากเฟซบุ๊ก : ธนาวัช ป้องแก้ว
ภาพจากเฟซบุ๊ก : ธนาวัช ป้องแก้ว

ธนาวัช เล่าเพิ่มเติมว่า อยากให้งานชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันไม่ต่างจากอดีตที่มันย่ำแย่ หลายคนต้องจำใจทำงานที่เหลือบ่ากว่าแรง เพื่อความอยู่รอดของครอบครัว แบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่มากมายแม้จะไม่ไหวแต่ต้องดิ้นรน ซึ่งภาพเหล่านี้ปัจจุบันไม่ได้เกิดขึ้นเพียงกับเขาแต่เป็นประสบการณ์ร่วมของคนจำนวนไม่น้อย

หลายคนอยู่ในสภาวะจำยอมทำงานหนักเพื่อได้มาซึ่งสิ่งตอบแทนจุนเจือครอบครัวแต่ไม่ได้มีความสุข สิ่งนี้อาจจะเป็นประสบการณ์ร่วมของคนในยุคปัจจุบัน ตอนนี้ผมต้องทำงานไปด้วยและเรียนไปด้วยเพราะคิดว่า การศึกษาจะทำให้ทุกอย่างในชีวิตผมดีขึ้นกว่านี้ ทั้งในเรื่องของความจน และความทุกข์

ภาพจากเฟซบุ๊ก : ธนาวัช ป้องแก้ว

ทั้งนี้เขาเล่าว่า งานศิลปะชิ้นนี้คือหนึ่งสัญญะที่ สะท้อนภาพของการใช้แรงงานในสภาวะจำยอมใช้แรงงาน คาดหวังว่ามันจะสะท้อนสังคมและอาจจะเป็นแรงกระเพื่อมที่ทำให้สภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active