ตัดวงจรปลาหมอคางดำ จับขายกิโลกรัมละ 15 บาท

กรมประมง เปิดจุดรับซื้อปลาหมอคางดํา ถึง 31 ส.ค. นี้ ตั้งจุดรับซื้อทุกพื้นที่แพร่ระบาด 73 จุด รับซื้อกิโลกรัมละ 15 บาท ก่อนรวบรวมปลาหมอคางดําไปผลิตเป็นน้ําหมักชีวภาพ แจกจ่ายชาวสวนยางพารา

วันนี้ (4 ส.ค. 2567) อรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากการระบาดของปลาหมอคางดําในพื้นที่ 16 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา นครปฐม และนนทบุรี กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมงกําลังเร่งดําเนินการแก้ไขปัญหาเน้นการควบคุมและกําจัดปลาหมอคางดําในแหล่งน้ําทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด และการนําปลาหมอคางดําที่กําจัดได้ไปใช้ประโยชน์ เนื่องจากขณะนี้มีการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการควบคุมและกําจัดปลาหมอคางดําออกจากแหล่งน้ํา

“ภายหลังเปิดจุดรับซื้อเมื่อวันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา ยังมีชาวประมงและประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อน เกิดความไม่มั่นใจว่าจับแล้วจะนำไปขายที่ไหน และขายได้ 15 บาท/กก. จริงหรือไม่ ขอยันยันว่า กระทรวงเกษตรฯ รับซื้อทุกกิโลกรัมในราคา 15 บาทจริง และยืนยันว่าทุกคนสามารถเข้าร่วมโครงการได้ โดยให้กรมประมงเร่งชี้แจงทำความเข้าใจในเรื่องจุดรับซื้อให้ชัดเจน เพื่อป้องกันความสับสน และขณะนี้ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการติดตามการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ เพื่อรับรายงานปัญหาจากจังหวัดและเร่งเข้าไปดำเนินการแก้ไขให้เร็วที่สุด”

ด้านกรมประมงได้มีการจัดตั้งจุดรับซื้อทุกพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด จํานวน 73 จุด โดยการันตีราคารับซื้อที่กิโลกรัมละ 15 บาท ก่อนรวบรวมปลาหมอคางดําที่รับซื้อไว้ไปให้สถานีพัฒนาที่ดินแต่ละพื้นที่ผลิตเป็นน้ําหมักชีวภาพ เพื่อให้การยางแห่งประเทศไทยนําไปแจกจ่ายแก่เกษตรกรในโครงการแปลงใหญ่ เพื่อนําไปใช้ในพื้นที่สวนยางกว่า 200,000 ไร่ โดยเปิดจุดรับซื้อปลาหมอคางดํา ตั้งแต่วันที่ 1 – 31 ส.ค. 2567 ซึ่งขณะนี้ได้รับรายงานว่ามีปริมาณรับซื้อปลาหมอคางดำไปแล้วกว่า 22,000 กิโลกรัม

สําหรับจุดรับซื้อแต่ละจังหวัด มีดังนี้

จังหวัดจันทบุรี มีจุดรับซื้อทั้งหมด 4 จุด จังหวัดระยอง 2 จุด จังหวัดฉะเชิงเทรา 3 จุด จังหวัดสมุทรปราการ 6 จุด จังหวัดนครปฐม 1 จุด จังหวัดนนทบุรี 1 จุด จังหวัดสมุทรสาคร 6 จุด จังหวัดสมุทรสงคราม 3 จุด จังหวัดราชบุรี 1 จุด จังหวัดเพชรบุรี 10 จุด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 13 จุด จังหวัดชุมพร 14 จุด จังหวัดสุราษฎร์ธานี 3 จุด จังหวัดนครศรีธรรมราช 5 จุด และจังหวัดสงขลา 1 จุด รวมทั้งสิ้น 73 จุดรับซื้อ

โดยผู้ขายรายย่อย (เกษตรกร ชาวประมง) ที่ไม่มีหลักเกณฑ์กําหนดในการรับซื้อ สามารถนํามาขาย ณ จุดรับซื้อต่าง ๆ ได้ในราคากิโลกรัมละ 15 บาท ไม่จํากัดจํานวน แต่หากเกษตรกรที่มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ํา (ทบ.1) จับจากบ่อตนเอง ให้แจ้งข้อมูล ทบ.1 กับเจ้าหน้าที่ ณ จุดรับซื้อ เพื่อเก็บเป็นฐานข้อมูล

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active