‘พีมูฟ’ จี้ ชะลอนำความเห็นปม ‘เฉือนป่าทับลาน’ เข้าบอร์ดอุทยานฯ

หนุนปรับแนวเขตตามแผนที่ปี 2543 คืนสิทธิประชาชนอยู่อาศัย ทำกินมาก่อน ขอสังคมร่วมส่งเสียง ปกป้องความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อม ของผู้ถูกละเมิดสิทธิ ชวนร่วมกันตรวจสอบ ตั้งคำถามกระบวนการทำงานภาครัฐ

วันนี้ (25 ก.ค. 67) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ ออกแถลงการณ์ เรื่อง จากทับลาน ถึงสังคม ร่วมหยุดกระแส ‘เขียวตกขอบ’ คืนที่ดินให้คนอยู่ก่อนเขตป่า โดยอ้างถึงกระแสการปลุกปั่นของข้าราชการระดับสูง ในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำโดย ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ และ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร กรณีการเปิดรับฟังความคิดเห็น ผู้มีส่วนได้เสียในการเพิกถอนแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน เนื้อที่ประมาณ 2.6 แสนไร่ ออกจากที่ดินที่มีประชาชนอยู่อาศัย จนเกิดเป็นกระแส Saveทับลาน ที่พีมูฟ มองว่า ชี้นำสังคมให้ Saveป่า Saveสัตว์ แต่ไม่ให้ความสำคัญกับชีวิตของผู้คนที่ตกอยู่ภายใต้การประกาศเขตป่าอนุรักษ์ทับอย่างไม่เป็นธรรม จนถูกเรียกว่าเป็นกระแสของคน ‘เขียวตกขอบ’ นั้น

พีมูฟ เห็นว่า การกระทำดังกล่าวของฝ่ายอนุรักษ์นิยม หรือที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรียกว่ากลุ่มเขียวตกขอบ เป็นภัยคุกคามที่ยิ่งทำให้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนในประเทศไทยทวีความรุนแรงขึ้น

“กล่าวคือ การประกาศเขตป่าทั้งหมดในประเทศนี้ได้ทับลงไปบนสิทธิของประชาชน คนที่อยู่อาศัยและทำกินมาก่อนทั้งสิ้น จำแนกเป็นป่าอนุรักษ์ 4.27 ล้านไร่ และป่าสงวนแห่งชาติ 3.94 ล้านไร่ ครอบคลุมจำนวนประชากรหลักล้านคน และมีแผนการประกาศป่าอนุรักษ์เพิ่มเติมอีกมากถึง 23 แห่ง เนื้อที่ประมาณ 3.6 ล้านไร่ ซึ่งล้วนมีประชาชนอยู่อาศัยและทำกินทั้งสิ้น ”

แถลงการณ์ระบุ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีอุทยานแห่งชาติทับลาน ที่ประชาชนอยู่อาศัยมาก่อนการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ ต่อสู้มาหลายสิบปี  จนเกิดแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมแล้ว แต่กลับถูกกระแสสังคมปลุกปั่น ชี้นำจากฝ่ายที่เจตนาล้มกระดานการแก้ปัญหาคืนความเป็นธรรมแก่ประชาชน

พีมูฟ ขอยืนยันว่า ปัญหาป่าทับคนนั้นเรื้อรังยาวนาน และยังไม่เคยมีรัฐบาลไหนเดินหน้าแก้ไขอย่างจริงจัง กฎหมายด้านป่าไม้ โดยเฉพาะการจัดการป่าอนุรักษ์นั้นล้วนมุ่งเน้นใช้อำนาจรัฐปกครองพื้นที่ กดขี่ กดทับ สร้างข้อจำกัด และปราบปราม มากกว่าการให้สิทธิประชาชนได้จัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติได้ด้วยตัวชุมชนเอง เห็นได้จากหลายกรณีข้อพิพาทในหลายพื้นที่ พบว่า มีการบังคับไล่รื้อ ตัดฟันพืชผลอาสิน เผาบ้าน แจ้งความดำเนินคดี ขับไล่ประชาชนออกจากพื้นที่ รวมถึงบังคับสูญหายชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาเป็นแกนนำต่อสู้

“ขณะนี้ประชาคมโลกเริ่มกลับมาพูดถึงองค์ความรู้ และภูมิปัญญาของชุมชนในการเป็นแนวหน้าจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เริ่มพูดถึงแนวคิดการจัดการป่าที่หมายรวมถึงผู้คนในเขตป่าในฐานะแนวร่วมของรัฐในการดูแลทรัพยากร แต่ฝ่ายเขียวตกขอบในประเทศไทย ยังขาดจินตภาพใหม่ และจิตสำนึกเพียงพอที่จะมองเห็นแนวทางแก้ปัญหาป่าทับคนให้ไปไกลกว่าการบีบบังคับให้คนต้องอยู่ภายใต้ ‘ลูกกรง’ เขตป่า และในทางตรงกันข้ามกลับนิ่งเฉยต่อการถลุงทำลายทรัพยากรจากกลุ่มทุนและชนชั้นนำที่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมให้สังคมและโลกใบนี้มากกว่าเป็นร้อยพันเท่า”

แถลงการณ์ระบุ

พีมูฟ ยังได้ประณามการกระทำอันไร้มนุษยธรรม และสามัญสำนึก พร้อมทั้งขอแสดงเจตนารมณ์ร่วมยืนเคียงชาวบ้านทับลาน ที่กำลังต่อสู้เรียกร้องสิทธิอย่างยากลำบาก รวมถึงมีข้อเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้

  1. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชะลอการนำผลการแสดงความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กรณีปรับแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน เข้าสู่คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เนื่องจากเห็นว่าเป็นกระบวนการรับฟังความเห็นที่ไม่ชอบธรรม มีการชี้นำสังคมด้วยข้อมูลไม่รอบด้าน และจะสร้างผลกระทบต่อผู้ที่มีส่วนได้เสียโดยตรงคือชาวบ้านในอุทยานแห่งชาติทับลานเอง และพีมูฟขอสนับสนุนแนวทางการปรับแนวเขตตามแผนที่ปี 2543 ให้เพิกถอนแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานออกจากพื้นที่ 2.6 แสนไร่ ซึ่งมีประชาชนอยู่อาศัยและทำกินมาก่อน

  2. ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยข้อมูล ข้อเท็จจริง ในมิติด้านประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชุมชนในพื้นที่ที่อยู่มาก่อนการประกาศเขตป่า พูดถึงสิทธิของคนอยู่กับป่า และบทบาทของชุมชนในการฟื้นฟูป่าจากยุคที่รัฐให้สัมปทานป่าไม้ กลับมาอุดมสมบูรณ์ ไม่ใช่เพียงการให้ข้อมูลด้านเดียว ชี้นำสังคมให้เข้ามาโจมตีชาวบ้าน และบีบบังคับว่าต้องเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 64 ของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ 2562 เท่านั้น

  3. ขอส่งเสียงไปยังสังคม ว่า ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนทุกคนจะกลับมาพิจารณาเรื่องความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะประเด็นเรื่องป่าทับคนเสียใหม่ มองว่า ประเด็นการประกาศเขตป่าทับคนนั้น เรื้อรัง และไม่ได้รับการแก้ไขมาหลายทศวรรษ ประชาชนในพื้นที่ไม่เคยได้รับความเป็นธรรม และพยายามบีบบังคับให้ประชาชนในพื้นที่ต้องเข้าสู่เงื่อนไขการใช้ประโยชน์พื้นที่ตามกฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม มากกว่าการพูดคุยหาแนวทางและกันเขตป่าตามกฎหมายออกจากพื้นที่ชุมชน ซึ่งความขัดแย้งเช่นนี้ จะสืบเนื่องยาวนานไม่จบสิ้น และสังคมจะไม่ได้อะไรจากความขัดแย้งรูปแบบนี้  มีเพียงประชาชนคนยากจนที่จะถูกกดขี่ เบียดขับ ออกจากสังคมไทยที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำและการละเมิดสิทธิมนุษยชน

พีมูฟ หวังว่า เหตุการณ์ Saveทับลาน เป็นบทเรียนสำคัญของสังคมไทย ที่จะโอบรับประชาชนผู้ตกเป็นจำเลยในปัญหาสิ่งแวดล้อม ให้กลับมายืนอยู่บนสังคมไทยได้อย่างมีสิทธิ์ มีศักดิ์ศรี เท่าเทียมกัน พร้อมตั้งคำถามต่อกระบวนการทำงานของรัฐบาล และหน่วยงานรัฐให้เข้ารูปเข้ารอย จริงใจในการแก้ไขปัญหา และไม่ซ้ำเติมปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน       

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active