กทม. ปรุงเมนู ‘ปลาหมอคางดำ’ แจก

‘ชัชชาติ’ ขออย่าเรียกเอเลี่ยนสปีชีส์ หวั่นคนไม่กล้าจับกิน เชื่อส่งเสริมเมนูอาหาร ทางเลือกแก้วิกฤตระบาดในกลุ่มจังหวัดชายฝั่งอ่าวไทย เผยขณะนี้ เกษตรกร กทม. ลงชื่อขอรับการเยียวยาแล้ว 900 ราย

วันนี้ (19 ก.ค. 67) สำนักงานเขตบางขุนเทียน นำวัตถุดิบที่ได้จากปลาหมอคางดำ จำนวน 1 ตัน ซึ่งจับมาจาก คลองสนามชัย คลองโคกขาม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร มาทำเป็นเมนูอาหารที่หลากหลาย ในกิจกรรม BKK Food Bank พร้อมดึงเครือข่ายเอกชน รับซื้อปลาหมอคางดำ ในราคากิโลกรัมละ 20 บาท

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.ระบุว่า วันนี้อาหารทั้งหมดมีปลาหมอคางดำเป็นวัตถุดิบหลัก โดยได้ปรุงแจกจ่ายให้กลุ่มคนเปราะบางในพื้นที่ เช่น ผู้สูงอายุ, คนพิการ, ผู้ป่วยติดเตียง, ผู้ด้อยโอกาส และผู้มีรายได้น้อย ได้นำไปบริโภค

ผู้ว่าฯ กทม. ยังย้ำว่า ตอนนี้ไม่อยากให้เรียกปลาหมอคางดำว่าเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ เพราะกลัวคนจะไม่จับขึ้นมากินส่วนการระบาดใน กทม. ขณะนี้เจอพื้นที่รุนแรงอยู่โซนตะวันตก 3 เขต คือ บางขุนเทียน, ทุ่งครุ และบางบอน ซึ่งเป็นโซนที่ติดกับจุดเริ่มต้นของการระบาด และมีคลองที่เป็นน้ำกร่อย แหล่งเจริญพันธุ์ชั้นดีของปลาหมอคางดำ ส่วนที่บึงมักกะสัน พบ ปลาหมอคางดำ เพียง 20%

ขณะที่เกษตรกรในพื้นที่ กทม. ได้ลงชื่อไว้ตามสำนักงานเขตต่าง ๆ กรณีได้รับความเดือดร้อนจากการรุกรานของปลาหมอคางดำแล้ว ประมาณ 900 ราย โดย กทม. จะรวบรวมส่งกรมประมง เพื่อขอเงินเยียวยาต่อไป

สำหรับเมนูต่าง ๆ ที่ทำจากปลาหมอคางดำวันนี้ ผ่านการปรุงโดย เชฟชุมพล แจ้งไพร เชฟมิชลิน ซึ่งยืนยันว่า เนื้อไม่ต่างอะไรกับปลานิล และ ปลากะพง แต่เชื่อว่าอนาคต น่าจะผลักดันไปสู่อุตสาหกรรมปลาร้าได้ ซึ่งมีเม็ดเงินหมุนเวียนในอุตสาหกรรมปลาร้าของไทย กว่า 10,000 ล้านบาท

แนะภาครัฐแก้ปัญหาที่ยั่งยืน กว่าเสนอให้คนจับทำอาหาร

ขณะที่ สุถี เสริฐศรี อาจารย์ประจำภาควิชาการจัดการการโรงแรม คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในฐานะนักวิจัยอาหารพื้นถิ่นโครงการ “สมุทรสงครามอยู่ดี” และเป็นเชฟท้องถิ่นในพื้นที่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เปิดเผยกับ The Active ว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เอเลี่ยนสปีชีส์รุกรานสัตว์ท้องถิ่นของไทย และคนไทยก็เคยพยายามรังสรรค์เมนูจากสัตว์แปลกถิ่นเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น ปลานิล, ปลาซักเกอร์ รวมถึง หอยเชอรี่ แต่ภาครัฐจะใช้วิธีให้คนไทยบริโภค เพื่อแก้ไขหรือลดจำนวนลงก็คงไม่ถูกนัก เพราะท้ายที่สุดนั่นไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ รสชาติ และเนื้อสัมผัสของปลาหมอคางดำ ยังมีรสที่ไม่อร่อย มีก้างเยอะ เพราะไม่ใช่ปลาเนื้อ การจะนำปลามาทำเมนูอร่อย ก็ต้องอาศัยการปรุงเพื่อกลบรสชาติเดิมของตัวปลา แต่ต้องยอมรับว่า ถ้าเนื้อปลาไม่อร่อย คนไม่ได้นิยมกิน การจะพยายามสร้างเมนูให้ทุกคนหันมากินก็คงเป็นเรื่องยาก

ภาพ : Chomsri Pakawat

“ถามว่ากินแล้วมันจะลดลงไหม ก็คงลดลง แต่จะให้คนกินทั้งที่เนื้อมันไม่ได้อร่อยนัก ก็คงไม่เป็นที่นิยมในระยะยาว หรืออีกทางหนึ่ง เปลี่ยนมาแปรรูป ส่งโรงงานทำเป็นอาหารสัตว์ ก็อาจจะช่วยได้เช่นกัน”

สุถี เสริฐศรี

สุถี ยังย้ำว่า หากไม่มั่นใจว่าแหล่งน้ำที่จับปลามีความปลอดภัย หรือเป็นแหล่งที่มีสารตกค้างหรือไม่ ก็ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคปลาดังกล่าว และหากนำมาประกอบอาหาร ก็ต้องทำความสะอาดและปรุงสุก เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ หรือการปนเปื้อนสารพิษ
ในฐานะของเชฟที่มีบ้านเกิดอยู่ใน จ.สมุทรสงคราม ซึ่งมีแหล่งน้ำที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ จนทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน และกังวลต่อการแก้ไขปัญหาอย่างมาก เพราะปลาพันธุ์นี้ ไม่ใช่แค่กินปลาตัวเล็ก แต่ยังกินกุ้งในลำคลองด้วย

“ถ้ายังไม่เร่งแก้ปัญหาด้วยยาแรง ความหลากหลายของระบบนิเวศท้องถิ่นอาจจะพังทลายลง และจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศในอนาคต”

สุถี เสริฐศรี

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active