กมธ.ที่ดินฯ เห็นชอบจัดการแนวเขตอุทยานฯทับลาน ตามแนวปี 2543

จี้ อุทยานฯ ต้องดำเนินการเพิกถอนพื้นที่ ตามมติครม. หากยื้อสะท้อนการบริหารงานของรัฐบาลเกิดปัญหา พร้อมเตรียมชง กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ ตรวจสอบกระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่อการเพิกถอนแนวเขตอุทยานทับลาน ไม่มีความชัดเจน สร้างการสับสน และชี้นำสังคม

วันนี้ (17 ก.ค.67) หลังคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฏร ได้พิจารณาระเบียบวาระ ที่มูลนิธิสืบนาคเสถียรและเครือข่ายพันธมิตรสิ่งแวดล้อม ยื่นขอคัดค้านกรณีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน และขอให้พิจารณาข้อพิพาทที่ดินและแนวเขตอุทยานทับลานในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา และปราจีนบุรี ซึ่งมีตัวแทนหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน ตัวแทนกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช , คทช. , สปก. , กอรม. ,แม่ทัพภาคที่ 2 รวมทั้งตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ข้อพิพาททับซ้อนที่ดิน ใน 5 อำเภอ จังหวัดนครราชสีมา และ ปราจีนบุรี เข้าร่วม

ภายหลังการประชุมซึ่งใช้เวลาประมาณ เกือบ 5 ชั่วโมง ตัวแทนกมธ.ที่ดินฯ นำโดย พูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร แถลงผลการประชุม ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบเรื่องการใช้มติตามแนวทาง ที่ครม.มีมติไว้ เมื่อ 14 มี.ค.2566 เห็นชอบให้ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ สคทช. ใช้เส้นปรับปรุงตามการสำรวจแนวเขตปี 2543 หรือที่เรารู้จักและคุ้นเคยกับคำว่า one map สำหรับการจัดการพื้นที่แนวเขตในอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ทุกฝ่าย รวมทั้งหน่วยงานของอุทยานแห่งชาติ ก็เห็นพ้องกันในแนวทางนี้เพื่อเดินหน้าแก้ไขปัญหา

ที่ประชุมยังเห็นชอบ ว่าควรใช้แนวทางในการรักษาสิทธิประชาชนในแต่ละกลุ่ม ซึ่งในพื้นที่มีหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นประชาชนในพื้นที่สปก.หรือผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ซึ่งประชาชนกลุ่มนี้ สมควรได้รับการตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการพิสูจน์สิทธิ์ อันนี้เป็นข้อสำคัญ เพราะเป็นแนวทางในการบริหารจัดการพื้นที่ทับลานถัดไป

ขณะเดียวกันยังมีข้อถกเถียง หรืออีกหลายประเด็น ที่ทางกมธ.ที่ดิน ต้องดำเนินการเพื่อการพิสูจน์ให้เกิดข้อเท็จจริงรวมถึงการดำเนินการให้ภาคประชาสังคม ได้รับทราบข้อเท็จจริงในบางประเด็น โดยเรื่องแรกจะมีการเชิญ สำนักงานที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม หรือ สปก. มาชี้แจงอีกครั้ง ในเรื่องการพิจารณาแนวทางในการแจกจ่ายที่ดินให้ประชาชนผู้สมควรได้รับสิทธิ์ ซึ่งในที่สุดแล้ว มีความ้ป็นไปได้ที่อาจจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการร่วมในการดำเนินการเรื่องดังกล่าว

ข้อสังเกตถัดมาที่ให้ความเห็นไว้ ก็คือว่าเรื่องของการดำเนินการในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งมีประชาชนร่วมกันลงชื่อเกือบล้านคน โดยมีความเห็นว่า ทางคณะกรรมาธิการจะดำเนินการขอข้อมูล โดยเฉพาะระเบียบของการมีส่วนร่วมของชุมชน ของอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเข้ามาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยมีความเป็นไปได้ที่จะขอมติจากคณะกรรมาธิการก่อน ที่จะส่งเรื่องให้คณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งกรณีนี้พบว่า อาจจะมีประเด็นข้อครหา เรื่องคำถามที่อาจจะสร้างความสับสนให้กับผู้ลงคะแนนเสียงได้ อันนี้ก็เป็นที่มาว่าจะต้องมีการพิจารณาต่อเนื่องในลำดับถัดไป

ในขณะเดียวกันเรามีความเห็นว่า จะต้องเร่งรัดในการดำเนินการของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ในการที่จะพิจารณารับรองแนวเขต

” หลังจากที่เราคุยกันวันนี้ ก็มีความเห็นว่าจะใช้แนวเขตของ ONE MAP ในการพิจารณา  แต่กระบวนการถัดไปคือคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ต้องให้การรับรองแผนที่ตรงนี้เช่นกัน เราต้องดำเนินการต่อเนื่องเพื่อให้เกิดกระบวนการรับรองนี้โดยเร็ว  และนอกจากนี้ทางคณะกรรมาธิการจะดำเนินการขอเอกสารเพิ่มเติม เช่น บันทึกการประชุมของอนุกรรมการ ONE MAP รวมถึงบันทึกการประชุมของ คทช. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะทำให้เกิดความชัดเจนในแต่ละประเด็นซึ่งเป็นข้อถกเถียงกันในระหว่างการประชุมด้วย”

พูนศักดิ์ จันทร์จำปี ปธ.กมธ.ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร

ขณะที่เรื่องของคดีความประมาณ 552 คดี ที่ทางกรมอุทยานแห่งชาติดำเนินการอยู่ตอนนี้ ทางกมธ.ก็ต้องขอข้อมูล เรื่องการตรวจสอบทางคดี  ว่ามีรายละเอียดอย่างไร ขณะเดียวกันเรื่องของคดี ทางสคทช.ก็ได้แจ้งในที่ประชุมว่า ทางกฤษฎีกามีความเห็นว่า จะไม่มีผลต่อรูปคดีในการเปลี่ยนแปลงเขตที่ดิน จากของอุทยาน เป็น สปก. ส่วนนี้ก็จะขอหลักฐานมาด้วยเช่นกัน

ห่วง อ้าง รับฟังความเห็นกระทบการเพิกถอนอุทยานฯ คืนสิทธิประชาชน จี้ หากยื้อสะท้อนการบริหารงานของรัฐบาลเกิดปัญหา

ด้าน เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล ในฐานะเลขานุการกรรมาธิการที่ดินฯ กล่าวถึงความกังวลและข้อห่วงใย ต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น จากการชี้แจงของผู้แทนกรมอุทยานฯ โดยเฉพาะกระบวนการต่อไปเพื่อแก้ไขเพิกถอนพื้นที่ ซึ่งจะติดปัญหาของกรมอุทยาน ในการดำเนินการตามกฎหมาย ที่กำหนดว่า ต้องให้ดำเนินรับฟังความคิดเห็นประชาชน ประเด็นนี้กลายเป็นเรื่องราวขึ้นมาในสังคม เพราะว่า ในการดำเนินการทางกรมอุทยานทำให้สังคมเข้าใจไปแล้วว่าพื้นที่ 2.65 แสนไร่ ที่จะดำเนินนการเพิกถอนมีสภาพเป็นป่าสมบูรณ์

“สังคมเข้าใจแบบนี้มาตลอด คนจึงคัดค้านในการเพิกถอนพื้นที่ตรงนี้ ซึ่งขัดแย้งกับข้อเท็จจริง เพราะพื้นที่ 2.65 แสนไร่ ไม่มีสภาพเป็นป่า แต่เป็นชุมชน มีวัดวามาอาราม มีตลาด มีโรงเรียน มีสถานพยาบาลอยู่ในนั้นหมดแล้ว ตรงนี้ก็อยากจะเรียกร้องไปยังฝ่ายการเมือง ยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะต้องออกมาแสดงความกระจ่างต่อสังคม เอาให้ชัดว่าการเพิกถอน 2.65 แสนไร่ ไม่ใช่การเอาพื้นที่ซึ่งมีสภาพเป็นป่าสมบูรณ์ไปออกเอกสารสิทธิ แต่เป็นการคุ้มครองสิทธิของคนที่อยู่มาก่อนแล้ว ส่วนสิทธิจะเป็นแบบไหน ก็ว่าไปตามกฎหมาย”

เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล ในฐานะเลขานุการ กมธ.ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อกฎหมายระบุแนวทางการเพิกถอนไว้เช่นนี้ แล้วจะเพิกถอนพื้นที่ได้ไหม หรือสุดท้ายปัญหาจจะยังคงวนลูปหรือไม่ ทางกมธ.ที่ดิน ยืนยันจะใช้ขอบเขตของฝ่ายนิติบัญญัติในการที่จะแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งทาง รมว.กระทรวงทรัพย์ฯ ถึงการประชุมในวันนี้ ซึ่งผลการประชุมวันนี้ ก็เป็นที่ยอมรับของทุกหน่วยงานแล้วว่าจะใช้แผนที่ปี 2543 ส่วนกระบวนการกรมอุทยานแห่งชาติ ที่มีคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ หรือ บอร์ดอุทยานฯ ตรงนี้ก็ต้อง ฝากถึงรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่า จากที่ สส.เลาฟั้งได้อธิบาย และเป็นข้อห่วงกังวลจริงๆนั้น มีกระบวนการที่รับฟังประชาชนในพื้นที่ ที่ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ เพราะถ้าไม่ครบถ้วนอาจมีผลต่อคะแนนหรือว่าความเห็นของภาคประชาชน จึงต้องมีกระบวนการตรวจสอบ ซึ่ง กมธ.เห็นว่าต้องดำเนินการต่อเนื่อง

ส่วนจะกลายเป็นปัญหาวนลูปไหม โดยกลไกบริหารของ ONEMAP  ตั้งแต่ระดับพื้นที่ ผ่านคณะกรรมการ ONE MAP  และผ่านมติครม. กำหนดไว้ชัดเจนว่าแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปออกกฎหมายเพื่อกำหนดแนวเขตตนเอง  เป็นหน้าที่ของกรมอุทยานที่ต้องไปดำเนินการอย่างโปร่งใสชัดเจน

“ลองนึกดูว่าถ้ามติครม.มีนโยบายในการบริหารระบบราชการเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชน การทับซ้อนที่ดิน  แล้วมีหน่วยงานรัฐหนึ่งไม่ปฏิบัติตามแบบนี้ ถามว่าระบบการบริหารราชการ เพื่อแก้ไขปัญหาของรัฐบาลจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ เป็นหน้าที่รัฐบาลที่ต้องจัดการกับกรมอุทยานฯ เมื่อครม.มีมติออกมาแบบนี้แล้ว กรมอุทยานควรดำเนินการตามมติครม. และจะถือว่ากระบวนการรับฟังความเห็นมีปัญหา เพราะมีการถามชี้นำด้วย”

เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล ในฐานะเลขานุการ กมธ.ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

อีกประเด็นสำคัญ คือ ขอเรียกร้องไปยัง สปก. ว่า ทางอุทยานฯเอง ก็กังวลว่า สำนักงาน สปก. อาจไม่มีศักยภาพเพียงพอในการจัดการพื้นที่ เพราะที่ผ่านมามีปัญหา มีข้อครหาหลายประการ  สังคมก็กังขาต่อการทำหน้าที่ของ สปก.เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ สำนักงาน สปก.จำเป็นที่จะต้องแสดงให้กมอุทยานฯ และสังคมเชื่อได้ว่า ถ้าเพิกถอนอุทยาน ส่งมอบพื้นที่บางส่วนให้สำนักงาน สปก.แล้ว สปก.สามารถดำเนินการได้ถูกต้องตามกฎหมาย ให้พื้นที่เหล่านี้ตกในมือของผู้มีคุณสมบัติจริงๆ  ไม่ได้ตกในมือนายทุน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active