‘ปลาหมอคางดำ’ โผล่ บึงมักกะสัน นักวิชาการ ชี้ เกินควบคุม

แนะมาตรการระยะสั้น จับกิน-แปรรูปได้ แต่ต้องไม่ให้เหลือ เร่งหามาตรการกำจัดระยะยาวก่อนสัตว์น้ำพื้นถิ่นสูญพันธุ์

จากกรณีประชาชนกว่า 100 คน ร่วมจับ ปลาหมอคางดำ ภายในบึงมักกะสัน เมื่อวันที่ 15 ก.ค.67 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการพบเห็นปลาชนิดสายพันธุ์ต่างถิ่น (Alien species) ในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน หลังจากมีรายงานการแพร่ระบาด และสร้างผลกระทบให้กับชาวประมงไปแล้วใน 13 จังหวัด ได้แก่ จ.สมุทรสงคราม จ.สมุทรปราการ จ.เพชรบุรี จ.จันทบุรี จ.ระยอง จ.ราชบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ชุมพร จ.สุราษฎร์ธานี จ.นครศรีธรรมราช จ.สงขลา สมุทรสาคร และกรุงเทพมหานคร

วันนี้ (17 ก.ค. 67) ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการอิสระด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ในฐานะผู้ติดตามปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำอย่างใกล้ชิด ให้สัมภาษณ์ผ่าน รายการตรงประเด็น ไทยพีบีเอส ถึงการพบเจอปลาหมอคางดำในเขตกรุงเทพฯ ชั้นในว่า เป็นทิศทางการแพร่ระบาดที่น่าเป็นกังวล โดยจุดที่น่าห่วงอย่างกรณี แม่น้ำท่าจีน พบว่าปลาหมอคางดำครอบคลุมไปเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ของจำนวนชนิดปลาที่มีอยู่

แต่แม่น้ำสายอื่นๆ น่าวิตกพอสมควรเพราะมีปลาชนิดนี้เป็นจำนวนมาก มีจุดแม่น้ำเดียวที่ยังไม่เห็นการระบาดรุนแรง คือ ลุ่มแม่น้ำบางปะกง นี่เป็นสถานการณ์ที่เห็นล่าสุดว่าในแม่น้ำหลายสายที่บางแห่งมีคุณภาพปานกลางหรือไม่ค่อยดี เช่น น้ำเน่าเสียจะพบว่าปลาหมอคางดำขึ้นมาแทนที่ได้รวดเร็ว แต่ถ้าแหล่งน้ำดีถึงดีมากจะมีการระบาดของปลาหมอชนิดนี้ พอสมควรไม่ถึงครอบคลุมร้อยเปอร์เซ็นต์

ขณะที่โอกาสแพร่ระบาดไปยังทะเลชายฝั่งจนสร้างผลกระทบให้กับชาวประมง ตามที่หลายฝ่ายกังวลนั้น ชวลิต กล่าวว่า มีรายงานพบการแพร่ระบาดไปยังจุดน้ำกร่อย และน้ำเค็ม โดยจุดศูนย์กลางอยู่ที่สมุทรสาคร ทางตะวันออกไปถึงจันทบุรี และฝั่งตะวันตกไปถึงจังหวัดสงขลา ที่ อ.ระโนด แต่ยังไม่พบการกระจายที่หนาแน่นเท่าในน้ำจืด หรือปากแม่น้ำ ยกเว้นแหล่งหญ้าทะเลบางแห่ง

“ถ้าเราลงมือกำจัดช้า คิดว่าภาพที่จะเลวร้ายกว่านี้ ทุกแม่น้ำ ทุกปากแม่น้ำของประเทศไทยจะมีแต่ปลาหมอคางดำเพียงชนิดเดียวเป็นส่วนใหญ่ เกิน 90% ของปลากุ้ง ที่มีอยู่ในแหล่งน้ำ”

ชวลิต วิทยานนท์

ส่วนมาตรการเร่งด่วนในการกำจัดปลาหมอคางดำ ด้วยการจับเพื่อนำมารับประทาน หรือแปรรูปนั้น ชวลิต ย้ำว่า ระยะสั้นควรมีเป้าหมายเพื่อกำจัดได้หมดไม่ให้เหลือในประเทศไทย เนื่องจากปลาชนิดนี้สามารถกลับมาแพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว  และมีความทนต่อความเค็ม น้ำเสีย หากเว้นช่วงสั้น ๆ อาจทำให้ปัญหารุนแรงกลับมาได้อีก

ขณะที่ภาคส่วนอื่น ๆ ต้องปลดล็อกเงื่อนไขเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมอุทยานแห่งชาติสคว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ควรช่วยชี้เป้าจุดที่พบปลาหมอคางดำในพื้นที่ของอุทยานฯ แหล่งธรรมชาติอื่นๆ อำนวยความสะดวกให้ชุมชนเข้าไปร่วมกำจัด

พร้อมย้ำถึงมาตรการในอนาคต เรื่องการขออนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่น ต้องได้รับการทบทวนศึกษาอย่างรัดกุม การทดลองเลี้ยงต้องเป็นระบบปิด ไม่ควรจะปล่อยน้ำทิ้งลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ มีการติดตาม ลงโทษผู้ที่ประมาทจนส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงผู้นำเข้ามาเลี้ยงเพื่อความสวยงาม ต้องมีความระมัดระวัง เลี้ยงในที่จำกัด ถ้าเบื่อหรือไม่อยากเลี้ยงไม่ควรทำบุญหรือปล่อยไปอาจจะมอบให้ทางกรมประมง

“ทุกวันนี้ยังมีการปล่อยปลาดุกบิ๊กอุยเพื่อทำบุญ โดยไม่เข้าใจว่าเป็นการปล่อยปลาต่างถิ่นลงในแหล่งน้ำธรรมชาติจำนวนมากในแต่ละปี กรณีนี้จะเป็นบทเรียนการจัดการที่ต้องทำให้มิดชิดรอบคอบมากกว่านี้”

ชวลิต วิทยานนท์

สำหรับแนวทางของกรมประมง ที่ประชุมจะแถลงการณ์มาตรการแก้ปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำในวันพรุ่งนี้ (17 ก.ค.67) เบื้องต้นเตรียมปล่อยปลากะพงขาว 30,000 ตัว ล่าปลาหมอคางดำ ในวันที่ 18 ก.ค. ที่ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active