ชู ‘เกษตรในเมือง’ สู่ความมั่นคงทางอาหาร-ชุมชนแข็งแรง

เครือข่ายนักปลูก ผนึกกำลัง ขับเคลื่อนแหล่งอาหารปลอดภัย เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง ตั้งเป้า กรุงเทพฯ เมืองสีเขียวเคี้ยวกินได้ ในปี 2570

เมื่อเร็ว ๆ นี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้การทำเกษตรในเมือง ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการร่วมด้วยช่วยปลูก ‘Plantable Bangkok’ หวังให้แนวทางประชาชนทำเกษตรในเมือง และผนึกเครือข่ายคนทำเกษตรในเมืองให้แข็งแรงขึ้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนการทำเกษตรในเมือง เพื่อเสริมสร้างแหล่งอาหารที่ปลอดภัยและการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของเมือง

ช่วงแรกของกิจกรรม ปัณณวิชญ์ เถระ นักวิจัยจากศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC-CEUS) ได้นำเสนอผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของโครงการร่วมด้วยช่วยปลูก โดยพบว่า กว่าร้อยละ 60 ของผู้ตอบแบบสำรวจที่เข้าร่วมโครงการ Plantable Bangkok ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ผลผลิตส่วนใหญ่ที่เก็บเกี่ยวได้เป็นผักตระกูลสลัด ผักบุ้ง กวางตุ้ง คะน้า ซึ่งจะนำไปบริโภคหรือประกอบอาหารในครัวเรือน และยังถูกแจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้าน องค์กร ชุมชน และแปรรูปเป็นอาหารหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ

ปัญหาการทำเกษตรในเมืองที่พบอันดับ 1 คือ ศัตรูพืช เช่น หอยทาก แมลง หนอน เพลี้ย ฯลฯ ขณะที่ปัญหารองลงมาคือ แสงแดดไม่เพียงพอ อันเนื่องมาจากข้อจำกัดของพื้นที่ มีตึกสูงบดบัง และปัญหาอื่น ๆ ที่พบทั่วไปคือ สภาพอากาศที่เลวร้าย (อากาศร้อน / ฝนตกหนัก) การไม่มีเวลาดูแลสวน สภาพดินย่ำแย่ เป็นต้น ขณะที่เกษตรกรส่วนใหญ่ต้องการการสนับสนุนความรู้ในการออกแบบพื้นที่เกษตรในเมือง และความรู้ในการต่อยอดผลผลิต หรือการแปรรูป ทั้งต้องการทราบแหล่งจำหน่ายปัจจัยการผลิตราคาถูกอีกด้วย

เครือข่ายนักปลูก มอง ‘เกษตรในเมือง’ ช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหาร

กิจกรรมแบ่งผู้เข้าร่วมออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ครัวเรือน, หน่วยงาน/องค์กร, และชุมชน เพื่อแลกเปลี่ยนเทคนิคการปลูกและการดูแลผลผลิต รวมถึงการแก้ปัญหาที่พบเจอในการทำเกษตรในเมือง จากนั้นนำเสนอผลการหารือให้ผู้เชี่ยวชาญรับฟังและให้คำแนะนำ โดยมีความเห็นดังนี้

  • สุพัตรา ไชยชมภู เจ้าของสวนปูเป้ทำเอง มองว่า การเรียนรู้จากปัญหาเป็นบทเรียนสำคัญในการทำเกษตรในเมือง ควรใช้โอกาสนี้ในการเรียนรู้และปรับตัว ย้ำว่าผักแต่ละชนิดมีรอบการเก็บเกี่ยวที่แตกต่างกัน จึงต้องมีความเข้าใจในความแตกต่างทางธรรมชาติ เพื่อสามารถนำผลผลิตไปต่อยอดได้ต่อไปในอนาคต

  • วรางคนางค์ นิ้มหัตถา จากกลุ่มปลูกเพื่อเมือง แนะนำว่า อย่าให้ความสวยงามของผลผลิตทำให้ท้อแท้ ควรเริ่มจากการปลูกเพื่อเป็นอาหารและลดภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันก่อน

  • บุญธิวา สารวรณ์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร แนะนำให้จดบันทึกการปลูก เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เกษตรกรประเมินผลการปลูกและพัฒนาต่อไปได้ เชื่อการทำเกษตรในเมือง จะสร้างความมั่นคงทางอาหารได้ สอดคล้องกับโครงการและวัตถุประสงค์ที่ทาง กทม. กำลังผลักดันอยู่

  • จารุชา ทองพินิจ จาก The Farm Concept และ ลัดดาวัลย์ แพรสีดำ เจ้าของสวนเกษตรสไตล์มินิมอล ให้กำลังใจผู้เข้าร่วม และเชื่อว่าการทำเกษตรในเมืองไม่ใช่เรื่องยาก หากเรามองปัญหาเป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้

ทั้งนี้ ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ นั้นเป็นประเด็นสำคัญที่คนไทยควรตระหนัก แม้หลายคนเข้าใจว่าประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ แต่วิกฤตความขัดแย้งระหว่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือวิกฤตโรคระบาดที่ทำให้ห่วงโซ่อาหารทั่วโลกหยุดชะงักลง และจะส่งผลมายังประเทศไทย การเริ่มต้นทำเกษตรในชุมชนเมือง อาจเป็นเรื่องยาก ไม่อาจแก้ไขปัญหาในภาพใหญ่ได้ แต่พฤติกรรมที่เล็กน้อยเหล่านี้ สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในชุมชนและเมืองที่ทุกคนอาศัยอยู่ได้

เป้าหมายกรุงเทพฯ 2570 สู่เมืองสีเขียวที่เคี้ยวกินได้

วงพูดคุยยังสะท้อนว่า ‘ที่ดิน’ คือปัจจัยสำคัญที่ทางภาครัฐควรเข้ามาช่วยเหลือ เพราะพื้นที่ในกรุงเทพฯ มีจำนวนจำกัด และไม่ได้ถูกจัดสรรมาเพื่อทำการเกษตรโดยเฉพาะ นอกจากนี้ ดินยังไม่เหมาะกับการปลูกผัก ตึกสูงบดบังแสงแดด ดังนั้น การทำเกษตรในเมืองจะเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น หากหน่วยงานรัฐที่มีที่ดิน หรือชุมชนที่มีแปลงรกร้างว่างเปล่า สามารถประสานร่วมมือกับทางเขต หรือทางกรรมการชุมชนเพื่อพัฒนาที่ดินให้เป็นพื้นที่สุขภาวะกินได้ ให้คนในชุมชนได้พบปะกัน ผลผลิตสามารถส่งขายหรือแจกจ่ายให้ครัวเรือนได้

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในเมืองที่เข้าร่วมประชุมคณะทำงานโครงการความร่วมมือระดับเมืองและระดับภูมิภาคระหว่างประเทศ (IURC) และ เครือข่ายกติกาสัญญานโยบายอาหารในเมืองมิลาน (Milan Urban Food Policy Pact) โดยร่วมมือกับกรุงมิลาน ประเทศอิตาลี และสหภาพยุโรป มุ่งพัฒนาแหล่งกำเนิดอาหาร, การผลิตอาหารคุณภาพ และการกำจัดขยะเศษอาหาร ซึ่งทาง กทม. ก็มีนโยบายด้านอาหารที่จะดำเนินงานในปี 2566 – 2570 ได้แก่

  1. เสริมความเข้มแข็งการผลิตอาหารในเมือง: พัฒนาพื้นที่เกษตรในเมือง 20 แห่ง, ขยายฐานการผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น 5% ฯลฯ

  2. สร้างมาตรฐานตลาดและจุดกระจายสินค้าเกษตรและอาหาร: ส่งเสริมตลาดเกษตรกร 50 เขต ฯลฯ

  3. ยกระดับมาตรฐานสถานประกอบการอาหารใน กทม.: สถานประกอบการอาหารเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, อาหารปลอดภัย ไม่พบการปนเปื้อนสารพิษ

  4. ธนาคารอาหารและส่วนลดค่าอาหาร: ตั้งศูนย์กระจายอาหาร 6 ศูนย์, ลดราคาอาหารใน 50 เขต ฯลฯ

  5. จัดการขยะอาหารเป็นระบบครบวงจร: โรงแรม ห้าง ศูนย์อาหาร ตลาด ร้านสะดวกซื้อ เข้าร่วมระบบรวมขยะอาหาร โดยรวมขยะอาหารได้อย่างน้อย 150 ตัน/วัน

  6. ส่งเสริมความรู้ด้านโภชนาการสำเด็กและประชาชน: มีแนวทางการบริโภคอาหารปลอดภัยและยั่งยืน, ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนใช้ระบบ Thai School Lunch for BMA

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active