นักวิเคราะห์นโยบาย ห่วงชาวบ้านถูกอุทยานฯ ครอบกว่า 20,000 คน กลายเป็นเป็นตัวประกัน รักษาอำนาจ งบประมาณภาครัฐ เสนอเร่งแก้ปัญหา คืนสิทธิ์ที่ดินคนอยู่มาก่อนประกาศอุทยานฯ ตามมติ ครม. 17 มี.ค. 2566
วันนี้ (10 ก.ค. 67) ผศ.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย เปิดเผยกับ The Active ถึงปรากฎการณ์กรณี #Saveทับลาน และ #Saveชาวบ้านทับลาน ว่า สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนความตื่นตัวของประชาชน และยังสะท้อนการไม่ไว้วางใจหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
“ความเป็นจริงคือ ทุกคนก็ไม่ควรไว้วางใจรัฐจริง ๆ นั่นแหละ เพราะจากกรณีการออก ส.ป.ก.เอื้อทุนกรณีล่าสุด ที่จังหวัดนครราชสีมาที่เป็นข่าวใหญ่ และก็ตรวจสอบกันอยู่นั้นก็ชัดเจน หรือ การที่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศอุทยานทับที่ชาวบ้านโดยไม่สำรวจหรือกันพื้นที่ออกก่อน และประชาชนได้รับผลกระทบเดือดร้อนอันนั้นก็เห็นกันอยู่ ผมถึงได้บอกว่า ในเมื่อทุกคนไม่ไว้วางใจรัฐ ก็ต้องหาทางออกรูปแบบอื่น เพื่อมาแก้ไขปัญหากันให้ได้ ”
ผศ.ธนพร ศรียากูล
ที่สำคัญยังสะท้อนเรื่องของการช่วงชิงหรือรักษาอำนาจของหน่วยงาน เพราะต้องยอมรับจริง ๆ ว่า กลไกของรัฐถ้ายังมีปัญหา ก็แสดงว่า หน่วยงานตัวเองมีความสำคัญ เมื่อหน่วยงานตัวเองมีความสำคัญก็เป็นที่มาของงบประมาณ อัตรากำลังต่าง ๆ พูดจริง ๆ มันก็เป็นการแย่งชิงงบประมาณหน่วยงานราชการ เพราะว่าการที่จะมีเงินเยอะ การที่จะมีคนเยอะ มีลูกน้องเยอะได้ ก็แสดงว่างานต้องเยอะ เพราะฉะนั้น เลยกลายเป็นแย่งงานกัน เพื่อขยายอาณาจักร ปัญหาก็คือ การแย่งงานกัน แต่กลับกระทบชาวบ้าน คือถ้าคุณแย่งงานกันแล้ว ชาวบ้านได้รับการแก้ไขปัญหาก็ดี แต่พอแย่งงานกัน กลายเป็นว่าปัญหาชาวบ้านหนักขึ้น ตรงนี้มองว่าไม่แฟร์อย่างมาก
“คือไม่ว่ารัฐบาลไหน ขาด Political view จริง ๆ โดยการแก้ปัญหาก็เอาวิธีคิดของราชการแต่ละกรมเป็นตัวตั้ง ซึ่งราชการแต่ละกรมก็แย่งชิงงบประมาณ แย่งชิงอำนาจกันอยู่แล้ว พอรัฐบาลเลือกที่จะเดินตามแนวของราชการอย่างเดียว ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้ว ไม่ว่าแนวไหน มันก็ถูกสังคมตั้งคำถามทั้งนั้น เพราะฉะนั้นผมถึงบอกว่า เราควรไปโยนโจทย์ว่า ที่ดินลักษณะอย่างนื้ ซึ่งมันต้องเพิกถอนแหละ เพราะมันประกาศทับชาวบ้านจริงๆ”
ผศ.ธนพร ศรียากูล
ชาวบ้านถูกอุทยานฯ ครอบ ต้องได้คืนสิทธิ์
เสนอทางเลือก ‘โฉนดชุมชน’ สร้างส่วนร่วมดูแลพื้นที่
ผศ.ธนพร ยังบอกอีกว่า ปัญหาเรื่องอุทยานฯ ไปประกาศทับที่ดินทำกินอยู่คู่ประเทศไทยมานาน และจริง ๆ ไม่ใช่แค่พื้นที่นี้ด้วย ซึ่งชาวบ้านกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อน เขาต้องได้รับความเป็นธรรมจริง ๆ จึงต้องเริ่มจากข้อเท็จจริงกันก่อน ว่า พื้นที่ที่เขาเพิกถอน มันไม่ใช่พื้นที่ป่า ที่ยังคงสภาพความเป็นป่าในทางความเป็นจริง แต่เป็นพื้นที่ป่าตามกฎหมาย ซึ่งตอนประกาศก็ไปประกาศทับชาวบ้านเขาจริง ๆ ตรงส่วนนี้ต้องให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้าน ที่ควรได้รับสิทธิและความเป็นธรรมตรงนี้ก่อน
“เอาข้อเท็จจริงก็คือว่า การประกาศกาศอุทยานแห่งชาติทับลาน มันมีปัญหาจริงๆ มันมีปัญหาคือว่า มันไปทับที่อยู่ ที่อาศัย ที่ดินชาวบ้านอันนี้จริง เพราะว่าถ้ามันไม่จริง อุทยานฯก็คงไม่มีการสำรวจพื้นที่ชุมชนอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ ตามมาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ปี 2562 แน่นอน จึงต้องยอมรับข้อเท็จกันก่อนว่าการประกาศอุทยานแห่งชาติทับลาน มันไปทับที่ดินทำกินชาวบ้านอันนี้จริง”
ผศ.ธนพร ศรียากูล
ผศ.ธนพร ยังอธิบายว่า จริง ๆ พื้นที่ 3 กลุ่ม ที่มีการเสนอให้กันออก ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ใจกลางที่มีสภาพป่าหนาแน่น แต่เป็นบริเวณโดยรอบ ซึ่งมีการใช้ประโยชน์จนไม่มีสภาพความเป็นป่าแล้ว ที่ดินทำกินที่อยู่อาศัยที่ชาวบ้านถูกประกาศครอบทับ ก็ใช้ตัวเลขของกรมอุท ยานฯ ที่ได้สำรวจมาแล้ว 265,000 ไร่ รวม 2 จังหวัด คือ ปราจีนบุรี และนครราชสีมา ครอบคลุม 97 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 20,294 คน จำนวน 27,951 แปลง
“เพราะฉะนั้นสำคัญ จึงต้องเอาหลักก่อนว่า การประกาศเขตอุทยานฯ ตรงไหนคือที่ดินทำกินชาวบ้าน ที่เขาทำมาหากินก่อนการประกาศเขต อันนี้ก็ต้องกันพื้นที่ออกคืนให้เขา ซึ่งถ้าไม่เอาหลักตรงนี้ ผมว่ามันก็ไม่แฟร์กับชาวบ้านที่เขาอยู่อาศัยทำมาหากินบริเวณนั้นมาก่อนการประกาศเขตป่า”
ผศ.ธนพร ศรียากูล
ส่วนที่จะประกาศผนวกเพิ่ม อีก 80,000 กว่าไร่นั้น ผศ.ธนพร มองว่า ตรงนี้ต้องไปสำรวจให้ดีก่อน คือ ถ้าเป็นป่าชุมชนอยู่แล้ว ก็ไม่เข้าใจว่าจะไปผนวกทำไม เพราะป่าชุมชน เป็นพื้นที่ที่ชุมชนช่วยกันรักษา และก็ใช้ประโยชน์อยู่แล้ว ทำมาหากิน เก็บพืชผักตามฤดูกาลกันได้ เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านเขาใช้ประโยชน์ควบคู่กับการอนุรักษ์อยู่แล้ว พอไปผนวกจะกลายเป็นกฎหมายคนละฉบับ ทำให้การบริหารจัดการตรงส่วนนี้ยุ่งยากเพิ่มขึ้นไปอีก
“ผมคิดว่าในส่วนที่ผนวกเพิ่ม ถ้าอะไรเป็นป่าชุมชนอยู่แล้วก็อย่าไปยุ่งหรือเอามารวมเลย แต่อะไรที่ไม่ใช่ป่าชุมชน อย่างเช่น เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ป่าถาวร ส่วนนี้จะผนวกก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่ต้องมั่นใจก่อนว่า ไม่ใช้พื้นที่ที่ชาวบ้านดูแลและใช้ประโยชน์อยู่”
ผศ.ธนพร ศรียากูล
ส่วนที่ว่าเมื่อกันพื้นที่ออกไปแล้ว จะเป็นรูปแบบ ส.ป.ก. หรือว่าไม่ใช่ ส.ป.ก. นั้น ผศ.ธนพร ประเมินว่า มีแนวทางจัดการที่ดินอีกแนวทางหนึ่งก็คือแนวทางของ โฉนดชุมชน ซึ่งคิดว่าน่าจะเอามาถกเถียงกันได้ ซึ่งเข้าใจว่า ฝ่ายที่มีความเป็นห่วงเป็นใย ก็คงจะกังวลเรื่องที่ดินเปลี่ยนมือ เพราะมีบทเรียนมากมาย เรื่อง ส.ป.ก. เปลี่ยนมือ ตกไปอยู่กับนายทุนบ้าง อะไรบ้าง และไม่ได้อยู่กับเกษตรกรจริง ๆ
“ผมก็คิดว่าตรงส่วนนี้ มันก็มีแนวทางจัดการที่ดินอีกรูปแบบหนึ่ง ที่เราเรียกว่าโฉนดชุมชน เราลองโยนโจทย์ตรงนี้เข้าไปพูดคุยกันก่อนจะดีไหม เพราะผมคิดว่าโฉนดชุมชน เป็นหลักประกันเรื่องความมั่นคงในที่ดินทำกินของชาวบ้าน การเปลี่ยนมืออะไรต่าง ๆ เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว กติกาต่างๆ ก็ต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิตที่แวดล้อม เช่นชาวบ้านบริเวณนั้นเขามีรายได้หลักจากการท่องที่ยว และอะไรต่างๆ กฎกติกาก็จะถูกดีไซน์โดยชาวบ้านเอง เช่น การทำเกษตรอินทรีย์ การทำท่องเที่ยวชุมชนที่สอดคล้องกับธรรมชาติ ผมคิดว่าตรงนี้น่าจะเป็นอำนาจในการตัดสินใจของตัวชุมชนเขา แล้วตัวองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเนี่ย ที่อยู่ในบริเวณนั้นก็มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะเข้ามาจัดบริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เพื่อให้สามารถที่จะใช้ชีวิตกันตามปกติธุระอยู่ได้”
ผศ.ธนพร ศรียากูล
ผศ.ธนพร ยังระบุถึง กรณีที่ฝ่ายอุทยานฯ ย้ำมาตลอด ว่า มีแนวทางการแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านในเขตป่าอยู่โดยไม่มีความผิด อยู่ในพื้นที่ได้ ตามมาตรา 64 ของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ปี 2562 ที่ต้องออกกฎหมายอันดับรองนั้น ไม่ได้เป็นการให้สิทธิ์ แต่เป็นเพียงการอนุญาต และเป็นกติกาที่ตึงเกินไป ยกตัวอย่าง เช่น ชาวบ้านจะทำสิ่งปลูกสร้าง จะสร้างบ้าน จะต้องเป็นไปตามแบบที่อธิบดีกำหนดแบบนี้ หรือการที่จะพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ก็เป็นไปด้วยความล่าช้า
ฉะนั้นกฎหมายอันดับรอง ตามมาตรา 64 จึงออกมาไม่ได้สักที นอกจากนั้น ยังไม่รวมถึงประเด็น เช่น เรื่องของการถือครองไม่เกิน 20 ไร่ ซึ่งแน่นอนว่า ประชาชนที่เขาอยู่มาก่อนประกาศเขตป่า ถือว่าเขาเสียสิทธิ เพราะจริง ๆ อาจจะมีที่ดินตกทอดจากบรรพบุรุษมามากกว่า 20 ไร่ แต่พอมาใช้เกณฑ์ตามมาตรา 64 ได้แค่ 20 ไร่ อย่างนี้เป็นใครก็ไม่ยอม เพราะฉะนั้นตัวการใช้เกณฑ์ตามมาตรา 64 ถ้ารัฐบาลตัดสินใจจะใช้ช่องทางนี้ ก็ต้องปรับให้ยืดหยุ่น
“วันนี้คนที่เขาเห็นด้วยกับการกันพื้นที่ออก คือว่า 1. เขาไม่ได้รับความเป็นธรรมจริง ๆ คือแน่นอนแหละ เข้าใจว่ามันจะมีเรื่องกรณี แปลงคดีอะไรต่าง ๆ ซึ่งผมคิดว่าเรื่องคดีต่าง ๆ มันเอามาเทียบไม่ได้กับความเดือดร้อนของคนซึ่งไม่ได้รับความเป็นธรรมเป็นหมื่นครอบครัว ซึ่งแปลงคดีต่าง ๆ ก็ประมาณ 300-400 คดี ตามตัวเลข ผมคิดว่าตรงนี้รัฐบาลบริหารจัดการได้ โดยกระทรวงยุติธรรมเป็นเจ้าภาพในการเร่งรัดคดี ตีกรอบการดำเนินคดี ประสานไปทางอัยการ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายในช่วงเวลาที่เขากระทำผิดมันเกิดขึ้นได้จริง ใครทำผิดไม่ควรจัดสรรให้อันนี้เป็นแนวทางที่ชัดเจนอยู่แล้ว แต่มันคนละกรณี ดังนั้นอย่าไปเอาชาวบ้าน 20,000 กว่าราย ที่ควรได้สิทธิ์ มาเป็นตัวประกัน จนทุกอย่างมันไม่มีทางออกไปหมด”
ผศ.ธนพร ศรียากูล
‘โฉนดชุมชน’ สอดคล้องแนวทางแก้ปัญหาอุทยานฯ ทับลาน
ถึงตรงนี้แนวทางสำคัญของการแก้ไขปัญหา ผศ.ธนพร ชี้ว่า ควรต้องยึดตามแนวทางมติคณะรัฐมนตรี 17 มี.ค. 2566 มีสาระสำคัญ ที่ให้ สปก. ดำเนินการจัดสรรที่ดินโดยออก สปก. 4-01 หรือ จัดที่ดินตามแนวนโยบายของคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ซึ่งหากไปดูรายละเอียดในกฎหมาย คทช. มาตรา 10 ( 4 ) ระบุไว้ชัดว่า ถ้าเป็น คทช. ต้องจัดเป็นลักษณะแปลงรวม หรือว่า เป็นรูปแบบอื่น ซึ่งอาจมีการจัดรูปที่ดิน ในรูปแบบโฉนดชุมชนก็ได้ ก็ถือเป็นทางเลือกทางออกสำคัญ ที่ให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมบริหารจัดการพื้นที่
“ผมคิดว่าแนวทางการจัดที่ดินการแก้ปัญหา ตรงนี้มันไม่ควรจะมีอยู่แนวทางเดียว หรือว่าต้องบอกว่า ถ้าไม่อันนั้นต้องอันนี้เท่านั้น ผมว่ามันไม่ใช่ไง มันมีวิธีการจัดการตั้งหลายแบบ ซึ่งอันนี้เนี่ยผมก็เลยเพิ่มให้อีกแนวก็คือ แนวโฉนดชุมชน ซึ่งอำนาจของคณะกรรมการ คทช. ประกาศเพิ่มได้เลย และก็ให้ชุมชนเขามีทางเลือกซะ ส่วนเขตอุทยานก็พูดตรง ๆ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้าน เพราะอีตอนประกาศก็ไปประกาศทับเขาจริง ก็ต้องเพิกถอนครับ”
ผศ.ธนพร ศรียากูล
ผศ.ธนพร ทิ้งท้ายว่า เรื่องของโฉนดชุมชน ดำเนินการไม่ยาก เพราะในพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เปิดช่องมาอยู่แล้วว่า การบริหารจัดการที่ดิน มีตั้งหลายรูปแบบ และรูปแบบหนึ่งที่สามารถจะใช้อำนาจคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ ประกาศได้เลย ก็คือรูปแบบโฉนดชุมชน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ง่ายมาก เพราะว่าคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พรรคเพื่อไทยก็เป็นประธาน โดย ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี คือการเพิ่มรูปแบบที่ดินที่หลากหลาย มีข้อดี คือในแต่ละพื้นที่ ไม่จำเป็นต้องใช้รูปแบบการจัดที่ดิน แบบใดแบบหนึ่งเหมือนกันทั้งประเทศ ยิ่งมีรูปแบบการจัดการที่ดินเยอะเท่าไร ยิ่งทำให้ปัญหาของประชาชนได้รับการแก้ไขปัญหาเข้ากับบริบทของแต่ละพื้นที่ได้มากขึ้นเท่านั้น
“ถ้าเอาอย่างทุกวันนี้ คุณไม่ไปมาตรา 64 ก็ต้องมา ส.ป.ก. ถ้าคุณไม่ไป สปก. ก็ไปโฉนดเลยเนี่ย ผมคิดว่าถ้าเราติดกับดักกันอยู่ใน 3 อย่างนี้ เราก็จะแก้ปัญหาที่ดินไม่ได้เลย”
ผศ.ธนพร ศรียากูล