ย้ำเพิกถอน ‘ป่าทับลาน’ คืนชาวบ้าน ส่วนคนรุกป่า – ติดคดี หมดสิทธิ์ยกเว้น

‘พัชรวาท’ – อธิบดีกรมอุทยานฯ ยันตรงกัน ดูแลชาวบ้านเป็นหลัก โยนคณะกรรมการอุทยานฯ ชี้ขาดคุณสมบัติผู้ครอบครองที่ดินรัฐ ใน 30 วัน ด้าน ‘กมธ.ที่ดินฯ’ จ่อถกปมทับลานพรุ่งนี้ เชื่อชาวบ้านอยู่ก่อน ปี 2524 ต้องได้รับสิทธิ์ ส่วน ส.ป.ก. ต้องเช็กทำเกษตรจริงหรือไม่

วันนี้ (9 ก.ค. 67) ผู้สื่อข่าว Thai PBS รายงานว่า พูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงกรณีปัญหาเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน 2.65 แสนไร่ โดย กมธ.ที่ดินฯ จะบรรจุเรื่องนี้เข้าสู่วาระการประชุมในวันที่ 10 ก.ค.นี้ เพื่อขอมติที่ประชุมบรรจุวาระกรณีป่าทับลาน เข้าสู่การพิจารณาในวันที่ 17 ก.ค. นี้

พูนศักดิ์ จันทร์จำปี ประธาน กมธ.ที่ดินฯ

โดยการประชุมของ กมธ.ที่ดินฯ จะนำข้อมูลในส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมอุทยานฯ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และ ส.ป.ก. รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาประกอบการพิจาณา เพื่อให้เกิดความกระจ่างกับสังคม และจะแจ้งผลการพิจารณาให้ประชาชนรับทราบต่อไป

ประธาน กมธ.ที่ดินฯ บอกอีกว่า การบริหารจัดการพื้นที่ป่า โดยเฉพาะในเขตพื้นที่อุทยานฯ ทับลาน ต้องมองแต่ละบริบทแตกต่างกันออกไป ในเขตพื้นที่ทับลานมีประชาชน 3 กลุ่ม ที่ทับซ้อนกันอยู่ในเขตพื้นที่ตรงนี้ กลุ่มแรก คือประชาชนที่อยู่มาก่อนการประกาศเขตอุทยานฯ เมื่อปี 2524 กลุ่มที่ 2 คือ ประชาชนที่ได้รับ ส.ป.ก. และอนุญาตให้ทำกินในพื้นที่ ส.ป.ก. และกลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่เข้ามาหลังประกาศเขตอุทยานฯ และทำให้เกิดคดีความ ซึ่งเท่าที่ทราบมีอยู่ 400 กว่าคดี ที่ทางกรมอุทยานฯ ได้ดำเนินการฟ้องร้องกับผู้ที่บุกรุกพื้นที่ 

“ทั้ง 3 กลุ่มนี้เราต้องดำเนินการในแต่ละเคสแตกต่างกันออกไป ไม่ใช่รวมทุกอย่างเหมาเข่งรวมกัน และประกาศพื้นที่อุทยานฯ เลยทั้งหมด เพราะรวมทั้งหมดประชาชนกลุ่มแรกก็จะเสียสิทธิ์ ซึ่งเราต้องยอมรับว่าสิทธิ์ของประชาชนที่อยู่มาก่อนในพื้นที่ป่าต้องได้รับการพิสูจน์ และการพิสูจน์สิทธิ์นี้ ต้องอาศัยกระบวนการดำเนินการ ซึ่งอาจจะล่าช้าไปบ้าง แต่คิดว่ามีความคุ้มค่าต่อประชาชนที่รอคอยสิทธิ์ตรงนี้มาตั้งแต่ปี 2524 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 40 กว่าปี และควรให้เขาได้มีสิทธิ์ของเขาเหมือนกัน”

พูนศักดิ์ จันทร์จำปี

ส่วนประชาชนกลุ่มที่ได้รับ ส.ป.ก. นั้น ประธาน กมธ.ที่ดินฯ มองว่า ต้องดำเนินการไปตามนั้น เพราะว่าหน่วยงานรัฐ คือ ส.ป.ก. เป็นคนออกเอกสารสิทธิ์ให้ ส่วนกลุ่มสุดท้ายที่ถูกดำเนินคดีอยู่ คิดว่าก็ต้องปล่อยให้ไปสู่กระบวนการของศาล และต้องเร่งพิจารณาเพราะจะมีผลกระทบต่อการประกาศแผนที่ ONE MAP ต่อเนื่องไปด้วย

พูนศักดิ์ ยังระบุถึง ข้อมูลจากบางกลุ่มว่าอาจจะมีกลุ่มทุนเข้ามาได้รับผลประโยชน์ในเรื่องเพิกถอนพื้นที่อุทยานฯ ทับลานนั้น มองว่า คำว่ากลุ่มทุนที่จะเข้ามามีผลประโยชน์ ก็ต้องมองจาก 3 กลุ่มข้างต้น ว่า กลุ่มไหนมีความเสี่ยงที่กลุ่มทุนจะเข้ามามีผลประโยชน์ ถ้าดูกลุ่มที่ 1 ก็ต้องยอมรับว่า การพิสูจน์สิทธิ์ก็เป็นขั้นตอน ที่จะต้องดำเนินการ ซึ่งการพิสูจน์สิทธิ์จะเป็นชาวบ้านกลุ่มเดิม หรือมีการซื้อขายเปลี่ยนมือนั้น คิดว่า ก็ต้องพิสูจน์ใหม่กันอีกครั้งหนึ่ง ส่วนในกลุ่ม ส.ป.ก. คิดว่าไม่น่ามีปัญหา เพราะเป็นกลุ่มที่ได้รับเอกสารสิทธิ์มาอยู่แล้ว แต่เรื่องการจะพิสูจน์ต่อเนื่องกันไปว่ามีการทำอาชีพเกษตรกรรมจริงหรือไม่อย่างไรนั้น ก็เป็นเรื่องของ ส.ป.ก.ที่ต้องไปดำเนินการต่อ ส่วนกลุ่มสุดท้ายแน่นอนอยู่แล้วว่าเรื่องอยู่ในกระบวนการชั้นศาล ก็ต้องรอให้ศาลดำเนินการต่อ

‘พัชรวาท’ ย้ำ เพิกถอนป่าทับลาน คืนชาวบ้าน 50,000 ไร่

ขณะที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุถึงการคัดค้านเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ที่ทับซ้อนกับที่ดินประชาชน 2.65 แสนไร่  ว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ดินของชาวบ้านประมาณ 50,000 ไร่ ส่วนนี้จะดูแลชาวบ้านเป็นหลัก ส่วนตัวเลข 2.65 แสนไร่ เป็นพื้นที่เขตอุทยานทับลานทั้งหมด ไม่ใช่คืนที่ดินทำกินทั้งหมด โดยคณะกรรมการอุทยานฯ จะเป็นผู้พิจารณา พร้อมย้ำว่า จะเร่งรัดให้พิจารณาภายใน 30 วัน

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

“กระแสที่ประชาชนทั้งประเทศไม่เห็นด้วยเราก็พร้อมรับฟัง แล้วนำมาพิจารณาภายหลัง โดยขั้นตอนกระบวนการทำประชาพิจารณ์ รับฟังความเห็น​จะแล้วเสร็จ ในวันที่ 12 กรกฎาคมนี้ โดยรายละเอียดขอให้ถามอธิบดีกรมอุทยานฯ”

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ

‘อธิบดีกรมอุทยานฯ’ ยัน ไม่ละเว้นคนรุกที่ – ติดคดี

อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ย้ำว่า ปัญหาพื้นที่พิพาทในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน มีมานานกว่า 40 ปีแล้ว เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวก่อนเป็นอุทยานฯ ได้เป็นป่าสงวนฯ มาก่อน และได้จัดพื้นที่ให้ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ได้เข้าไปทำกิน เนื้อที่ประมาณ 58,000 ไร่ แต่หลังจากนั้น ได้ประกาศอุทยานแห่งชาติ ไปทับพื้นที่ในส่วนนี้ด้วย ซึ่งถือเป็นความบกพร่องของ กรมป่าไม้ในอดีต จึงมีการเรียกร้องให้กันพื้นที่ออกจากอุทยานฯ และสำรวจพื้นที่ใหม่อีกครั้งในปี 2543 แต่กระบวนการดังกล่าวไปไม่ถึงจุดหมาย ซึ่งหลายรัฐบาลที่ผ่านมาพยายามแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้าน และมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) และมีมติให้กันพื้นที่ชุมชน จำนวน 2.65 แสนไร่ ให้เป็นพื้นที่ของ ส.ป.ก. และ ครม. ได้มีมติเห็นชอบในวันที่ 14 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา แต่บุคคลใดที่ถูกดำเนินคดี ในพื้นที่ดังกล่าวจะไม่ได้รับการยกเว้น

อธิบดีกรมอุทยานฯ เปิดเผยด้วยว่า สิ่งสำคัญจะต้องยึดหลักข้อเท็จจริง ทั้งเรื่องการอยู่อาศัยทำกิน และการดูแลรักษาผืนป่า เนื่องจากในจำนวน 2.65 แสนไร่ มีทั้งคนที่อยู่อาศัยอยู่เดิม จากการจัดสรรพื้นที่ และคนที่มาซื้อต่อเป็นมือที่ 2 มือที่ 3 รวมถึงกลุ่มรีสอร์ทที่ถูกดำเนินคดีกว่า 12,000 ไร่

อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ส่วนที่หลายคนมองว่ามติครมเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 เป็นการเอื้อนายทุนนั้น อธิบดีกรมอุทยานฯ ชี้แจงว่า รัฐบาลที่ผ่านมาพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินให้กับชาวบ้าน จึงเห็นว่าควรทำให้เป็นที่ดินของรัฐ และ ส.ป.ก. ก็ถือเป็นที่ดินของรัฐ ดังนั้น ส.ป.ก.จึงต้องเข้ามาพิจารณาตรวจสอบว่า ใครมีสิทธิ์ ในส่วนของกรมอุทยานฯ เองก็จะต้องไปพิจารณาร่วมกันในชั้นของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติเพื่อเสนอต่อ ครม.

“บุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติตามกฎหมาย ก็ยังจะไม่มีคุณสมบัติถือครองที่ดินอยู่อย่างนั้น ส่วนประชาชนจะต้องได้รับการจัดสรรพื้นที่จำนวนเท่าไร และใครจะได้บ้าง ก็ต้องไปหารือในชั้นคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เพราะคุณสมบัติแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนอยู่เดิม บางคนมาซื้อขาย เปลี่ยนมือบางคนเข้ามากว้านซื้อ จึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงคุณสมบัติผู้ครอบครองที่ดินของรัฐ”

อรรถพล เจริญชันษา

เมื่อถามว่า มติ ครม. ให้ดำเนินการตามแผนที่ที่มีการรังวัดใหม่ใน ปี 2543 เสียงของประชาชนจะสามารถเปลี่ยนแปลงมติดังกล่าวได้หรือไม่ อรรถพล ระบุว่า เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา และเป็นข้อเสนอของคณะกรรมการอุทยานฯ ซึ่งตอนนี้มีการรับฟังความเห็นทั้งชาวบ้านในพื้นที่ และในโลกออนไลน์ แต่ทุกอย่าง ต้องไปยุติที่คณะกรรมการอุทยานฯ เพื่อเสนอต่อ สคทช. หรือ ครม. หากมีมติ ให้ดำเนินการ ตามแผนที่ ปี 2543 กรมอุทยานฯ ก็ต้องมาดำเนินการรังวัดเพื่อปรับแผนที่ท้ายกฎหมายใหม่

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active