ชาวสวนยางพารา เตรียมปรับเข้ามาตรฐานสอบย้อนกลับ รับ EUDR

การยางแห่งประเทศไทย ขีดเส้น ภายในปีนี้ต้องตรวจสอบย้อนกลับได้ 2 ล้านตัน และเพิ่มเป็น 3.5 ล้านตันในปี 2568 ตามกฎเหล็ก EUDR แก้ปัญหาทำลายป่า เพื่อขยายตลาดและเป็นผู้นำกำหนดราคายางโลก

ก่อนหน้านี้กรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า กฎหมายของสหภาพยุโรป (อียู) ว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่ามีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2566 มีสาระสำคัญกำหนดให้ผู้นำเข้า ผู้ผลิตของอียูในสินค้า 7 ประเภท ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน เนื้อวัว ไม้ กาแฟ โกโก้ ถั่วเหลือง และสินค้าปลายน้ำบางรายการต้องยื่น Due Diligence statement รับรองว่า สินค้าดังกล่าวไม่ได้มาจากพื้นที่ที่มีการตัดไม้ทำลายป่า

ขณะที่ผู้ส่งออกสินค้าข้างต้นไปยังอียู จะต้องส่งพิกัดภูมิศาสตร์ และข้อมูลหลักฐานประเภทที่ดินให้แก่บริษัทนำเข้าของอียู เพื่อบริษัทดังกล่าวใช้ประกอบการจัดทำรายงานเพื่อยืนยันว่าสินค้าเหล่านั้นถูกต้องตามกฎหมายของประเทศผู้ผลิต และไม่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งจะเพิ่มขั้นตอนและค่าใช้จ่ายอย่างมาก ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเกษตรกรและผู้ส่งออกของไทยจำนวนกว่า 1.7 ล้านครัวเรือน ตลอดจนมูลค่าการส่งออกสินค้ารวม 7 ประเภทไปอียู คิดเป็น 6.2 หมื่นล้านบาทในปี 2564 โดยเฉพาะยางพาราซึ่งคิดเป็นมูลค่าส่งออกยางพารา 6 หมื่นล้านบาท

เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย

ด้าน เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันได้เร่งดำเนินมาตรการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งกำเนิดของสินค้าและผลิตภัณฑ์ยางพารา เพื่อรองรับการบังคับใช้กฎหมาย EU Deforestation-free Products Regulation (EUDR) ของสหภาพยุโรป ที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนธันวาคม 2567 นี้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถขยายตลาดยางพาราในสภาพยุโรปได้มากขึ้น

ปัจจุบันมียางพาราที่สามารถย้อนกลับได้เพียง 2 ประเทศ คือ ประเทศไอวอรีโคสต์ ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตยางที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกา สามารถตรวจย้อนกลับได้ประมาณ 1 ล้านตัน ขณะที่ประเทศไทยเองก็ถือว่าเป็นประเทศผู้ผลิตยางที่ใหญ่ที่ในโลก ขณะนี้สามารถตรวจย้อนกลับได้ประมาณ 1 ล้านตัน ซึ่งความจริงแล้วสหภาพยุโรปมีความต้องยางพาราถึง 4 ล้านตัน ดังนั้นประเทศไทยต้องใช้โอกาสนี้ในการขยายตลาดยางพารา

ขณะที่การยางแห่งประเทศไทยจะเพิ่มปริมาณยางพาราที่สามารถตรวจย้อนกลับถึงแหล่งกำเนิดได้ 1 ล้านตันให้ได้ 2 ล้านตันภายใน ปี 2567 ก่อนที่กฎหมาย EUDR จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งเมื่อรวมกับยางจากประเทศไอวอรีโคสต์แล้วจะมีปริมาณที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ประมาณ 3 ล้านตัน ยังมีปริมาณน้อยกว่าความต้องการของสหภาพยุโรป

อย่างไรก็ตาม กยท. ได้ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มปริมาณยางที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับให้ได้ 3.5 ล้านตันภายในปี 2568 เพื่อรองรับความต้องการของสหภาพยุโรป และประเทศอื่น ๆ ที่ซื้อยางจากประเทศไทยเพื่อนำเป็นแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ส่งไปขายในสหภาพยุโรป ซึ่งจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย EUDR เช่นกัน

ถ้าหากหลังจากเดือนธันวาคม 2567 สินค้าและผลิตภัณฑ์ยางพาราที่ไม่สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งกำเนิดได้ จะส่งไปขายในตลาดอียูไม่ได้แล้ว ดังนั้น จะดำเนินการผ่านเครือข่ายตลาดประมูลท้องถิ่นของ กยท. กว่า 500 แห่งทั่วประเทศ ที่จะยกระดับสร้างตลาดให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ด้วยการนำระบบการซื้อขายประมูลยางพารารูปแบบ Digital PlatformThai Rubber Trade (TRT) มาใช้ในการประมูลซื้อขาย ซึ่งจะสามารถตรวจสอบรายละเอียดในการซื้อขายแต่ละครั้งได้อย่างชัดเจน เนื่องจากมีการจัดเก็บข้อมูลและรวบรวมผลผลิตของสมาชิกแต่ละรายไว้เป็นระบบ พร้อมนำเทคโนโลยี Block chain เข้ามาใช้รองรับการการตรวจสอบย้อนกลับข้อมูลแหล่งที่มาของผลผลิตยางพารา จึงสามารถเช็กได้ว่าผลผลิตยางที่ขายไป มาจากสวนยางของสมาชิกรายใด สวนยางตั้งอยู่ที่พิกัดไหน และเป็นสวนยางที่มีประเภทของเอกสารสิทธิ์ที่ดินเป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมาย EUDR หรือไม่ ทั้งนี้ หากทำสำเร็จจะทำให้ราคายางพาราของไทยมีเสถียรภาพและสามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงกว่าราคายางทั่วไปไม่ต่ำกว่า 4-5 บาทต่อกิโลกรัม และจะมีส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้กำหนดราคายางโลก อย่างแน่นอน

สำหรับกฎหมาย EUDR เป็นกฎหมายว่าด้วยสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ 7 ประเภท ยางพาราก็เป็น 1 ใน 7 ประเภท ที่จะต้องปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่า ยางพาราและผลิตภัณฑ์จากยางมาจากสวนยางที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่อนุรักษ์ และพื้นที่ป่า รวมทั้งจะต้องการจัดการสวนยางพาราที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม

ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ยังกล่าวอีกว่า จะยกระดับเรื่อง EUDR เป็นกรณีพิเศษ และจะต้องกำหนดเป็นนโยบายที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน แม้ก่อนกน้านี้มีการบูรณาการทำงานร่วมกันกับหลายหน่วยงาน เช่น หน่วยงานภาคราชการไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานของสหภาพยุโรป หน่วยงานภาคเอกชน เกษตรกร และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในเรื่องเอกสารสิทธิ การบริหารจัดการสวนยางพารา

ปัจจุบันได้เตรียมความพร้อมการจัดการระบบข้อมูลเกษตรกร พิกัดสวนยาง ข้อมูลกลุ่มเกษตรกร กลุ่มสหกรณ์ ตลอดจนผู้ประกอบการที่ซื้อขายยางพาราผ่านตลาดกลางฯ กยท. และข้อมูลผู้ส่งออกที่สามารถเชื่อมระบบข้อมูลเข้าด้วยกันและสามารถตรวจสอบได้

ขณะที่ข้อมูลวิจัยกรุงศรี ระบุ ในปี 2564 ผลผลิตยางพาราธรรมชาติทั่วโลกมีปริมาณทั้งสิ้น 13.8 ล้านตัน โดยประเทศไทยมีผลผลิตยางพารามากเป็นอันดับ 1 ของโลก ประมาณ 5.2 ล้านตัน หรือ 37.5% ของผลผลิตโลก รองลงมา ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม จีน อินเดีย และมาเลเซีย ตามลำดับ สะท้อนว่าภูมิภาคเอเชียเป็นแหล่งผลิตยางพาราที่สำคัญของโลก (สัดส่วนมากกว่า 94% ของผลผลิตยางพาราทั่วโลก) คู่แข่งหลักของไทยจึงเป็นประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน โดยเฉพาะอินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศกลุ่ม CLMV (Cambodia, Laos, Myanmar, Vietnam) ซึ่งมีผลผลิตยางพาราส่วนเกินสูงเช่นเดียวกับไทย

ปัจจุบันไทยยังคงสถานะเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ยางขั้นกลาง (Intermediate Rubber Industry) สำคัญของโลก โดยเฉพาะน้ำยางข้นและยางแผ่นรมควันที่ไทยมีการส่งออกมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก ส่วนยางแท่งส่งออกเป็นอันดับสองของโลก

ในช่วงปี 2565-2567 ผลประกอบการของผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยางพาราขั้นกลางโดยรวมมีแนวโน้มปรับดีขึ้น แต่อาจต้องเผชิญการแข่งขันจากประเทศเพื่อนบ้านที่เริ่มมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่เกษตรกรสวนยางได้แรงหนุนจากราคาที่ทรงตัวสูง แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงด้านผลผลิตที่อาจลดลงจากโรคใบร่วงยางพารา

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active