สำรวจอุปสรรค อนาคตข้าวไทย

เมล็ดพันธุ์ไม่เพียงพอ การวิจัยพัฒนาพันธุ์ไม่ต่อเนื่อง เกษตรกรนำเมล็ดพันธุ์ข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาปลูก หลากปัจจัยปัญหาโอกาสพัฒนาข้าวไทย ด้านอธิบดีกรมการข้าว ยอมรับไทยเสียโอกาส ยืนยันเดินหน้าปรับยุทธศาสตร์พัฒนาพันธุ์ข้าว

วันนี้ (28 ม.ค.2567) ข้อมูลเวลานี้ ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 70-80 ล้านไร่ ทั้งนาปีและนาปรัง แต่ที่ผ่านมามีเสียงสะท้อนว่าเมล็ดพันธุ์ข้าวมีไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก จากหลายสาเหตุ เช่น ต้องใช้เวลามากในการพัฒนาพันธุ์ข้าวคุณภาพ งบฯวิจัยด้านข้าวมีไม่มากพอและไม่ต่อเนื่อง ขณะที่เกษตกรก็เริ่มนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาปลูกมากขึ้น

ขณะที่การประกวดสายพันธุ์ข้าวที่ดีที่สุดในโลก (The World’s Best Rice 2023) ข้าวหอม ST25 จากประเทศเวียดนามคว้าอันดับ 1 จากพันธุ์ข้าวที่ส่งเข้าประกวดประมาณ 30 ตัวอย่างจากหลายประเทศ แต่มีคำยืนยันจากนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุว่า ปี 2566 ไทยไม่ได้ส่งข้าวเข้าประกวด เพราะเห็นว่า การประกวดในระยะหลังเน้นเชิงพาณิชย์มากเกินไป แต่ก็ยอมรับว่า ข้าวไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีคุณภาพลดลง สำหรับประเทศไทยเคยส่งข้าวหอมมะลิเข้าร่วมการประกวด The World’s Best Rice มาแล้ว 14 ครั้ง ได้รับรางวัลที่ 1 ถึง 7 ครั้ง 

ข้อมูลจากกรมการข้าวพบว่า ในแต่ละปีเกษตรกรมีความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์สูงถึง 1.4 ล้านตัน โดยเกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์เอง 7 แสนตัน อีก 7 แสนตัน เป็นความต้องการซื้อ-แลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าว แต่ทุกภาคส่วนสามารถผลิตได้เพียง 4.6 แสนตัน ยังขาดเมล็ดพันธุ์ดี แม้ปัจจุบันจะมีการขยายให้กลุ่มเกษตกร วิสาหกิจชุมชน ศูนย์ข้าวชุมชนอื่นๆ เข้ามาเรียนรู้มาตรฐานอย่างถูกต้อง แต่ก็ยังไม่เพียงพอ

นฤมล ฉัตรวิไล เกษตกรรุ่นใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี

นฤมล ฉัตรวิไล เกษตกรรุ่นใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ตั้งแต่เรียนจบปี 2550 เริ่มทำงานโครงการไตรภาคี 200,000 ไร่ 5 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือร่วมกับเอกชน โดยมุ่งเน้นการผลิตข้าวคุณภาพมาตรฐาน GAP เพื่อให้ได้ข้าวคุณภาพดี แต่ปัญหาที่ผ่านมาก็ยังมีข้าวแดงปน ข้าวเหนียวปน

“พอถามชาวนาคือพบว่า เขาบอกหาซื้อพันธุ์ข้าวไม่ได้เลย เพราะกรมการข้าวเขามีข้าวให้ไม่พอ โดยเฉพาะ ข้าวหอมมะลิ 105 และ กข.15 ผลิตยากมากชาวบ้านต้องเก็บเมล็ดพันธุ์เอาไว้เอง ไม่มีการคัดพันธุ์ ไม่มีการตรวจแปลง ทำให้ข้าวปลอมปน เก็บพันธุ์เดิมไว้ ซึ่งในนั้น มันก็รวมข้าวดีด ข้าวปนมา มันก็รวมกันมาด้วย พอมีข้าวปลอดปนเยอะพอเอาไปขายโรงสี โรงสีก็ตัดราคา บางโรงสีก็ไม่ซื้อ ไม่มีตลาด บางคนก็ยอมขายในราคาต่ำ”

ปัญหาที่แก้ไขยากเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน


ที่ผ่านมาในอดีต จากการที่ทำงานมาหลายปี ที่ชาวนามักเจอ การโกงตาชั่ง หรือแม้แต่การกดราคา สุดท้ายไม่มีมาตรฐานการรับซื้อว่าเป็นธรรมกับชาวนา ดูเหมือนไม่เป็นกลางสิ่งที่ชาวนาต้องการอยากได้ตลาดรองรับข้าวดีๆ จะได้ผลิตข้าวคุณภาพให้ ปัญหาที่แก้ไขยาก เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ราคาข้าวเปลือก ตลาด (โรงสีหรือผู้ประกอบการ) ปัจจัยการเพาะปลูก

“ชาวนาต้องการตลาดล่วงหน้า (มีความชัดเจนซื่อสัตย์กับชาวนา) ขายข้าวได้ราคาดี ต้นทุนต่ำ กำไรสูง ไม่อยากมีหนี้สิน ทำนาครั้งเดียวต่อปี อยากได้เงินเยอะๆ ไม่ขาดทุน แต่ชาวนาไม่มีทางเลือก จำเป็นต้องขายโรงสีทั่วไป หลังจากทำงานด้านเกษตรในภาคอีสาน พบว่า ที่จริงชาวนาก็ต้องการผลิตข้าวคุณภาพ โรงสีก็อยากรับซื้อข้าวเปลือกคุณภาพในราคายุติธรรม”

มล็ดพันธุ์ข้าวมีคุณภาพตอบโจทย์หรือไม่

ในพื้นที่ภาคอีสาน ทั้งอุบลราชธานี และอำนาจเจริญ ส่วนใหญ่ปลูกข้าวหอมมะลิ 105 และ กข.15 ถือเป็นข้าวคุณภาพดีที่เกษตรกรต้องการและราคาสูง แต่อาจต้องใช้เวลาปลูกแค่ช่วงนาปีเท่านั้น อย่างข้าว อย่างข้าว หอมมะลิ 105 จะใช้เวลาปลูก 120-140 วัน ใช้เวลามาก ซึ่งบางครั้งก็มีความเสี่ยง ทั้งแรื่องของฝน การเพาะปลูก และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ขณะที่ข้าว กข.15 จะนิยมปลูกมากกว่า ใช้เวลา 110-120 วันก็เก็บเกี่ยวได้ แม้จะมีการนิยมปลูก แต่การรักษา คุณภาพ ต้นทุน ก็ต้องรักษาคุณภาพถึงจะได้ราคาสูง

ขณะเดียวกันเมล็ดพันธุ์บ้านเรา ต้องยอมรับมีคุณภาพ แต่วิธีการผลิตค่อนข้างยุ่งยาก ไม่ว่าจะเป็นการปลูกที่ต้องคิดถึง การควบคุมวัชพืชข้าว ปัจจุบันก็มีการทำนาหยอด นาดำ ลดต้นทุน ไปได้มาก แต่ก็อยากฝากถึงรัฐว่าหากมีนโยบายสนับสนุนเครื่องจักรด้านเมล็ดพันธุ์ก็จะทำให้เกษตกรทำงานได้ดีขึ้นและดึงดูดใจปลูกข้าวคุณภาพ ขณะเดียวกันข้อจำกัดการส่งออกเมล็ดพันธุ์ข้าวหากลดช่องว่างให้มีพันธุ์ข้าวที่หลากหลาย อายุสั้นตอบโจทย์เกษตรกร ก็จะให้เกษตกรสนใจปลูกข้าวคุณภาพมากขึ้น

นิพนธ์ สมิทธาพิพัฒน์ เลขาธิการสมาคมโรงสีข้าวไทย

นิพนธ์ สมิทธาพิพัฒน์ เลขาธิการสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ปัจจุบันโรงสีไทยมีกำลังการผลิตมากกว่า 3 เท่าของปริมาณข้าวที่ผลิตได้ การแข่งขันของโรงสีไทยจึงสูงมาก และอัตรากำไรต่ำมานานมาก เราในฐานะคนกลางก็อาจกำหนดข้าวจากเกษตกรได้ค่อนข้างยาก แต่หากเกษตกรได้เมล็ดพันธุ์ที่ดีมีคุณภาพก็จะเป็นการทำให้ราคาข้าวดีขึ้น ไม่มีข้าวปน โดยปัจจุบันต้องเข้าใจว่าพื้นที่ปลูกข้าวลดลง ตลาดข้าวผันผวน และยังมีข้าวจากต่างประเทศเข้ามาแข็งขันสูงทุกวันนี้เกษตรหลายคน ที่ปลูกข้าวมักใช้ข้าวอายุสั้น ผลผลิตสูง ซึ่งหากประเทศไทยพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าว ที่ตอบโจทย์เกษตกรได้ไวก็จะส่งผลดีให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวไทย

“เพราะจริงๆแล้ว ไทยมีข้าวหลากหลาย ทั้งข้าวขาว ข้าวนุ่ม ข้าวหอมมะลิ แต่ที่ผ่านมาก็มีข้าวเวียดนามเข้ามา เช่นข้าวเบอร์ 20 และ เบอร์ 5 ที่เริ่มปลูกกัน หลายคนบอกว่าอายุสั้น ได้ผลผลิตไว ขายได้ทันที ขณะที่ในมุมมองผู้ประกอบการโรงสีก็คิดว่าหากเมล็ดพันธุ์ข้าวไทย ที่มีเปลือกบางและเมล็ดน้ำหนักไม่น้อยจนเกินไป ก็ยังจะตอบโจทย์ให้โรงสีมีโอกาสแข่งขันกับการส่งออกได้ด้วย”

ข้อเสนอเชิงนโยบายที่อยากให้ปรับ

ประเทศไทยควรมี Big Data หรือข้อมูลการปลูกข้าว ที่ตัวเลขต้องสะท้อนความจริง อย่างข้าวเวียดนามที่มาเพาะปลูกในไทย ไม่มีการลงในระบบข้อมูล เพราะเกษตรกรก็ไม่กล้าแจ้ง กลัวไม่ได้รับเงินชดเชย ทำให้ข้อมูลไม่ตรง ไม่สามารถประมวลผลได้ โรงสี ผู้ส่งออก ไม่สามารถคาดการณ์ผลผลิตได้ ขณะเดียวกัน ทั้งปริมาณ ชนิดข้าวและสายพันธุ์ และเปิดโอกาสให้มีการยอมรับสายพันธุ์ข้าวที่ไม่ได้ผ่านการรับรอง

การพัฒนาพันธ์ข้าวที่ตอบโจทย์ทุกฝ่าย

นักวิจัยไทย ต้องปรับปรุงพันธุ์ ให้ผลิตข้าวอายุสั้นปลูกง่ายประสิทธิภาพสูง ตรงใจผู้บริโภค ซึ่งหากย้อนมองปริมาณผลผลิต ทำไมข้าวเวียดนามจึงผลผลิตดีกว่าไทย เพราะส่วนหนึ่งข้าวไทยที่มีคุณภาพสูง เมล็ดต้องยาว 7 มิลลิเมตร แต่เมื่อคุยกับนักวิจัย พบว่า ข้าวยิ่งเมล็ดยาว ผลผลิตต่อไร่จะลดลง เป็นไปได้หรือไม่ที่ ปรับไฟท์ติ้งแบรนด์ เป็น ตลาดกินให้อิ่ม ข้าวไม่ต้องยาว 7 มิลลิเมตร สั้นลงหน่อยแต่ผลผลิตดีขึ้น อย่างข้าวเวียดนามบางชนิด เขาได้ 6.5 มิลลิเมตร แม้บางครั้งไม่ถึงมาตรฐานดีที่สุดที่ไทยรักษาคุณภาพ แต่เมื่อตลาดและความต้องการของชาวนาที่ต้องการผลผลิตก็อาจทำให้เขาเปลี่ยนใจขายข้าวที่ไม่ต้องมีมาตรฐานมากเพื่อนำเงินมาใช้จ่าย นั้นหมายความว่า พันธ์ข้าวต้องตอบทุกฝ่าย เกษตรกร ต้องการพันธุ์ที่ปลูกง่าย ให้ผลผลิตดี ใช้เวลาสั้น

พัฒนาระบบชลประทาน

เราต้องสร้างความยั่งยืนให้เกษตรกร ราคามีเสถียรภาพ และ Zoning การปลูกข้าวต้องชัดจากข้อเสนอทั้งหมดเหล่านี้ ยังถือว่าเป็นปัจจัยรองลงมา หรือการยึดติดว่าข้าวหอมมะลิไทยดีที่สุด เป็นไปได้หรือไม่ที่จะพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม หอมกว่าเดิม กินดีกว่าเดิม

สะท้อนวงการเมล็ดพันธุ์ข้าวไทย

ปัจจุบันมีการปรับปรุงพันธุ์ของไทยหลายคน สะท้อนว่า การนำข้าวจากต่างประเทศเข้ามาพัฒนาพันธุ์ข้าวมีความยากเพราะมีกฎหมายกำกับ ต้องไปขออนุญาตไปนำเข้าพันธุกรรมจากต่างประเทศแล้ว กว่าจะผ่านที่ด่านกักกันโรค ข้าวก็ไม่งอกแล้ว การที่ต้องปรับปรุงพันธุ์อื่นๆเข้ามาก็เพื่อให้เกิดสายพันธุ์ที่ตอบโจทย์เกษตรกรและคุ้มค่า แต่หากใช้เพียงพันธุ์ข้าวของไทยอย่างเดียวอาจไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด เพราะการแข่งขันสูงมาก อย่างจีนพัฒนาข้าวได้ 2 ตันต่อไร่ เวียดนามก็ผลผลลิตสูงกว่า ขณะที่ของไทยนาปรังอยู่ประมาณ 700-800 กิโลกรัม /ไร่ ถ้าเป็นข้าวทั้งประเทศเราก็จะอยู่ประมาณ 400 กว่ากิโลกรัม /ไร่ ถ้ารวมข้าวหอมมะลิด้วย

ขณะที่ประเด็นสำคัญในเรื่องงบประมาณการวิจัยพันธุ์ข้าวทั้งในกรมการข้าวเองก็มีไม่มากพอที่จะปรับปรุงพันธุ์ได้ทันทีทันใดให้ทัน ตลาด หรือ การปรับปรุงพันธุ์ข้าว ต้องใช้เวลาในการวิจัยนานถึง 5-10 ปี สวนทางกับงบฯวิจัยที่สั้น 1-2 ปีที่อาจไม่เห็นผล

ณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว

ณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผย ในการประชุมเวทีข้าวไทยเรื่อง “อนาคตข้าวไทย : โอกาสและความท้าทาย” ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ว่า ที่ผ่านมาปัญหาข้าวไทยมีมานาน แผนงานข้าวไทยต้องถูกรื้อและปรับใหม่ เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ข้าวก็ปรับเปลี่นค่อนข้างสูง แต่วันนี้จะทำให้ ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าว หรือผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น

“ผมได้ปรับยุทธศาตร์ในเรื่องภาคการผลิตเมล็ดพันธุ์ เรื่องงานวิจัย ได้งบฯวิจัยมาบางส่วน ได้อุปกรณ์ มาพอสมควรแต่เราต้องหานักวิจัย เพราะวันนี้นักวิจัยเราอ่อนแอ ขาดการพัฒนาต่อเนื่อง เพราะต่อจากนี้อาจต้องนำเทคโนโลยีจากต่างประเทศเข้ามา เพื่อแก้ปัญหาให้ยั่งยืน ปีที่ผ่านมาเราเสียโอกาส ในการลดต้นทุนการผลิต การจัดทำงบประมาณ ซึ่งต่อจากนี้ไปอาจต้องพัฒนาให้ก้าวทันนานาประเทศให้ได้”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active