ระดมความเห็น ฟื้นคืน พื้นที่ธรรมชาติย่านอารีย์

กลุ่ม Ari Around-กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับภาคีเครือข่าย เปิดรับฟังเสียงผู้คน เตรียมเดินหน้า อนุรักษ์-พัฒนาบึงน้ำ หน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สร้างระบบนิเวศ พื้นที่ชุ่มน้ำในเมือง

วันนี้ (19 มี.ค. 66) กลุ่ม Ari Around โดย ชาวชุมชนย่านอารีย์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรมควบคุมมลพิษ, กลุ่ม we!park และภาคี ร่วมจัดกิจกรรมสำรวจพื้นที่และแสดงความคิดเห็นเพื่อพัฒนาพื้นที่สีเขียวรอบบึงหน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอแนวคิดการบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะชุ่มน้ำ และฟื้นคืนความหลากหลายทางชีวภาพในเมือง

อรุณี อธิภาพงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง AriAround เล่าว่า 13 เดือนที่แล้ว กลุ่ม Ari Around ได้มีการเดินสำรวจพื้นที่สีเขียวในย่าน รวมถึงพื้นที่ธรรมชาติในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้ทราบว่าบึงหน้ากระทรวงฯ มีความเป็นธรรมชาติสูง ร่มรื่นด้วยต้นไม้ และให้ความสงบเงียบสำหรับคนมาเยือน ในขณะเดียวกันก็ทราบว่าทางกระทรวงฯ กำลังจะมีการทำลู่วิ่ง ซึ่งทางกลุ่มคิดว่าไม่เห็นด้วย จึงเขียนจดหมายถึงปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อ้างอิงข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่ชี้ให้เห็นความสำคัญของธรรมชาติดั้งเดิม และขอให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ในย่าน เป็นที่มาของการจัดกิจกรรมในวันนี้

“เราเห็นศักยภาพในการเป็นพื้นที่ธรรมชาติ พักผ่อนหย่อนใจ เข้าถึงความสงบได้อย่างรวดเร็วใจกลางเมือง สามารถเป็นพื้นที่เรียนรู้เชื่อมโยงกับธรรมชาติ ซึ่งการที่จะมีโครงการพัฒนาและเปิดรับฟังความคิดเห็นจึงเป็นโอกาสที่ดี เพื่อจะได้พัฒนาพื้นที่ให้ตอบโจทย์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่นด้วย ซึ่งหลังจากนี้จะมีการสรุปปรับแบบกันอีกรอบหนึ่ง และจะนำเสนอให้ชุมชนได้รับรู้ร่วมกัน เพื่อหามติชุมชน”

ปรมินทร์ วัฒน์นครบัญชา ผู้นำเดิน Ari Eco walk มองว่า เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ จำเป็นต้องมีความหลากหลายของทางเลือกในการพัฒนา และโดยเฉพาะพื้นที่สีเขียวที่เมืองมี ก็ควรที่จะมีการออกแบบที่หลากหลายเพื่อตอบโจทย์การใช้งานที่ต่างกัน บางคนอาจจะต้องการที่ออกกำลังกาย บางคนอาจจะต้องการแค่พื้นที่พักผ่อน โดยที่ไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถเดินสำรวจพื้นที่เพื่อความรู้ หรือนันทนาการ จึงเห็นด้วยต่อการรักษาพื้นที่บริเวณนี้ไว้เพื่อเป็นทางเลือกอื่น ๆ นอกเหนือจากการออกกำลังกาย ซึ่งมีพื้นที่รับรองอยู่แล้วในบริเวณใกล้เคียง

“การมีพื้นที่พักผ่อนแบบนี้ ทำให้รู้สึกมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ทั้งในด้านกายและจิตใจ พื้นที่ทำให้เกิดกิจกรรมมากมาย เช่น การสำรวจธรรมชาติ การมีที่รวมกลุ่มสังคมของคนที่มีมุมมองความสนใจใกล้เคียงกัน ดีใจที่ท่านอธิบดีฯ ซึ่งเป็นผู้บริหาร ได้เปิดโอกาสให้รับฟังความคิดเห็นจากหลากหลายมุมมอง นอกจากนั้นแล้วการที่เรายังคงสภาพเอาไว้แบบนี้ ทำให้เปิดมุมมองว่าในเมืองเองก็มีชีวิตอื่นหลากหลายที่อยู่รอบตัวเราด้วย เช่น ต้นไม้ พืช เต่า ตัวเงินตัวทอง ในระยะยาวจะเป็นการสอนให้คนเห็นคุณค่าของความหลากหลายด้วยประสบการณ์ตรง และทำให้เคารพชีวิตอื่น สรรพสิ่งอื่นๆ ด้วย”

ปรมินทร์ ย้ำว่า กระบวนการหลักจากนี้เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมากสำหรับชุมชน เช่น การทำกิจกรรมร่วมกันของชุมชน อาจจะมีการสำรวจความหลากหลาย มีกิจกรรมเก็บข้อมูลเรื่องคุณภาพชีวิตกับสิ่งแวดล้อม และการทำกิจกรรมสร้างสรรค์อื่น ๆ ร่วมกัน

ขณะที่ ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษมีนโยบายที่จะพัฒนาพื้นที่สีเขียวหน้ากระทรวงฯ ให้เป็นต้นแบบของการฟื้นฟูธรรมชาติ เพราะการแก้ปัญหาโลกรวนไม่ใช่แค่การเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์แต่ต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองด้วย อย่างน้อย 50-60% ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงฯ ก็ได้ตอบรับโครงการป่าในเมือง และโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ สำหรับที่นี่สิ่งที่อยากทำคือการสร้างต้นแบบ เป็นตัวอย่างของฟื้นคืนระบบนิเวศในเมือง ควบคู่กับการใช้ประโยชน์ของคน

“โชคดีที่ได้ความร่วมมือภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ภาควิชาการที่ให้ความสนใจในโครงการนี้ และกรมได้มีบทบาทช่วยเชื่อมต่อภาคเอกชน ภาครัฐ ในการสร้างต้นแบบพื้นที่ เป้าหมายเดียวกันคือต้องการรื้อฟื้นระบบนิเวศธรรมชาติดั้งเดิม การเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ การมีต้นไม้ บึง บ้านของสัตว์ เช่น ผีเสื้อ แมลงปอ การมีดอกไม้ธรรมชาติ พืชพันธุ์ไม้ต่างๆ และการจัดการน้ำที่ดี ให้นกหรือเต่าบางชนิดกลับมาอยู่อาศัยได้ ทางกระทรวงเอง มีทั้งกรมป่าไม้ กรมอุทยาน กรมทะเล มีผู้เชี่ยวชาญมากมายที่หากได้ข้อสรุปแล้วเราก็จะทำงานร่วมกันได้ หากจะมีการปรับพื้นที่ก็จะต้องให้รูปแบบกลมกลืนกับธรรมชาติ และการนำของเหลือใช้มาใช้ประโยชน์ได้ก็เป็นเรื่องที่ดี ในอนาคต สามารถที่จะให้บริการสาธารณะ แต่เบื้องต้นต้องการรื้อฟื้นธรรมชาติกลับมาก่อน”

ผู้ที่สนใจสามารถร่วมแสดงความคิดเห็น หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ แบบสํารวจความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่และประชาชนทั่วไป ที่มีต่อการใช้พื้นที่รอบบึงกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active