วันพืชมงคล 13 พ.ค. เริ่มต้นฤดูเพาะปลูก กรมอุตุฯ ​ประกาศการเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ เตรียมเฝ้าระวังน้ำมาก จากปรากฏการณ์ลานีญา

คาดแนวโน้มปีนี้ฝนมาเร็วกว่าปีที่แล้ว ​กรมอุตุนิยมวิทยาประเมินฝนรวมในช่วงฤดูฝนจะสูงกว่าค่าปกติร้อยละ 3 น้ำมากต่อเนื่องช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค. ​ จับตาพายุหมุนเขตร้อนผ่านภาคเหนือ และ อีสาน ด้านกรมชลฯ​ เดินหน้าแผนจัดสรรการใช้น้ำ ​

วันนี้(13 พ.ค.2565)กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศเข้าสู่ฤดูฝนในวันพืชมงคลและจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือน ตุลาคม โดยคาดว่าปริมาณฝนรวมในช่วงฤดูฝนจะสูงกว่าค่าปกติร้อยละ 3 สำหรับกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางกรกฎาคม จะยังคงมีฝนทิ้งช่วง ซึ่งอาจทำให้พื้นที่นอกเขตชลประทานยังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ ส่วนในช่วงเดือนสิงหาคมและเดือนกันยายน ฝนจะตกชุกหนาแน่น เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลากได้ในหลายจังหวัด

ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า สาเหตุที่ปีนี้ฝนมาเร็วกว่าปกติมาจากปรากฏการณ์ลานีญาหรือภาวะน้ำมาก เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วลากยาวมาจนถึงต้นปีจึงทำให้เกิดฝนตกบ่อยครั้ง โดยปริมาณฝนสะสมตั้แแต่วันที่ 1 มกราคมถึงปัจจุบัน ทั้งประเทศสูงกว่าค่าปกติร้อยละ 65 ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในภาวะลานีญาหรือน้ำมาก ที่จะต่อเนื่องไปจนถึงช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2565 จากนั้นจะมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ภาวะปกติต่อไป

ขณะที่ฤดูฝนปีนี้ คาดว่าจะมีพายุหมุนเขตร้อนจะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย จำนวน 2 ลูก โดยมีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนผ่านบริเวณ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือในช่วงเดือนสิงหาคมหรือเดือนกันยายน

ประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า การบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 2564/65 ได้สิ้นสุดลงแล้วเมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่ผ่านมานี้ ผลการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร รวมไปถึงการควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำสายหลักต่างๆ เป็นไปตามแผนที่วางไว้อย่างเพียงพอตลอดฤดูแล้ง

สำหรับการจัดสรรน้ำในภาพรวมทั้งประเทศ พบว่ามีการใช้น้ำไปทั้งสิ้น 22,998 ล้านลูกบาศก์เมตร (แผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศจัดสรรไว้รวมทุกกิจกรรม 22,280 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร สำรองน้ำต้นฤดูฝน 15,557 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร) เกินแผนที่ตั้งไว้เล็กน้อย ด้านผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งประเทศ มีการเพาะปลูกรวมกว่า 8.11 ล้านไร่ (แผนวางไว้ 6.41 ล้านไร่) ซึ่งปีนี้ได้ส่งน้ำเกินแผนไปประมาณ 718 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร แต่เกษตรกรสามารถทำการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งได้เพิ่มอีก 1.7 ล้านไร่ ซึ่ง 2-3 ปีก่อนหน้านี้ ได้ขอความร่วมมือพี่น้องเกษตรกรให้ชะลอการทำนาปรัง เนื่องจากมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ

แต่ในฤดูแล้งที่ผ่านมา กรมชลประทานสามารถบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ได้อย่างเต็มศักยภาพ ด้วยการจัดสรรน้ำอย่างประณีต ทำให้พี่น้องเกษตรกรในเขตชลประทานมีรายได้จากการเพาะปลูกพืช ส่วนน้ำสำรองต้นฤดูฝนที่เราคาดการณ์ไว้ว่าจะต้องสำรองประมาณ 15,557 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร ปรากฏว่าในวันเริ่มต้นฤดูฝน วันที่ 1 พ.ค. 65 เรามีน้ำต้นทุนอยู่ 19,950 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ 4,393 ล้านลูกบาศก์เมตร ถือว่าเป็นกำไร นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินโครงการจ้างแรงงานชลประทานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงฤดูแล้ง ที่จนถึงขณะนี้มีการจ้างงานไปแล้วกว่า 74,000 คน

สำหรับแผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูฝนปี 2565 กรมชลประทาน ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำ โดยส่งเสริมการเพาะปลูกพืชฤดูฝนให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ใช้น้ำชลประทานเสริมกรณีฝนทิ้งช่วงหรือปริมาณฝนตกน้อยกว่าคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่สำคัญได้วางแผนบริหารจัดการน้ำภายใต้มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 ทั้ง 13 มาตรการ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 โดยได้เตรียมการรับมือปัญหาอุทกภัย ด้วยการกำหนดวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ปริมาณน้ำในลำน้ำ กำหนดคน กำหนดผู้รับผิดชอบในพื้นที่ต่างๆ ที่อาจจะได้รับผลกระทบ

รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานจังหวัด ร่วมกันติดตามและวิเคราะห์หรือคาดการณ์สถานการณ์น้ำในลำน้ำ การจัดสรรทรัพยากร เช่น เครื่องสูบน้ำ เครื่องจักรกล รถขุด รถแทรกเตอร์ หรือเครื่องมือต่างๆ ให้พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา โดยในวันนี้ได้มีการปล่อยคาราวานเครื่องจักรกลและเครื่องมือต่างๆ ที่ประจำอยู่ที่ศูนย์บริหารเครื่องจักรกลที่ 1-7 ของสำนักเครื่องจักรกล จำนวนรวม 5,382 หน่วย ออกไปเตรียมพร้อมในการช่วยเหลือประชาชนทั่วประเทศตลอดช่วงฤดูฝนนี้

เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย ขณะนี้พื้นที่ปลูกข้าวมีพื้นที่ชัดเจนโดยปีนี้จะพยายามส่งเสริมให้เกษตรกรมีข้าวพันธุ์ดีปลูกเพื่อลดปัญหาข้าวคุณภาพต่ำ ส่วนเรื่องการส่งออกเริ่มมีการเจรจาและสร้างโอกาสไว้ในหลายประเทศ แต่อย่างน้อยข้าวของไทยต้องมีคุณภาพเพื่อสู่กับคู่แข่งชาติอื่นๆ ให้ได้ ซึ่งปีนี้นับเป็นโอกาสดีที่ยังไม่มีพื้นที่ประสบภัยแล้งรุนแรงเนื่องจากน้ำมากจึงส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้และฟื้นตัวได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์