แนะรัฐ ทำให้คนจนเมือง เข้าถึง “ที่อยู่อาศัย” ลดภาระ-ยกระดับคุณภาพชีวิต

นักวิชาการ และนักพัฒนาด้านที่อยู่อาศัย เห็นตรงกันว่า สภาพชีวิตของบ้านเช่าคนรายได้น้อยส่วนใหญ่มาตรฐานไม่ค่อยดี ทำให้คนจนเมืองต้องแบกรับภาระ ทั้งค่าใช้จ่ายที่สูงและคุณภาพชีวิตที่ไม่ค่อยดีนัก โดยเฉพาะแรงงานราคาถูกที่จำเป็นต้องอยู่ในเมืองใหญ่ เพราะใกล้แหล่งงาน เดินทางสะดวก

The Active สำรวจย่านซอยกีบหมู เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร แหล่งรวมแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ พบค่าเช่าบ้านเฉลี่ยอยู่ที่ 2,000-3,500 บาท ซึ่งถือเป็นภาระที่หนัก เพราะแรงงานที่นี่มีงานไม่แน่นอน และราคาไม่สอดคล้องกับคุณภาพของที่อยู่อาศัย

คนที่ถนัดก่อสร้าง และใช้แรงงาน ค่าแรงจะอยู่ที่ประมาณ 600-700 บาท/วัน ส่วนแม่บ้านหรือค้าขาย ค่าแรงจะอยู่ที่ 350 บาท/วัน แต่ไม่ใช่ทุกวันที่จะโชคดี และมีงานทำ ค่าแรงที่หายไป จึงหมายถึงชีวิตของแรงงานที่นี่ด้วย และยิ่งบางครอบครัวที่ต้องเลี้ยงลูก อาจจะยิ่งเพิ่มปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาวะของเด็กที่ไม่ปลอดภัย

ที่อยู่อาศัย บ้านเช่า

เช่น ครอบครัวมุ่ย-รุ่งอรุณ ศรีกระสัง แรงงานในซอยกีบหมู กรุงเทพฯ ต้องเสียค่าเช่าห้องเดือนละ 2,000 บาท แต่หากเทียบกับเงินเดือนที่ไม่แน่นอนของสามี ที่ใช้แรงก่อสร้างรายวัน ราคานี้ก็อาจจะแพงเกินไป สภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม บ้านที่ผุพัง-คุ้มแดดฝนได้บางครั้ง แบบนี้อาจไม่ดีนักต่อสุขภาวะของลูกชาย 2 คน ที่ค่อย ๆ เติบโตขึ้นในชุมชนนี้ หากบ้านเช่าราคาถูกและมีมาตรฐาน เป็นหนึ่งในสวัสดิการที่รัฐพยายามจัดหาให้ อาจจะช่วยแบ่งเบ่าภาระของครอบครัวนี้ให้เดินตามฝันได้มากขึ้น โดยเฉพาะการทุ่มเงินไปกับการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับลูกชายของพวกเขาอีก 2 คน

บ้าน ที่อยู่อาศัย

สอดคล้องกับ เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ผอ.สถาบันวิจัยนโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) มองว่า “ค่าบ้าน” เป็นภาระใหญ่รองจาก “ค่าอาหาร” หากคนรายได้น้อย ลดรายจ่ายดังกล่าวได้ จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อ เพิ่มโอกาสสร้างชีวิตให้คนจนมากขึ้น

ขณะที่ข้อมูลจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ยิ่งคนยากจน และไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง ก็ยิ่งแบกภาระค่าเช่าบ้านสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนจน 20% ล่างของประเทศ ต้องแบกรับภาระเกิน 50% ของรายได้ครัวเรือน พูดง่าย ๆ ว่า ยิ่งจน ค่าอาหาร และค่าเช่าบ้าน ก็จะยิ่งเป็นภาระที่กลุ่มคนจนต้องแบกรับ การมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงสำหรับคนจนเมือง อาจไม่ได้จำกัดที่การเป็นเจ้าของ แต่อาจหมายถึงการมีบ้านเช่าที่มั่นคง อยู่อาศัยใกล้แหล่งทำมาหากิน เพื่อลดภาระที่พวกเขาแบกรับอยู่แล้ว และช่วยให้พวกเขาสามารถสร้างเมือง และสร้างตัวไปพร้อมกัน

นพพรรณ พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย มองว่า ปัญหาห้องเช่า หรือการอำนวยความสะดวกให้ผู้เช่าที่เป็นแรงงานในเมืองมีสภาพความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ยังไม่เคยถูกแก้ปัญหากันอย่างจริงจังในระดับนโยบาย เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นใหม่ที่เพิ่งถูกนำมาถกเถียงกันในสังคม ในขณะที่ แรงงานกลุ่มนี้ก็ค่อย ๆ เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่เฉพาะแรงงานระดับล่าง แต่หมายถึงกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยทั่ว ๆ ไป ก็กำลังเผชิญปัญหาเรื่องค่าเช่าบ้านที่แพงมากขึ้น โดยเฉพาะบ้านเช่าใจกลางเมืองที่ใกล้แหล่งงานของคนมีรายได้น้อย จึงมีข้อเสนอ 3 ระยะ

ระยะสั้น : ให้หน่วยงานรัฐท้องถิ่นสำรวจแหล่งห้องเช่าคนส่วนใหญ่ หากมีสภาพแย่ทั้งขนาดห้อง และสภาพแวดล้อม ให้แก้ปัญหาจัดการเร่งด่วนทั้งเรื่อง ห้องน้ำ น้ำเสีย น้ำทิ้ง ระบบการจัดการขยะ ซึ่งเป็นเรื่องง่ายสุด รัฐสามารถทำได้เลย

ระยะกลาง : ควรมีนโยบายอุดหนุน สนับสนุนห้องเช่าราคาถูก เพื่อให้บริการกับคนเช่าห้องในอัตราที่ไม่แพงมากนัก ก็จะช่วยให้คนจนได้ราคาห้องเช่าที่ราคาถูกมากขึ้น มิฉะนั้นรายได้ส่วนใหญ่ก็จะหมดไปกับค่าเช่าบ้าน และไม่ได้ยกระดับคุณภาพชีวิตด้านอื่น ๆ

ระยะยาว : ทิศทางระยะยาวเรื่องที่อยู่อาศัย ควรยกระดับ ให้เป็นการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานให้ทุกคนเข้าถึงที่อยู่อาศัยซึ่งควรเป็นสิทธิ์ไม่ใช่แค่เรื่องกลไกตลาดที่คนต้องดิ้นรน

นพพรรณ ทิ้งท้ายว่า แรงงานเป็นกลุ่มคนที่สร้างความเจริญให้กับเมือง ทั้งในภาคบริการและก่อสร้าง จึงควรสนับสนุนให้คนกลุ่มนี้ใช้ชีวิตได้อย่างไม่ยากลำบากมากนัก และหากไม่มีนโยบายสนับสนุนดูแลคนกลุ่มนี้ เมืองก็อาจจะขาดแรงงาน ต้นทุนค่าแรงก็จะเพิ่มขึ้น แต่หากเราดูแลคนกลุ่มนี้ได้ดีก็จะช่วยทำให้คนทุกระดับอยู่ร่วมกันในเมืองที่ค่อย ๆ เติบโตได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน