4 แคนดิเดต ผู้ว่าฯ กทม. โชว์วิสัยทัศน์ แก้ปัญหารถไฟฟ้า

‘สภาฯ ผู้บริโภค’ จัดเวทีประชันวิสัยทัศน์ ว่าที่ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. เห็นพ้องไม่ควรต่ออายุสัมปทานสายสีเขียว เสนอนโยบายราคาสูงสุด 25 บาท ทำได้หรือไม่ ถกบทบาท กทม. กับการบริหารรถไฟฟ้า

14 ก.พ. 2565 สภาองค์กรผู้บริโภค จัดเวทีเสวนาออนไลน์ “รถไฟฟ้าต้องถูกลง ทุกคนต้องขึ้นได้ ผู้ว่า กทม. ช่วยได้หรือไม่” เพื่อรับฟังวิสัยทัศน์ และความเห็นของว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ในประเด็นปัญหาราคา และปัญหาการต่อสัญญาสัมปทานล่วงหน้าของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ผ่านแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. ทั้ง 4 คน ได้แก่ รสนา โตสิตระกูล, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร และสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

รถไฟฟ้า สายสีเขียว

‘ชัชชาติ’ เสนอ 5 นโยบาย สร้างความโปร่งใส หารายได้เพิ่ม

“คณะกรรมการฯ มีไม่กี่ท่าน ประชุมกัน 10 ครั้ง แต่สามารถตัดสินชีวิตคนกรุงเทพฯ ไปอีก 1 รุ่น หลายสิบปี คนจบใหม่ ต้องทนกับค่าโดยสารราคานี้ไปจนเกษียณ ผมจึงไม่เห็นด้วย และขอคัดค้านการต่ออายุสัมปทานสายสีเขียว”

รถไฟฟ้า ชัชชาติ

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครในนามอิสระ กล่าวว่า ปัญหาทั้งหมดมาจากความสับสน และความไม่ชัดเจนของรายละเอียดในสัญญาที่ทำกับเอกชน เพราะมีน้อยคนนัก ที่จะได้เห็นรายละเอียด โดยเฉพาะราคาค่าโดยสาร 65 บาทนั้น คิดมาจากฐานอะไร เพราะไม่มีข้อมูลอ้างอิงใดๆ เลย ตนทำได้เพียงใช้ข้อมูลของบริษัทเอกชน ที่ปรากฎอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มาพิจารณาเท่านั้น จึงถือว่าส่วนนี้ขาดความโปร่งใส เหมือนการ ‘จับแพะชนแกะ’ ตนจึงมีแนวนโยบาย เพื่อแก้ปัญหานี้ 5 ข้อ ได้แก่

  1. ไม่เห็นด้วยกับการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพราะยังคงมีเวลา จนถึงปี 2572 โดยที่ไม่ผ่านกระบวนการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ อีกทั้งเรื่องการต่อสัญญาดังกล่าว ยังมีส่วนที่ใช้อำนาจมาจาก ม.44 ซึ่งเป็นผลจากการปฏิวัติรัฐประหารที่ยังคงเหลืออยู่ ไปตัดสินใจชีวิตของคนกรุงเทพฯ อีกหลายสิบปี
  2. กทม. ต้องเร่งรัดเจรจาเรื่องหนี้สินให้เรียบร้อย และต้องไปรับโอนหนี้รถไฟฟ้าในส่วนที่เป็นเส้นทางต่างจังหวัดมาเป็นของตัวเอง ไม่ควรให้หนี้ มาเป็นเงื่อนไขในการต่อสัมปทาน รัฐบาลต้องมีส่วนในการรับผิดชอบมูลหนี้ที่เกิดจากงานโครงสร้างพื้นฐานด้วย
  3. พิจารณาการกำหนดราคาในส่วนต่อขยาย เพราะตอนนี้ กทม. เปิดให้โดยสารฟรีมาแล้วเกือบ 3 ปี ทำให้หนี้ยิ่งพอกพูน จึงต้องมีแนวทางกำหนดราคาที่เหมาะสม เพื่อชดเชยภาระหนี้สินที่เผชิญอยู่
  4. กทม. ต้องเปิดเผยสัญญาจ้างเดินรถกับเอกชนให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เราต้องรู้ต้นทุนที่จ่ายให้กับเอกชน กทม.ไม่สามารถแบกรับการขาดทุนได้ เพื่อพิจารณาว่าสัญญาเป็นธรรมหรือไม่ ทำให้รัฐเสียเปรียบหรือไม่
  5. ต้องเริ่มหารายได้อื่นเสริม นอกจากราคาค่าโดยสาร การมีสถานีรถไฟฟ้าเป็นของตัวเอง หากไม่ต่อสัมปทาน จะมีพื้นที่เช่าโฆษณา ที่จะมีรายได้อย่างน้อย 2,000 ล้านบาทต่อปีด้วย

‘รสนา’ เสนอยกสายสีเขียว ให้ รฟม. บริหาร คุมค่าโดยสารอย่างเป็นระบบ

“การยอมต่ออายุสัมปทานสายสีเขียว จะเป็นจระเข้ขวางคลอง ที่ทำให้ไม่สามารถเกิดระบบตั๋วราคาเดียวได้ เรากำลังจะหมดสัญญาอีกใน 7 ปีข้างหน้า ถ้ารีบต่อ จะไม่สามารถเชื่อมโยงกับโครงข่ายทั้งระบบได้ ประชาชนยังต้องเสียค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน และไม่มีทางจ่ายค่าโดยสารราคาถูกได้”

รสนา โตสิตระกูล ว่าที่ผู้สมัครในนามอิสระ กล่าวว่า กทม. มักจะอ้างเรื่องหนี้ 30,000 ล้านอยู่เสมอ ที่เป็นส่วนของการเดินรถ และการเชื่อมต่อระบบอาณัติสัญญาณ ความตั้งใจที่จะต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียวไปอีก 30 ปี แสดงว่า กทม. ไม่สามารถจัดการปัญหาเรื่องหนี้ได้ ตนจึงไม่เห็นด้วย เพราะจะทำให้ประชาชน ต้องแบกรับค่าโดยสารที่แพงไปอีก 30 ปี คน กทม. ค่าใช้จ่ายในเรื่องโครงสร้าง นั้นคน กทม. จ่ายมาตลอด หากต้องต่อเวลาออกไป ถือเป็นเรื่องที่โหดร้ายอย่างมาก โดยรสนา มีข้อเสนอแก้ปัญหาที่สำคัญ ดังนี้

รถไฟฟ้า รสนา

‘รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรี ต้องไม่ต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียว’ เพราะเมื่อหมดสัญญาในปี 2572 กทม. จะเป็นเจ้าของสายสีเขียว โดยตนเสนอให้ กทม. ยกเส้นทางการเดินรถให้กับ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. เพื่อให้ระบบเชื่อมต่อกันทั้งหมด แล้วจะมีค่าโดยสารราคาเดียว โดยไม่มีค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน และกำหนดอัตราค่าโดยสารตามสูตร 12+2x คือ ค่าแรกเข้า + สถานีละ 2 บาท สามารถทำได้ หาก กทม. ยอมถ่ายโอนการบริหารไปให้กับ รฟม. มีเงื่อนไข 3 ข้อ ได้แก่

  1. กระทรวงคมนาคม ต้องไม่ใช้สัญญาในลักษณะร่วมทุนกับเอกชน หรือ PPP กับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันตก เพื่อให้ รฟม. เป็นเจ้าของโครงข่ายระบบรางทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว เพื่อกำหนดราคาที่เหมาะสมได้
  2. ผู้ว่าฯ กทม. ต้องไปเข้าไปเป็นเป็นบอร์ดของ รฟม. เพื่อตัดสินใจกำหนดราคาค่าโดยสาร ค่าจ้างผู้เดินรถ และการบำรุงรักษา
  3. กทม. จะคืน ส่วนต่อขยายของ รฟม. คืนไป แล้วให้ รฟม. ไปจัดการพื้นที่ และหารายได้ และกำหนดให้คิดค่าโดยสารส่วนต่อขยายไม่เกิน ข้างละ 10 บาท

‘วิโรจน์’ ร้องเปิดเผยสัญญา ผู้ว่าฯ ต้องเจรจาผ่อนผันหนี้

“ลูกสาวผม อายุ 7 ขวบ ในวันนั้น เขาจะอายุ 44 ผมไม่อยากให้ลูกสาวต้องมาด่าผม ว่าพ่อทำอะไรเพื่อปกป้องสิทธิของพวกเขาหรือไม่ ตราบใดที่การต่อสัมปทานสายสีเขียว ไม่มีเงื่อนไขตั๋วร่วม ค่าโดยสารร่วม รัฐบาล และผู้ว่าฯกทม. ต้องคัดค้าน เพราะระบบตั๋วใบเดียวจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้”

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครในนามพรรคก้าวไกล กล่าวว่า จุดยืนของตน คือ ตราบใดที่การต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียว ไม่มีเงื่อนไขตั๋วร่วม และค่าโดยสารร่วม ต้องไม่ต่ออายุสัมปทาน เพราะหากต่ออายุออกไป ก็ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ และที่สำคัญเรื่องนี้เกี่ยวพันกับคณะรัฐประหาร ที่ใช้อำนาจตาม ม.44 ออกคำสั่งตั้งคณะกรรมการในตอนนั้น ที่ไม่ยึดโยงคนกรุงเทพฯ เข้าไปกำหนดเงื่อนไข ไม่ให้ใช้กระบวนการตาม พ.ร.บ. ร่วมทุน

รถไฟฟ้า วิโรจน์

วิโรจน์ เสนอว่า ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส โดยเฉพาะจากจุดเริ่มต้นของปัญหานี้ เปิดเงื่อนไขสัญญาตามคำสั่ง คสช. ที่ 3/2562 ก่อน ว่าเงื่อนไขในตอนนั้นคืออะไร มีการตกลงอะไรกันเอาไว้บ้าง เพราะในวันนี้สิทธิในการรับรู้ข้อมูลของประชาชน ไม่เกิดขึ้น จึงไม่สามารถตัดสินใจแก้ไขอะไรได้

ข้อเสนอด้านการจัดการหนี้สิน ผู้ว่าฯ กทม. ต้องไม่แบกรับหนี้สิน โดยยอมรับสภาพแบบไม่คำนึงถึงภาระของคนกรุงเทพฯ ต้องทำหน้าที่เจรจาผ่อนผันหนี้กับเอกชน อย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ หนี้จำนวนกว่า 30,000 ล้านบาทที่มีต่อเอกชน ต้องมีเงื่อนไขในการผ่อนผัน ไม่ใช่เพียงแค่รับฟัง รับทราบ รับสภาพ

และสุดท้าย ต้องไม่มีวาระลับ ซ่อนเร้น สำหรับคนกรุงเทพฯ การเจรจาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งมวลชนทุกประเภท ต้องให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการเจรจาด้วย เปิดเผยข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญให้ทุกคนเข้าใจได้ ในทุกระยะ สิ่งสำคัญ คือ เราไม่สามารถให้ความสำคัญกับแค่รถไฟฟ้าได้ กทม. ควรมีงบประมาณอุดหนุนรถเมล์ เพื่อให้รถเมล์มีคุณภาพ เป็นพาหนะรับส่งคนกรุงเทพฯ จะมีประโยชน์อย่างมาก

แนวทางการแก้ปัญหาโดยการพัฒนาระบบขนส่งอื่น จะสามารถช่วยแก้ปัญหาการเดินรถไฟฟ้าได้ด้วย สิ่งที่ทำได้ทันที คือการเปิดให้บริษัทเอกชนอื่น เริ่มเข้าไปขอเดินรถในเส้นทางต่างๆ แล้ว กทม. ทำตั๋วอุดหนุนกับผู้เดินรถ ในเส้นทางการเดินทางที่เป็นฟันหลอ หรือแหล่งชุมชนที่คนอยู่เยอะ แต่ไม่มีรถเมล์ โดยให้ กทม. ขออนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก เพื่อเปิดเดินรถ และพาคนในแหล่งที่อยู่อาศัยใหม่ เข้ามาสู่ระบบนรถไฟฟ้ามากขึ้น

สำหรับแนวทางการหารายได้เพิ่มเติม วิโรจน์ เสนอว่า จำเป็นต้องจัดประมูลใหม่เพื่อหาผู้รับผิดชอบด้านโฆษณา และจัดสรรพื้นที่ รวมถึงร่วมงานกับอำนาจนิติบัญยัติแก้กฎหมาย ที่เกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพราะตอนนี้มีนายทุนกว้านซื้อที่ดิน แนวรถไฟฟ้า เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับตัวเอง ต้องทบทวนให้เขาเสียภาษีเพิ่มเติม อันเป็นประโยชน์ที่คนกรุงเทพฯทุกคนควรได้รับ

‘สุชัชวีร์’ ย้ำ 25 บาททำได้ แนะ กทม. ใช้ ‘อินฟาฯ ฟันด์’ ชำระหนี้

“ผู้ว่าฯ กทม. ต้องเคลียหนี้ที่มีอยู่ให้ได้ เพราะหากปล่อยไปดอกเบี้ยเดินขึ้นทุกวัน ต้องใจแข็ง และหาเงินก้อนมาจ่ายหนี้ทั้งหมด โดยใช้ระบบทางการเงิน ออกพันธบัตรให้กับประชาชนในรูปแบบกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน อย่าเพิ่งไปต่อสัญญาสัมปทาน ไม่ต้องมีคนมาทวงเงิน อย่างเสียศักดิ์ศรีแบบนี้”

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ว่าที่ผู้สมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ทั่วโลกระบบขนส่งมวลชน เป็นสวัสดิการของรัฐทั้งหมดแล้ว แต่เราแปลกจากที่อื่น ประชาชนยังต้องมีค่าใช้จ่ายตรงนี้สูงมาก เราต้องเริ่มจากการปรับความคิด ว่าควรตั้งราคาที่เท่าไหร่ จึงจะใช้หนี้ได้ แต่ต้องเอาราคาเพดานเป็นตัวตั้งที่ประชาชนรับได้ ควรอยู่ที่ 20 – 25 บาท ตนยืนยันว่าเป็นไปได้จริง

รถไฟฟ้า สุชัชวีร์

3 หมื่นล้านบาท เป็นยอดหนี้ทั้งหมดที่ต้องชำระ สุชัชวีร์ กล่าวว่า ผู้ว่าฯ ต้องเคลียร์หนี้เป็นอันดับแรก เพราะไม่เช่นนี้จะมีภาระทางดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น แล้วดูแลเรื่องการจัดการเดินรถให้สามารถดูแลตัวเองได้ หากกำหนดราคาที่ 20 – 25 บาท จะมีรายได้ ประมาณ 7,000 ล้านบาทต่อปี และยิ่งราคาถูก ก็จะทำให้คนมาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น จะเพียงพอต่อการดูแลการเดินรถได้ นอกจากนั้นยังมีรายได้จากค่าเช่าที่ และค่าโฆษณาไม่ต่ำกว่าปีละ 2,000 ล้านบาท

สำหรับการบริหารจัดการหนี้ สุชัชวีร์ เสนอว่า กทม. ต้องหาเงินก้อนมาชำระหนี้ให้ได้ โดยการออกพันธบัตร ให้ดอกเบี้ยอย่างน้อย 3% แก่ประชาชน ในรูปแบบกองทุนโครงสร้างพื้นฐานของ กทม. สามารถทำได้ทันทีเพื่อไปใช้หนี้เอกชน นอกจากนั้นตนยังตั้งข้อสังเกตถึงภาษีล้อเลื่อน ที่เก็บจากยานพาหนะต่างๆ ใน กทม. ปีละกว่า 10,000 ล้าน ว่าถูกนำไปใช้ในส่วนใด หากสามารถนำมาอุดหนุนรถไฟฟ้าได้ ออกเป็นตั๋วรายเดือนราคาถูก ย่อมสามารถเพิ่มรายได้ให้กับการเดินรถได้อีกด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้