ค่าฝุ่น PM2.5 กทม.ปริมณฑล อยู่ในระดับสีส้มเกือบทุกพื้นที่ นักวิชาการระบุหากค่ามาตรฐานสอดคล้องสากล ค่าฝุ่นจะอยู่ในระดับสีแดงอันตรายต่อสุขภาพ ย้อนถาม 12 ปี มาแล้วไทยควรปรับค่ามาตรฐานฝุ่น ?
วันนี้ (8 ก.พ.2565) กรมควบคุมมลพิษรายงานปริมาณค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน2.5ไมครอน หรือฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่า จากสถานีตรวจวัดทั้ง 74 สถานี มีปริมาณค่าฝุ่นอยู่ระหว่าง 39-72 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยสถานีที่ตรวจพบว่าฝุ่นอยู่ในระดับเกินค่ามาตรฐาน เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนมีมากถึง 51 สถานี อาทิ
ริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน จ.กรุงเทพฯ ค่าฝุ่น 61 มคก./ลบ.ม.
แขวงบางนา เขตบางนา จ.กรุงเทพฯ ค่าฝุ่น 66 มคก./ลบ.ม.
ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ค่าฝุ่น 56 มคก./ลบ.ม.
ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ค่าฝุ่น 51 มคก./ลบ.ม.
ริมถนนพระราม 4 เขตปทุมวัน จ.กรุงเทพฯ ค่าฝุ่น 54 มคก./ลบ.ม.
ริมถนนอินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี จ.กรุงเทพฯ ค่าฝุ่น 52 มคก./ลบ.ม.
ริมถนนลาดพร้าว เขตวังทองหลาง จ.กรุงเทพฯ ค่าฝุ่น69 มคก./ลบ.ม.
ริมถนนดินแดง เขตดินแดง จ.กรุงเทพฯ ค่าฝุ่น 58 มคก./ลบ.ม.
ด้านรองศาสตราจารย์ วิษณุ อรรถวานิช ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และนักวิชาการในนามเครือข่ายอากาศสะอาดประเทศไทย ที่ได้ติดตามปัญหานี้อย่างต่อเนื่องและร่วมผลักดันให้ประเทศไทยมีกฎหมายอากาศสะอาด ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว witsanu Attavanich ว่า
“ขณะที่แอพฯ ตรวจฝุ่นพิษ PM2.5 ของสากลวันนี้ “สีแดง” บ่งชี้ว่าอันตรายมากต่อสุขภาพ แต่แอพฯของไทยยัง”เหลืองและส้ม” บ่งชี้ว่ายังไม่อันตรายมาก มันคืออะไร?? ปรับได้แล้วครับ! ค่ามาตรฐานฝุ่นพิษ PM2.5 ของไทยและการสื่อสารความเสี่ยงต่อสุขภาพ ก่อนที่คนไทยจะเจ็บป่วยและล้มตายกันมากไปกว่านี้”
สำหรับค่ามาตรฐานฝุ่นพิษ PM2.5 ปัจจุบันถูกใช้เกือบ 12 ปี แล้วยังไม่เคยปรับ โดยค่ามาตรฐานฝุ่นพิษ PM2.5 ของไทยเฉลี่ย 24 ชั่วโมง คือ 50 ไมโครกรัม/ลบ.ม. และค่าเฉลี่ยรายปี คือ 25 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ขณะที่องค์การอนามัยโลกได้ปรับแนะนำค่าใหม่เรียบร้อย โดยค่าแนะนำขององค์การอนามัยโลกเฉลี่ย 24 ชั่วโมง คือ 15 ไมโครกรัม/ลบ.ม. และค่าเฉลี่ยรายปี คือ 5 ไมโครกรัม/ลบ.ม. “รัฐบาลไทยสมมติให้คนไทยปอดเหล็กแข็งแรงกว่าคนทั่วโลก 3.3-5 เท่า! แล้วเราปอดแข็งแรงกว่าคนทั่วโลกจริงมั้ย?”
ขณะที่แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติด้านฝุ่นละออง มีมาตรการระยะสั้นช่วงปี 2563-2564 จะกำหนดค่ามาตรฐานฝุ่นพิษ PM2.5 ของไทยตามเป้าหมายระยะที่ 3 ขององค์การอนามัยโลก (WHO IT-3) ซึ่งค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงเดิม คือ 37.5 ไมโครกรัม/ลบ.ม. และค่าเฉลี่ยรายปี คือ 15 ไมโครกรัม/ลบ.ม. แต่นี้ปี 2565 แล้ว ก็ยังไม่ได้ปรับเลย
“ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียที่มีระดับการพัฒนาสูสีกัน เค้าปรับเรียบร้อย แบบมีระยะเวลาการปรับที่ชัดเจนตั้งแต่ปี 2558 ปี 2561 และล่าสุดปรับในปี 2563 จากเดิมที่เค้าแย่กว่าเรา ตอนนี้เค้าล้ำหน้าประเทศไทยไปเรียบร้อย ใช้เวลาแค่ 5 ปี แต่ไทยเราใช้เวลาตั้ง 12 ปีแล้วยังไม่มีความคืบหน้าและไม่มีกำหนดเวลาที่ชัดเจน”
ปัจจุบันมาเลเซียมีการกำหนดค่าเฉลี่ยฝุ่นพิษ PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง คือ 35 ไมโครกรัม/ลบ.ม. และค่าเฉลี่ยรายปี คือ 15 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ค่าสารมลพิษอื่นๆ ก็ปรับดีขึ้นกว่าไทย อาทิ ฝุ่นพิษ PM10 หรือ ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) สะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
นักวิชาการยังทิ้งท้ายเพิ่มเติมว่า รัฐบาลไทยควรให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงต่อสุขภาพคนไทย อย่าเน้นเพียงแค่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่ยั่งยืนอย่างเดียว ข้อมูลของธนาคารโลกประเมินว่า ไทยมีจำนวนปีที่สูญเสียไปเนื่องจากการเจ็บป่วยและพิการ 65,373 ปี สูงเป็นอันดับ 11 ของโลกจาก 180 ประเทศ และมีจำนวนการสูญเสียชีวิต 25,432 คน สูงเป็นอันดับ 22 ของโลกจาก 180 ประเทศ มากกว่าการเสียชีวิตจากโควิด-19 หลายเท่า