‘สาธิต มธ.’ ย้ำ หลักสูตรของโรงเรียนฯ เน้นนวัตกรรมช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ

มุ่งบ่มเพาะเยาวชนให้มีจิตสำนึกพลเมือง และเป็นพลเมืองของโลก “ปริญญา” ซัดนายกฯ ชี้ สาธิต มธ. ไม่ได้สอนให้ทำตามคำสั่ง ต่างจากที่นายกฯ เคยศึกษามา หลัง “พล.อ. ประยุทธ์” ระบุ กำลังให้หน่วยงานตรวจสอบบิดเบือนประวัติศาสตร์หรือไม่

วันนี้ (6 ก.พ. 2565) โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เผยแพร่คำแถลงการณ์ต่อสาธารณชน ภายหลังมีกระแสข่าววิพากษ์วิจารณ์ถึงหลักสูตรและแนวทางการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนฯ ขณะที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวกับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า กำลังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูอยู่ กรณีที่มีข้อห่วงใยหลักสูตรของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าอาจมีการบิดเบือนประวัติศาสตร์และสถาบันพระมหากษัตริย์

เนื้อหาตามแถลงการณ์ระบุว่ากรณีดังกล่าวอาจทำให้เกิดความสับสน คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ลดทอนคุณค่าและความมุ่งมั่นอันแท้จริง โรงเรียนฯ จึงขอชี้แจงและทำความเข้าใจในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

1. โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสถาบันการศึกษาภายใต้สังกัดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ให้ความสำคัญกับการเคารพความหลากหลายทางความคิดและมุมมอง โดยโรงเรียนฯ ร่วมทำงานกับผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาอาชีพ เพื่อพัฒนาหลักสูตรที่ช่วยเตรียมความพร้อมเยาวชนสำหรับการเป็นพลเมืองไทยและพลเมืองโลกที่พร้อมใช้วิจารณญาณในการเผชิญความเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทัน

2. โรงเรียนฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาหลักสูตรและนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนบนฐานความรู้ที่ทันสมัย ครอบคลุมสาระการเรียนรู้ในแต่ละช่วงชั้น และมีความเหมาะสมกับพัฒนาการของผู้เรียน นอกจากวิชาสาระหลัก โรงเรียนฯ ยังได้จัดให้มีการสอนในวิชาต่าง ๆ เพิ่มเติม อาทิ วิชาอยู่รอดปลอดภัย วิชาว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด วิชาวัยรุ่นศาสตร์ วิชารู้ทันการเงิน วิชาเสพศิลป์และกลิ่นเสียง วิชาผู้ประกอบการ วิชารู้เท่าทันสื่อ วิชาวิถีศรัทธา (ครอบคลุมเนื้อหาทุกศาสนา) เป็นต้น เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตจริง

3. โรงเรียนฯ มีเป้าหมายในการบ่มเพาะเยาวชนให้เป็นผู้มีจิตสำนึกพลเมืองที่เข้มแข็ง เป็นพลเมืองโลกที่ยึดโยงกับบริบทของสังคมไทย มีทักษะและสมรรถนะแห่งอนาคต รู้จักคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ มีภาวะผู้นำ มีความสามารถในการกำกับตนเอง เข้าอกเข้าใจผู้อื่น และสามารถทำงานเป็นทีม ผ่านกระบวนการเรียนรู้ในชั้นเรียน และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาเยาวชนให้มีคุณลักษณะดังกล่าว

แถลงการณ์ยังระบุอีกว่า ที่ผ่านมา โรงเรียนฯ ตระหนักดีกว่า การบุกเบิกสร้างการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยระยะเวลา มีข้อจำกัดต่าง ๆ มากมายในการสร้างการรับรู้และความเข้าใจ โรงเรียนฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เจตนารมณ์ในการสร้างและพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนฯ จะเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ และได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนให้สามารถขยายผลได้ต่อไป

สาธิต มธ.

ด้าน ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงกรณีดังกล่าวเช่นกันว่า โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อ “สาธิต” การศึกษาแบบให้นักเรียน “คิด” และมีวินัยแบบ “รับผิดชอบ” ทั้งต่อคนเอง ต่อคนอื่น และต่อส่วนรวม เป็นการศึกษาเพื่อสร้างสติปัญญา ไม่ได้สอนให้ทำตามสั่ง จึงย่อมแตกต่างไปจากการศึกษาแบบที่นายกรัฐมนตรีเคยได้รับการศึกษามา จึงพอเข้าใจได้ว่าทำไมนายกรัฐมนตรีจึงไม่เข้าใจ

“แต่ที่ไม่เข้าใจเลยคือที่ท่านนายกรัฐมนตรี ไม่ทราบไปฟังมาจากไหนหรือไปอ่านเฟซบุคใครมา มากล่าวหาว่าโรงเรียนสาธิตธรรมศาสตร์บิดเบือนประวัติศาสตร์และสถาบันฯ ทั้ง ๆ ที่เขาแค่สอนให้คิด ให้ตั้งคำถาม และให้มีวินัยแบบคิดเองและรับผิดชอบต่อส่วนรวม”

นอกจากนี้ยังระบุอีกว่า หากนายกรัฐมนตรีพูดโดยยังไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง จะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีอย่างย่ิงต่อเยาวชน ส่วนหน่วยงานที่นายกฯ สั่งให้จับตา ก็คงลำบากใจ เพราะรู้ว่าเรื่องจริงไม่ได้เป็นอย่างที่นายกรัฐมนตรีพูด ทั้งหมดนี้เป็นการกล่าวในนามอาจารย์ธรรมศาสตร์คนหนึ่ง เพราะตนไม่ได้เป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัย

“จะว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ไม่ได้เพราะท่านเป็นถึงนายกรัฐมนตรีนะครับ”


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active