“พีมูฟ” กลับบ้าน! รอพิสูจน์ความจริงใจรัฐบาล ตั้งกลไกแก้ปัญหาช่วยชาวบ้าน

ย้ำหลักการ ข้อเรียกร้อง 15 ข้อ ที่ ครม.เห็นชอบ สร้างแนวทางการแก้ปัญหาความเดือดร้อน เชิงนโยบาย และโครงสร้าง คาดหวังช่วยประชาชนเข้าสิทธิที่ดิน ทำกิน คุณภาพชีวิต แก้ปากท้อง รัฐสวัสดิการ เตรียมถกคณะกรรมการฯ แก้ไขปัญหา นัดแรก 8 ก.พ.นี้ นักวิชาการ เชื่อ ตัดราชการออกจากโครงสร้างกรรมการ ท่าทีใหม่ภาครัฐ ช่วยให้การแก้ไขปัญหาเดินหน้า ไร้คู่ขัดแย้ง

จำนงค์ หนูพันธ์ ประธานพีมูฟ แถลงยุติการชุมนุม

วันนี้ (3 ก.พ.65) เมื่อช่วงสายที่ผ่านมา แกนนำขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ร่วมกันแถลงหลังได้รับหนังสือที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามคำสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการอิสระแก้ไขปัญหาชาวบ้านบางกลอย รวมทั้งหนังสือที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ลงนามแต่งตั้ง คณะกรรการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เรื่องการแก้ไขปรับปรุงองค์ประกอบคณะอนุกรรมการประสานงานเร่งรัดติดตามการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม และขับเคลื่อนนโยบาย 9 ด้าน  พร้อมทั้งมีคำยืนยันชัดเจนว่าการประชุมจะเริ่มในวันที่ 8 ก.พ.65

จำนงค์ หนูพันธุ์ ประธานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ระบุว่า ข้อเรียกร้องของพีมูฟ 15 ข้อ ที่ ครม.ให้ความเห็นชอบไปก่อนหน้านี้ นำซึ่งหลักการและแนวทางการแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนเชิงนโยบายและโครงสร้างและสร้างกลไกกำกับติดตามระดับพื้นที่ นำมาซึ่ง หลักการสร้างความมั่นคง และยั่งยืนในการเข้าถึงสิทธิ เช่น การจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติของประชาชน , ยกระดับการจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน, การแก้ปัญหาชุมชนในที่ดินริมทางรถไฟ , การปฏิรูปที่ดินตามกลไกสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) , การพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและปรับปรุงที่อยู่อาศัย , การผลักดันให้ระบบสวัสดิการถ้วนหน้า , และความเป็นไปได้การออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐด้านที่ดินและป่าไม้

คำสั่งตั้ง คกก.แก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เรื่อง การแก้ไขปรับปรุงองค์ประกอบคณะอนุกรรมการประสานงานเร่งรัดติดตามการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม และขับเคลื่อนนโยบาย 9 ด้าน

พร้อมทั้งการทบทวนและปรับปรุงกฎหมาย ที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงสิทธิในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ เช่น พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ 3 ฉบับ ทั้ง พ.ร.บ.อุทยานฯ , พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และ พ.ร.บ ป่าชุมชน รวมถึง ร่างกฎหมายลำดับรองด้วย

นอกจากนี้ ยังได้ตั้ง คณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย , การแก้ไขปัญหาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ , คณะกรรมการกำกับขับเคลื่อนการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล และกะเหรี่ยง 

สิ่งที่เกิดขึ้น ทางกลุ่มพีมูฟเชื่อว่า จะนำมาซึ่งความร่วมมือการแก้ปัญหา ของประชาชนให้เกิดรูปธรรมโดยเร็ว ที่สำคัญคือ การที่พล.อ.ประวิตร มีคำสั่งสำคัญ ให้การแก้ไขปัญหาเดินหน้าต่อได้ แม้ว่าจะติดขัดในกระบวยการใด โดยไม่จำเป็นตีกลับเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา พวกเขาจึงพอใจ และประกาศยุติการชุมนุม


โครงสร้าง “รัฐรวมศูนย์” อุปสรรคแก้ปัญหาประชาชนไม่คืบ

แม้กลุ่มพีมูฟประกาศยุติชุมนุมไปแล้ว แต่การแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ที่เรียกร้องกันมาอย่างต่อเนื่อง ต้องยอมรับว่า ล่าช้า และไม่เห็นผลที่เป็นรูปธรรมมาหลายยุคหลายสมัย ประเด็นนี้ ยุทธพร อิสรชัย นักรัฐศาสตร์ วิเคราะห์ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็น ปัญหา 2 เรื่องใหญ่

1. ปัญหาจากโครงสร้างรัฐราชการรวมศูนย์อำนาจที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขั้นตอน และอำนาจในการตัดสินใจที่รวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง ก่อให้เกิดปัญหาการบิดเบือน และการเลือกปฏิบัติในหลายกรณีที่ก่อให้เกิดคำถามจากสังคมถึงความไม่เป็นธรรมต่อชาวบ้าน ผู้ไร้ซึ่งอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง

2. ปัญหาทางการเมืองภายในของรัฐบาล โดยเฉพาะภาวะรัฐบาลผสม ที่เต็มไปด้วยผลประโยชน์ทางการเมือง ฐานเสียงที่ไม่ลงรอย โดยเฉพาะรัฐบาลชุดปัจจุบัน อย่าง กรณีนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ซึ่ง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ได้รับปาก และทำ MOU กับชาวบ้านเพื่อหวังยุติปัญหา ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี กลับไม่ให้การยอมรับข้อตกลง เพราะไม่ได้ทำตามขั้นตอนราชการ และยังไม่ผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

คำสั่งตั้ง คณะกรรมการอิสระแก้ไขปัญหาชาวบ้านบางกลอย


ท่าทีใหม่รัฐบาล “คกก.อิสระแก้ปัญหาบางกลอย” ตัดคู่ขัดแย้ง ฟังประชาชนมากขึ้น


สำหรับท่าทีของรัฐบาล ต่อประเด็นการแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย เป็นอีกจุดที่น่าสนใจ สำหรับข้อเรียกร้องของกลุ่มพีมูฟ ซึ่ง ผศ.ธนพร ศรียากูล นักวิชาการที่ติดตามการแก้ไขปัญหาให้กับภาคประชาชน มองว่า เป็นท่าทีเชิงบวกของรัฐบาล เพราะที่ผ่านมา สิ่งที่คุ้นชิน คือ คณะกรรมการที่ตั้งมาเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน หนีไม่พ้นการใช้กลไกราชการ มาเป็นกรรมการ และมักจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ประชาชนเสนอ ทำให้การแก้ไขปัญหาแทบไม่ประสบความเร็จ


“คณะกรรมการอิสระแก้ปัญหาให้กับชาวบางกลอย ที่รัฐบาลตั้งขึ้น ได้ตัดสัดส่วนราชการออกไปเกือบหมด มีเพียงประธาน ที่เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เท่านั้น ที่เหลือคือกลุ่มนักวิชาการที่ประชาชนยอมรับ น่าจะเป็นนิมิตรหมายที่ดีของการแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้าน”

ผศ.ธนพร ยังเชื่อว่า การแก้ปัญหาโดยมีคณะกรรมการอิสระ จะเดินหน้าได้อย่างไม่สะดุด และไม่มีถ่วงเวลา เหมือนกลไกเดิม ๆ เพราะทุกคนต้องการแก้ไขปัญหาอย่างจริงใจ น่าจะมีส่วนสำคัญทำให้นายกรัฐมนตรี และรัฐบาล ได้รับฟังความคิดเห็นใหม่ ๆ มากกว่าฟังเสียงของฝ่ายราชการ

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ