โพล ชี้ คนไทยร้อยละ 99.7 ไม่เคยเห็นตำรวจบังคับใช้ กฎหมายกับรถที่ไม่จอดให้คนข้ามทางม้าลาย

ซูเปอร์โพลเปิดผลสำรวจ “ความปลอดภัยของคนข้าม ทางม้าลาย” หลังกรณีอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ชนคนข้ามถนนบริเวณทางม้าลายเสียชีวิต ความเห็นประชาชน ระบุ “รถมอเตอร์ไซค์”ไม่หยุดให้คนข้ามมากที่สุด ‘ผอ.ซูเปอร์โพล’ ระบุ ต้องสร้างสำนึกความปลอดภัยทางถนนร่วมกัน

วันนี้ (29 ม.ค. 2565) สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยผลสำรวจภาคสนาม เรื่องความปลอดภัยของคนข้าม ทางม้าลาย ผศ.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ ระบุว่า จากการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,145 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 25 – 28 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.4 ระบุเคยเห็นรถส่วนใหญ่ เช่น มอเตอร์ไซค์ รถส่งสินค้า รถปิคอัพ รถแท็กซี่ รถยนต์ส่วนบุคคล รถเมล์ เป็นต้น ไม่หยุดรถให้คนข้าม ตรงทางข้ามตามกฎหมาย ในขณะที่ร้อยละ 4.6 ไม่เคยเห็น

ที่น่าเป็นห่วงคือ มีไม่ถึงร้อยละ 1 หรือเพียงร้อยละ 0.3 ที่เคยเห็นเจ้าหน้าที่รัฐบังคับใช้กฎหมายจริงจังต่อเนื่องจับปรับรถที่ไม่จอดให้คนข้ามทางม้าลาย ตามกฎหมาย ในขณะที่ เกือบร้อยละร้อย หรือร้อยละ 99.7 ไม่เคยพบเห็น

เมื่อถามถึงประสบการณ์และความเห็นของประชาชนต่อความปลอดภัยของคนข้าม ทางม้าลาย พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.0 ระบุ ทางม้าลาย ทางข้ามที่ถูกกฎหมาย ขาดสัญญาณหรือป้ายเตือนล่วงหน้า หรือ หมุดบนถนนให้รถชะลอตัวและหยุดรถ ในขณะที่ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.4 ระบุ ผู้ขับขี่และผู้ข้าม ขาดจิตสำนึกความปลอดภัย ไม่มีน้ำใจ ไม่คำนึงใจเขาใจเราและไม่เคารพกฎจราจร ในการข้ามทางม้าลายและหยุดรถให้คนข้าม โดยยังละเลยและละเมิดสิทธิ ความปลอดภัยผู้อื่น ร้อยละ 94.0 ระบุ อยากให้มีกล้องวงจรปิดและเทคโนโลยีทันสมัย ติดตั้งจับผิดรถยนต์ที่ไม่จอดให้คนข้ามถนน บนทางข้ามและปรับจริงจังต่อเนื่อง ร้อยละ 93.9 ระบุ รู้สึกว่าทางม้าลายไม่ปลอดภัย และไม่เป็นพื้นที่ปลอดภัยตามกฎหมายกำหนด และร้อยละ 93.5 ระบุ ควรเข้มงวดกวดขัน จริงจังต่อเนื่องเป็นพิเศษ ตรงจุดเปราะบาง คนข้ามถนน คนเจ็บป่วย หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน วัดวาอาราม

ร้อยละ 93.4 ระบุ รถต่าง ๆ ที่ไม่หยุดให้ส่วนใหญ่เรียงลำดับ คือ รถมอเตอร์ไซค์ รถส่งของ ส่งสินค้า รถปิคอัพ รถแท็กซี่ รถเมล์ รถยนต์ส่วนบุคคล เป็นต้น

ร้อยละ 92.9 ระบุ ใช้มาตรการทางสังคม คุมสังคมกันเอง ให้ ภาคประชาชนเดินเท้าและผู้ขับขี่ ถ่ายรูปผู้ฝ่าฝืน ละเมิดส่งเจ้าหน้าที่จับปรับกันอย่างจริงจัง กล้องหน้ารถ จัดการ คนทำผิดกฎหมาย ทั้ง คนข้าม และ คนขับ ที่ก่ออันตรายผู้อื่น ร้อยละ 92.9 เช่นกัน ระบุ กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์เพราะขาดการบังคับใช้จริงจังในการคุ้มครอง คนข้ามถนน บนทางข้าม ตามกฎหมาย ร้อยละ 92.3 ระบุ พฤติกรรมของคนขับรถ ที่ทำให้ประชาชนไม่ปลอดภัยทางถนน คือ ขับรถย้อนศร ไม่จอดให้คนข้ามทางตามกฎหมาย ขับรถบนทางเท้า จอดรถบนทางข้ามจนคนไม่สามารถข้ามตรงทางข้ามได้ กลับรถตรงที่ห้ามกลับรถ รถที่พุ่งออกมาจากซอย เป็นต้น และร้อยละ 91.2 ระบุ ขาดความช่วยเหลือด้านกฎหมายเมื่อเกิด อุบัติเหตุ ประชาชนไม่รู้จะไปพึ่งพาใคร

ที่น่าพิจารณา คือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.3 ระบุ ควรปฏิรูปปรับปรุงกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย เทคโนโลยี ความปลอดภัยทางถนน ทั้งระบบมากกว่า ทำแบบไฟไหม้ฟางที่ปัญหายังคงมีอยู่เหมือนเดิม ในขณะที่ร้อยละ 5.7 ระบุ ไม่ควร นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.6 ระบุ ต้องเพิ่มโทษ และ จัดสรร ค่าปรับ แบ่ง ส่วน ให้ กับ การพัฒนาปรับปรุงความปลอดภัยทางถนน ในจุดเกิดเหตุ ให้ตำรวจ และให้ส่วนท้องถิ่นใช้รักษาความปลอดภัยทางถนน และให้การศึกษา ตระหนักรู้ คนใช้รถใช้ถนน ด้านความปลอดภัยคนข้ามถนน ในขณะที่ร้อยละ 7.4 ระบุไม่ต้องเพิ่มโทษ

นอกจากนี้ ยังมีผลสำรวจที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.4 ระบุ ต้องการให้ ทุกภาคส่วน เช่น ตำรวจ กระทรวงคมนาคม ข้าราชการ กทม. กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และภาคประชาชน ตื่นตัวร่วมสร้างทางม้าลายปลอดภัยและรณรงค์ ข้ามถนนทางม้าลายและหยุดรถให้คนข้าม ในขณะที่ร้อยละ 7.6 ไม่ต้องการ

ทางม้าลาย

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่าผลโพลชี้ชัดว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า ทางม้าลายหรือทางข้ามถนน ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัยตามกฎหมายแต่กลับ “ไม่ปลอดภัย” อันเนื่องจากผู้ขับขี่ไม่หยุดรถให้คนข้าม สาเหตุหลักมาจากผู้ขับขี่ขาดจิตสำนึกความปลอดภัย ไม่มีน้ำใจและไม่เคารพกฎจราจร การไม่มีการบังคับใช้กฎหมายจริงจังอย่างต่อเนื่อง การละเลยหน้าที่และขาดความเอาใจใส่จากหน่วยงานรับผิดชอบในการทำทางม้าลายให้ปลอดภัย โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ที่มีการจราจรหนาแน่น เช่น สีที่จางหายของทางข้าม การกำหนดจุดข้ามไม่เหมาะสม ขาดป้ายสัญญาณหรือหมุดเตือนชะลอความเร็ว รวมทั้งการไม่ให้ความสำคัญกับวิศวกรรมจราจร เพื่อร่วมกันทำให้ทางม้าลายปลอดภัยกับคนเดินเท้าอย่างแท้จริง

ผศ.นพดล กล่าวต่อว่า ผลโพลนี้สะท้อนอย่างหนึ่งว่า การร่วมกันทำทางม้าลายหรือทางข้ามให้ปลอดภัย จึงขึ้นกับทุกคนทุกฝ่ายที่ต้องเริ่มที่ตัวเอง ไม่โทษกันไปมาเอาใจเขามาใส่ใจเรา เมื่อเราเป็นผู้ข้าม ยังรู้สึกอันตราย รถไม่หยุดให้ข้าม และเมื่อมานั่งหลังพวงมาลัยหรือขับขี่เอง ใยจึงไม่สำนึกหยุดให้เขาข้ามบ้าง ดังนั้นการรณรงค์ร่วมกันในทุกภาคส่วน สร้างจิตสำนึกของสังคมทุกระดับร่วมสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน จึงมีความสำคัญยิ่ง ที่ต้องริเริ่มทำกันทันที

“นอกจากนั้น สังคมยังถามหาความรับผิดชอบของ ส่วนราชการกรุงเทพมหานคร ตามอำนาจหน้าที่และงบประมาณที่ยังมีอยู่มาก ซึ่งน่าจะทำอะไรได้ดีกว่าที่เป็นอยู่กับ สภาพทางข้ามถนนหรือทางม้าลาย หรือแม้กระทั่งทางเท้าที่ไม่ปลอดภัย โดยคาดหวังให้นำเทคโนโลยีมาเป็นตัวช่วย ทำหน้าที่แทนเจ้าหน้าที่ใช้ตรวจจับ ปรับผู้ฝ่าฝืนที่ละเลยหรือไม่ปฏิบัติตาม ทั้งนี้ยังเห็นตรงกันว่าต้องนำค่าปรับมาแบ่งกันกับผู้ให้เบาะแส เพื่อสร้างความตื่นตัวและการมีส่วนร่วม ดูแลรณรงค์สร้างวิจัยจราจรและความปลอดภัยบนท้องถนนที่ยั่งยืนอย่างจริงจังเสียที”

เปิดข้อกฎหมายฝ่าฝืนจราจรบนทางม้าลาย

ด้าน ไทยพีบีเอสออนไลน์ เปิดกฎหมายเกี่ยวกับทางม้าลาย ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งพบว่ามีทั้งข้อบังคับสำหรับคนขับรถและคนเดินถนน

บทลงโทษนั้น ปรากฏในมาตรา 147 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 104, 105 และ 106 มีโทษปรับไม่เกิน 200 บาท ขณะที่มาตรา 148 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 57 70 มีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท และมาตรา 152 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 22 มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

หรือสรุปได้ว่า กรณีไม่ข้ามถนนบนบริเวณที่มีทางข้ามในระยะ 100 เมตร ปรับไม่เกิน 200 บาท กรณีไม่หยุดรถให้คนข้ามถนนบริเวณทางข้าม ปรับไม่เกิน 1,000 บาท นอกจากนี้ กรมป้องกันและบรรเท้าสาธารณภัยยังให้ข้อมูลด้วยว่า กรณีขับรถชนผู้ที่ข้ามถนนบริเวณทางข้ามได้รับบาดเจ็บ บทลงโทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี และกรณีขับรถชนผู้ที่ข้ามถนนบริเวณทางข้ามเสียชีวิต จำคุกไม่เกิน 10 ปี

ข้อมูลจากศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) และ มูลนิธิไทยโรดส์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีสัดส่วนคนเดินเท้าที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนน้อยสุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นทั่วโลก เช่นเดียวกับประเทศไทยมีสัดส่วนคนเดินเท้าที่เสียชีวิตต่ำเมื่อเทียบกับผู้ใช้รถ

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีคนเดินเท้าอีกจำนวนหนึ่งที่เสียชีวิต บาดเจ็บ หรือทุพพลภาพ จากอุบัติเหตุทางถนน จากข้อมูลระบบบูรณาการเกี่ยวกับการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ย 4 ปี (2557 – 2560) พบว่า มีผู้เสียชีวิต ประมาณ 10,200 คน จากอุบัติเหตุทางถนนที่สามารถระบุประเภทยานพาหนะได้ ในจำนวนนี้มีคนเดินเท้าประมาณ 740 คนหรือ 7% ของผู้เสียชีวิต เท่ากับว่ามีคนเดินเท้า ต้องเสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 2 คน หรือคิดเป็นสัดส่วนคนเดินเท้าเสียชีวิต 1.23 คน ต่อประชากร 100,000 คน 

สำหรับสถานการณ์ความรุนแรงของอุบัติเหตุคนเดินเท้าปี 2554 จากข้อมูลสถิติคดีอุบัติเหตุจราจรทางบกของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า จากอุบัติเหตุทั้งหมด 68,292 คน มีอุบัติเหตุคนเดินเท้า 2,612 คน เป็นอุบัติเหตุคนเดินเท้าในพื้นที่ กทม. สูงถึง 1,099 คน เทียบอัตราการเกิดอุบัติเหตุคนเดินเท้าคิดเป็นร้อยละ 4.7 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active