คนจนเมืองขอนแก่น เหยื่อการเปลี่ยนแปลงในแผนพัฒนาเมือง

นักวิชาการ ชี้ การพัฒนาอีสานเป็นเมืองทันสมัย เป็นหนึ่งปัจจัยทำให้มีคนจนข้ามรุ่นต่อเนื่อง นักวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปฯ ชู 4 ข้อเสนอเพื่อเดินหน้าสู่ “เมืองยุติธรรม” ต้องสร้างสมดุลในการพัฒนา

การเปลี่ยนกายภาพของชุมชนจากชนบทกลายเป็นเมือง พื้นที่ดั้งเดิมของเมืองขอนแก่นในอดีตเป็นชุมชนชนบทโบราณที่มีอายุมากกว่า 100 ปี ตั้งอยู่รายรอบศูนย์กลางของเมือง เมื่อความเป็นเมือง (Urbanization) ขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา ก็ทำให้ชุมชนชั้นกลางถึงชั้นนอกของเมืองที่มีความเป็นชนบทกลายมาเป็นเมือง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพทางกายภาพของชุมชน เช่น ถนน และโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุมทั่วทั้งเทศบาลนครขอนแก่น

26 ม.ค. 2565 – ผศ.ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในนักวิจัยโครงการวิจัย “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง” ได้ศึกษาวิจัยพื้นที่คนจนในอีสาน ซึ่งศึกษาทั่วทั้งเมือง ทั้งเขตเมืองเก่าชั้นใน เขตเมืองเก่าชั้นนอก ทั้งหมด 5 ชุมชน ที่เทศบาลเมืองขอนแก่น เป้าหมายศึกษามุ่งเน้นไปที่ประเด็นเกี่ยวกับสิทธ์ที่จะมีในเมืองของเขา จากการลงพื้นที่กว่า 2 ปี ผศ.ธนพฤกษ์  ได้ข้อค้นพบว่า คำว่าคนจนเมืองในพื้นที่ขอนแก่น ไม่ได้วัดเฉพาะเชิงเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่หมายรวมไปถึงความจนในเรื่องของโอกาส ความจนในเรื่องของสิทธิ์ เสียง บางอย่างที่เขาถูกลิดรอน

“สิ่งสำคัญมากกว่าความจนเชิงเศรษฐกิจ มันคือความจนโอกาส ต้นทุนชีวิตที่มีจำกัดของพวกเขา มันดึงให้พวกเขาจนโอกาสไปด้วย”

ผศ.ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์
คนจนเมือง อีสาน ขอนแก่น

จากการวิเคราะห์งานในช่วง 20 ปีย้อนหลัง ของทีมทำวิจัย พบว่าในแต่ละภูมิภาค งานส่วนใหญ่ที่ทำวิจัยเน้นไปเรื่องทางกายภาพ เน้นไปในเรื่องของการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งมองว่าชุดความรู้ที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ไม่ทันต่อสภาวะที่กำลังเปลี่ยนแปลง และนโยบายการพัฒนาเมือง ถูกวางบนฐานความคิดการวางผังเมืองที่เป็นคนชนชั้นกลางเป็นแกนหลัก ทำให้โครงการพัฒนาตอบโจทย์ชีวิตชนชั้นกลางมากกว่าคนจนเมือง และทำให้พวกเขาตกขบวนพัฒนา

แต่เมืองที่เติบโตเร็วอย่างเมืองขอนแก่น ควรมี “เสียง” ของคนทุกกลุ่มที่อาศัยอยู่ในเมือง แต่การพัฒนาที่ผ่านมา เสียงกลุ่มผู้เปราะบาง หรือ “คนจนเมือง” กลับขาดหายไปจากวิสัยทัศน์ของเมืองขอนแก่น ในวิจัยนี้ได้ ระบุถึงข้อเสนอ แนวนโยบายการพัฒนาเมืองที่ต้องตระหนักถึง “สิทธิที่จะมีส่วนในเมือง” (The Right to the City) ของประชาชน ทุกกลุ่มอย่างแท้จริง จะนําไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development) ในหลายด้านและมี 4 ประเด็นข้อเสนอสำคัญ

(1) ประเด็น “เมืองยุติธรรม” เพื่อเปิดโอกาสให้คนกลุ่มต่าง ๆ ได้ “มีสิทธิที่จะมีส่วนในเมือง” พร้อมกันนั้นควรกำหนดพันธกิจและมีแผนกิจกรรมรองรับวิสัยทัศน์ดังกล่าว ซึ่งจะสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

(2) ประเด็นสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และสิทธิในการออกความคิดเห็นในการพัฒนาโครงการใหญ่ของเมือง เปิดโอกาสให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนามีเวลาปรึกษาพูดคุย หามติ เพื่อนำเสนอใน “เวทีรับฟังความคิดเห็น” อีกทั้งความคิดเห็นเหล่านั้นต้องถูกนำไปสู่กระบวนการพิจารณาและการตัดสินใจอย่างมีส่วนร่วม

(3) ประเด็นสิทธิในการกำหนดที่อยู่อาศัย และสิทธิในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากการพัฒนาเมือง โครงการพัฒนาเมืองหลายโครงการทำให้ชาวบ้านถูกโยกย้ายออกจากที่อยู่อาศัยเดิม ดังนั้นแนวนโยบายที่สำคัญของภาครัฐจึงควรเตรียมแผนรองรับที่ชัดเจนและเป็นธรรม ก่อนที่จะดำเนินโครงการพัฒนาตามแผนที่กำหนดไว้ เช่น การจัดสรรที่อยู่อาศัยใหม่ที่ชาวบ้านยังสามารถดำรงชีพตามวิถีเดิม สามารถใช้ประโยชน์จากโครงการพัฒนาและบริการต่าง ๆ ของเมือง ได้รับค่าชดเชยที่เป็นธรรมจากการโยกย้ายที่ทำให้พวกเขาเสียโอกาส

(4) ประเด็นการสร้างสมดุลของแนวคิดในการพัฒนา ระหว่างแนวคิดการทำงานพัฒนาในลักษณะ “อุดหนุน ช่วยเหลือ” (subsidies เช่น โครงการสวัสดิการแห่งรัฐ) กับแนวคิดการพัฒนาที่มุ่งสร้าง “สำนึกความเป็นเจ้าของ” (sense of ownership) หรือ “การเสริมสร้างพลังอำนาจ” (empowering) ที่ทำให้ “คนเมือง” (ทั้งคนจนเมือง คนกลุ่มต่าง ๆ และชนชั้นกลางในเมือง) รู้สึกถึงการมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของในการพัฒนาเมืองอย่างจริงจัง โดยภาครัฐช่วยสนับสนุน ทำหน้าที่เป็น “ผู้เอื้ออำนวย” (facilitator) ให้ประชาชนลุกขึ้นมาแก้ปัญหาด้วยตัวเอง จะช่วยปรับเปลี่ยนมุมมองให้ “คนเมือง” เป็นผู้ลงมือกระทำ (active agents) เพื่อแก้ปัญหาของเมือง ไม่ได้เป็นเพียงผู้รอรับผลประโยชน์จากการพัฒนาเมือง (passive agents) เท่านั้น

คนจนเมือง ขอนแก่น อีสาน

ผศ.ธนพฤกษ์ กล่าวอีกว่า จากการศึกษาพบว่ากลุ่มคนจนเมืองอีสานเกือบครึ่งหนึ่งพยายามที่จะถีบตัวเองขึ้นมาให้เป็นผู้ประกอบการ ทำให้เห็นถึงความพยายามที่พวกเขาถีบตัวเองขึ้นมา และเชื่อว่านี่จะสามารถขยับสถานะขึ้นมาได้ ไม่มีใครอยากจะเป็นลูกจ้างตลอดชีวิต ไม่มีใครอยากที่จะหาเช้ากินค่ำไปตลอดชีวิต แรงปรารถนา ทางรอดการเปลี่ยนอาชีพตามกระแสสังคม เหมือนจะเป็นทางรอดของคนเหล่านี้ แต่กลับพบว่ายังมีปัญหาที่ขัดขาพวกเขาอยู่ นั่นคือระบบราชการที่เรียกว่าเป็นระบบเชิงเทคนิค เช่น การใช้ภาษาราชการในการสื่อสาร

อีกทั้งข้อมูลวิจัย ระบุว่า ที่ผ่านมาประชาชนมักได้รับการแจ้งข่าวอย่างกระชั้นและสับสน ทําให้ไม่มีเวลาในการปรึกษาพูดคุยเพื่อเตรียมการหรือปรับตัว ดังนั้น จึงควรมีการปรับปรุงกระบวนการสื่อสารที่ชัดเจนในช่วงเวลาที่เหมาะสม เปิดโอกาสให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนามีเวลาปรึกษาพูดคุยหามติเพื่อนําเสนอใน “เวทีรับฟังความคิดเห็น” อีกทั้งความคิดเห็นเหล่านั้นต้องถูกนําไปสู่ กระบวนการพิจารณาและการตัดสินใจอย่างมีส่วนร่วม

ด้าน รศ.กนกวรรณ มะโนรมย์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้ทรงคุณวุฒิให้ความเห็นเพิ่มเติมจากงานวิจัย ระบุว่า คนจนเมืองเป็นผลผลิตของสังคมสมัยใหม่ เขาไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรในเมืองได้ นโยบายที่ออกมามองไม่เห็นคนจน ว่ามีสิทธิ์ มีศักดิ์ศรี แต่กลับตอบโจทย์ชีวิตคนชนชั้นกลาง สร้างความเป็นเมืองมากกว่าที่จะโอบอุ้มคนจนเมือง อีกทั้งทุกการพัฒนาเมืองมักจะทำให้คนจนหล่นหายอยู่เสมอ

“คนจนเป็นเหยื่อพัฒนา แต่ไม่ใช่ผู้ผลิตซ้ำความจน ผู้ผลิตซ้ำความจนคือโครงการพัฒนาของรัฐ ทำให้คนจนเป็นคนจนข้ามรุ่น เพราะการออกแบบโครงการพัฒนาไม่ได้นึกถึงคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม เขาก็เลยกลายเป็นเหยื่อของการพัฒนา”

รศ.กนกวรรณ มะโนรมย์
คนจนเมือง อีสาน

รศ.กนกวรรณ กล่าวอีกว่า การจะให้คนจนเมืองเหล่านี้ หลุดพ้นจากความจน ข้ามกำแพง ยกระดับ คงยากมาก ทั้งข้อจำกัดเรื่องการศึกษา ข้อจำกัดเรื่องการต่อรอง การใช้ทรัพยากร รวมถึงการสนับสนุนจากหน่วยงาน

“การมองทะลุเพดานข้อจำกัด เต็มไปด้วยอุปสรรค คิดไม่ออก จินตนาการไม่ได้ เพราะข้อจำกัดที่มีหนามากเหลือเกิน ต้องทำงานหาเช้ากินค่ำ จะให้เอาเวลาที่ไหนไปต่อสู้”

รศ.กนกวรรณ มะโนรมย์

ผศ.ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์ ระบุเพิ่มเติมว่า จะนำความเห็นหลังจากการนำเสนอครั้งนี้ไปพูดคุยเพิ่มเติม โดยเฉพาะเรื่องการทะลุเพดาน ทลายข้อจำกัดด้านสิทธิ์ ศักดิ์ศรี และแผนพัฒนา


อ่านเอกสารสรุปผลงานวิจัยชุด “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง” ทั้งหมดได้ที่นี่

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ