เครือข่ายแรงงาน จี้รัฐ ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 492 บ. ทั่วประเทศ สู้ “ของแพง ค่าแรงถูก”

ยืนยันเสนอรัฐแก้ปัญหา ลดค่าครองชีพแล้ว แต่ไม่เป็นผล จึงขอปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เท่ากันทั้งประเทศ อย่างเท่าเทียม พร้อมเสนอรัฐบาล ประกาศโครงสร้างค่าจ้าง แต่ละปีอย่างเป็นระบบ

วันนี้(24 ม.ค.65) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ร่วมกันออกแถลงการณ์ เรื่อง “สินค้าราคาแพง ขอปรับค่าแรงและให้รัฐบาลควบคุมราคาสินค้า” โดยอ้างอิงจากสภาพปัญหาราคาสินค้าอุปโภค บริโภค สาธารณูปโภค สาธารณูปการที่ปรับราคาสูงขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน ส่งผลต่อภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงาน

ก่อนหน้านี้ทาง คสรท. และ สรส. เคยยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.64 ในประเด็นที่ครอบคลุมเรื่องขอให้รัฐบาลประกาศปรับค่าจ้าง, การควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพงเกินไป, การสร้างหลักประกันการทำงาน, ความมั่นคง ความปลอดภัยในการทำงาน และ มาตรการประกันสังคมที่เป็นธรรมแก่คนทำงาน พร้อมให้ใช้รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ให้รัฐบาลวางนโยบายการจ้างงาน พร้อมกับให้ช่วยเหลือเกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อย เป็นต้น แต่จากข้อเสนอต่าง ๆ จนถึงตอนนี้ รัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด จนมีคำกล่าวว่า “ข้าวของแพง แต่ค่าแรงแสนจะต่ำ”

ดังนั้น คสรท. และ สรส. จึงขอให้รัฐบาลประกาศปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 492 บาทเท่ากันทั้งประเทศเพื่อความเป็นธรรมและเท่าเทียม

คสรท.สำรวจคนงานในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศประมาณ 3,000 คน ประกอบไปด้วยค่าใช้จ่ายรายวันที่เป็นค่าอาหาร 3 มื้อ ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายรายเดือน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ, ค่าเช่าบ้าน ผ่อนบ้าน , ผ่อนรถ, ค่าโทรศัพท์, ค่าอินเตอร์เน็ต, ค่าเลี้ยงดูครอบครัว บุพการี เป็นตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่วัน 492 บาท  แต่หากจะให้มีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงครอบครัวได้ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) จะอยู่ที่ 712 บาทต่อวัน ซึ่งข้อมูลตัวเลขที่กล่าวมาเป็นของปี 2560 แต่ด้วยข้อกังวลในเงื่อนไขและสถานการณ์ต่างๆ คสรท. และ สรส. ได้ประชุมร่วมกันจึงเสนอตัวเลขการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2565 ในราคาวันละ 492 บาท ให้เท่ากันทั้งประเทศและให้รัฐบาลประกาศโครงสร้างค่าจ้างเพื่อสะท้อนการปรับค่าจ้างในแต่ละปีอย่างเป็นระบบ

ในแถลงการณ์ ยังเชื่อว่า การปรับค่าจ้างไม่ได้กระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการปรับค่าจ้างจะเป็นการสร้างรายได้ สร้างกำลังซื้อ สร้างกำลังการผลิต เกิดการไหลเวียนทางเศรษฐกิจ รัฐบาลก็สามารถเก็บภาษีได้ตามเป้าหมายนำไปเป็นงบประมาณพัฒนาประเทศได้ นั้นหมายถึงผลดีที่จะเกิดขึ้นแก่ทุกฝ่ายจึงเป็นเหตุผลสมควร

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active