‘ไบโอไทย’ ชี้รัฐปล่อยรายใหญ่มีอำนาจเหนือตลาด ครองส่วนแบ่ง 90% ของการผลิต เร่งมาตรการส่งเสริมผู้ผลิตรายย่อย จี้บังคับใช้กฎหมายจริงจัง ‘นักเศรษฐศาสตร์’ ห่วงค่าแรงโตไม่ทันค่าครองชีพ ขอรัฐเร่งแก้ปัญหาในภาวะฉุกเฉิน
ท่ามกลางกระแสข่าวการกักตุนเนื้อหมูแช่แข็งกว่า 200,000 กิโลกรัม และไปผูกโยงกับบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตเนื้อสัตว์ นำมาสู่การตั้งคำถามถึงการกักตุนและการกำหนดทิศทางราคาเนื้อสัตว์ในท้องตลาด ซึ่งไม่เพียงเนื้อหมูเท่านั้น แต่โปรตีนประเภทอื่น อย่าง เนื้อไก่ ไข่ ก็สูงขึ้นเช่นเดียวกัน กลายเป็นวิกฤตค่าครองชีพที่ต้องพบเจอ ซ้ำเติมความยากลำบากในการทำงานและหารายได้ของประชาชน
The Active ชวนมองสถานการณ์ วิพากษ์ระบบทุนนิยมผูกขาดในภาคการผลิตไทย และส่งต่อความคาดหวังการแก้ปัญหาที่ตอบโจทย์สู่ภาครัฐ
ยุคข้าวยากหมากแพง รุนแรงในรอบกว่า 10 ปี
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยว่า กำลังเข้าสู่ยุค ‘ข้าวยากหมากแพง’ และในฐานะที่ตนติดตามสถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารของคนไทยมาต่อเนื่อง อาจกล่าวได้ว่าครั้งนี้เลวร้ายที่สุดยิ่งกว่าปี ค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2551) ที่ครั้งนั้นเกิดวิกฤตอาหารระดับโลก แต่ก็มีผลเฉพาะวัตถุดิบจำพวกธัญพืชเท่านั้น และยังเป็นโอกาสของเกษตรกรบางกลุ่ม เช่น ผู้ปลูกข้าว ที่ขายข้าวได้ราคาแพงขึ้น แม้ดัชนีราคาอาหารทั่วโลกจะขยับขึ้นก็ตาม
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ สร้างความเดือดร้อนกับประชาชนทุกหย่อมหญ้า เพราะไม่เพียงแต่ราคาหมูที่แพงขึ้น แต่ยังไปดึงราคาสินค้าโปรตีนประเภทอื่นให้สูงขึ้นตามไปด้วย หากจะทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น ว่าต่อจากนี้ไทยจะพบเจอกับอะไร คงจะต้องเปรียบเทียบกับประเทศจีน ที่เคยประสบปัญหาราคาหมูแพงขึ้นไป 2.8 เท่าของราคาตลาด และเผชิญตลอด 1 ปีเต็ม เพราะฉะนั้น ที่มีคนออกมาบอกว่า ไทยจะอยู่กับปัญหานี้เพียง 6 เดือนนั้น เป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน
วิฑูรย์ กล่าวว่า คนไทยบริโภคเนื้อหมูโดยเฉลี่ย คนละ 20 กิโลกรัม/ปี หากคิดเป็นค่าใช้จ่ายของคนไทยทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 200,000 ล้านบาท/ปี และหากราคาหมูเพิ่มสูงขึ้น 2.5 เท่า คนไทยต้องควักเงินเพิ่มเป็น 500,000 ล้านบาท/ปี หรือมีภาระเพิ่มขึ้นถึง 300,000 ล้านบาท/ปี และอย่างที่เห็นว่าตอนนี้ราคาสินค้าอย่างอื่นก็เพิ่มขึ้นด้วย อาหารจานหนึ่ง สิ่งที่แพงสุด คือ เนื้อสัตว์ เมื่อภาระค่าใช้จ่ายสูงขึ้น อาจทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึงโปรตีน จะส่งผลกระทบอย่างสำคัญ ต่อ ‘ความมั่นคงทางอาหารของประชาชน’
ยังมองไม่เห็นทางออก แค่ Intro เข้าเรื่องจริง
เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หากจะต้องอธิบายสถานการณ์ในปัจจุบัน คือ หดหู่ ซึมเศร้า เรายังไม่มีทางออก และตอนนี้เป็นการ intro เข้าเรื่องจริง เนื่องจากปัญหาค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น สวนทางกับค่าแรงที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม และเหมือนเป็นเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เพราะเมื่อโปรตีนชนิดหนึ่งราคาขึ้น โปรตีนทางเลือกก็จะขึ้นตามไปด้วย และประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาบอกกับเราว่า เมื่ออาหารราคาขึ้นแล้ว จะไม่มีทางลง
ปัญหานี้จะกระทบกับคนจน คนรายได้น้อยอย่างรุนแรง เพราะคนรวยจะสามารถหาโปรตีนทางเลือกอื่นได้ และราคาที่เพิ่มเพียงหลักสิบอาจไม่กระทบต่อค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนของคนรวย อีกทั้ง เศรษฐกิจก็จะฟื้นตัวแบบ K – Shape คือมีบางกลุ่มที่จะฟื้นตัวได้ แต่อีกกลุ่มหนึ่งก็จะยิ่งจนลง อีกทั้ง ผลกระทบระยะยาว อาจไม่ใช่แค่ของที่ราคาแพงขึ้น งานวิจัยด้านการบริโภค ชี้ชัดว่าคนจะหันไปบริโภคคาร์โบไฮเดรต และไขมันมากขึ้น ทำให้สัดส่วนของสารอาหารที่อยู่ในตัวจะเปลี่ยนไป ส่งผลให้เกิดภาวะทุพโภชนาการ ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19
ค่าแรง ที่ตามไม่ทันค่าครองชีพ จะส่งผลให้คนยิ่งจนลง เกียรติอนันต์ ยกตัวอย่างว่า หากคนคนหนึ่งเงินเดือนเพิ่มขึ้นขึ้นปีละ 2% – 3% เขาไม่ได้รวยขึ้น แต่เขาจะจนลง เพราะค่าครองชีพตอนนี้เพิ่มเกิน 5% ต่อปี กำลังซื้อไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างแท้จริง และในสถานการณ์ทุกวันนี้ เป็นเรื่องยากที่จะหารายได้เสริม เพราะแค่รักษางานหลัก สำหรับบางคนก็เป็นเรื่องลำบากอยู่แล้ว จึงทำให้เราเห็นภาพว่า คนที่กลับไปชนบท จะไม่กลับมาในกรุงเทพฯ แล้ว เพราะสู้ค่าครองชีพไม่ไหว
สำหรับปัญหาราคาหมูนั้น เกิดจากโรคระบาดที่ทำให้หมูตายจำนวนมาก แต่เกิดขึ้นเฉียบพลัน ตามกลไกตลาดเมื่อสินค้าน้อย ความต้องการมาก ก็จะทำให้ราคาสูงขึ้น ตามทฤษฎีแล้ว ‘จะกลับสู่ดุลยภาพ’ แต่สำหรับหมูอาจจะไม่เป็นอย่างนั้น เพราะการเลี้ยงหมูใช้เวลานาน และตอนนี้ภาคการปลิตหมูสำหรับรายย่อย และรายกลางขาดทุนไปแล้วอย่างรุนแรง ต้องปิดกิจการ และไปต่อไม่ได้ ในอนาคตโลกหลังจากนี้ หมูจะเป็นหมูเหมือนเดิม แต่ตลาดหมูจะไม่เหมือนเดิม
‘ยักษ์ใหญ่’ ผูกขาดตลาดการผลิต โรคระบาดซ้ำเติมรายย่อย
วิฑูรย์ กล่าวว่า ภาคการผลิตของไทย โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ เป็นภาคการผลิตที่เปลี่ยนแปลงไปสู่การรวมศูนย์การตลาด โดยผู้ประกอบการเพียงไม่กี่ราย ในช่วงแค่ 2 – 3 ทศวรรษเท่านั้น ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว เพราะตลาดผลิตไก่ และหมูเมื่อประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา 95% มาจากผู้เลี้ยงรายย่อย แต่ปัจจุบันสลับกัน คือ 90% เป็นการผลิตของรายใหญ่ การผลิตที่มีผู้ผลิตเพียงไม่กี่ราย ครอบครองส่วนแบ่งจำนวนมาก ๆ จะทำให้กลไกตลาดมีปัญหา และเมื่อครั้งที่ไข้หวัดนกแพร่ระบาด จากที่รายใหญ่มีส่วนแบ่ง 17% แต่หลังการระบาด การเลี้ยงต้องใช้ต้นทุนเพิ่มขึ้น เลยมาครอบครองส่วนแบ่งเกิน 30% จะทำให้ผู้เลี้ยงย่อยหาย รายใหญ่อำนาจเพิ่มขึ้น
เพราะฉะนั้น วิฑูรย์ จึงคาดการณ์ว่า หลังโรคระบาดในหมูครั้งนี้ ผู้ผลิตรายย่อยจะหายไปจำนวนมาก และยิ่งทำให้โครงสร้างของระบบการผลิตเนื้อสัตว์ในไทยไปอยู่ในมือของผู้ประกอบการเพียงไม่กี่ราย และจะเป็นการซ้ำเติมปัญหาที่เห็นในปัจจุบัน เพราะราคาหมูที่พุ่งสูงขึ้นในปัจจุบัน และยากจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในเร็ววัน สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญอีกอย่าง คือ การครอบครองการกระจายผลิตภัณฑ์ ที่รายย่อยจะไม่สามารถเข้าถึงได้
เหตุที่เป็นเช่นนี้ วิฑูรย์ มองว่า เราปล่อยให้บริษัทใหญ่ เข้ามามีอิทธิพลในระบบการผลิตเนื้อสัตว์มากเกินไป มาตรฐานในประเทศไทย ยังไม่สมควรเป็นมาตรฐานตามระบบทุนนิยม การปล่อยให้มีการควบรวมกิจการบริษัทใหญ่ ที่มีผู้ประกอบการแค่ 1 – 2 ราย เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น แต่เราก็ยอมให้เกิดขึ้นมา ในกรณีเดียวกันหากต้องไปลงทุนในเวียดนาม ทันทีที่ส่วนแบ่งเกิน 35% จะต้องยอมขายกิจการบางส่วนไปทันที เพราะไทยเรามีปัญหาในโครงสร้างของกฎหมายแข่งขันทางการค้า และการบังคับใช้ที่ไม่จริงจัง ที่ทำให้เรามาถึงจุดนี้
บังคับใช้ ‘กฎหมาย’ พร้อม ‘ส่งเสริม’ ผู้ผลิตรายย่อย
เกียรติอนันต์ กล่าวเสริมว่า สภาพการตลาดที่ถูกผูกขาด ทำให้ประชาชน ต้องเลือก ท่ามกลางการไม่มีทางเลือก เพราะหากเราเข้าไปซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต ถ้าเราไม่มองที่ตัวสินค้า แต่มองที่ชื่อผู้ผลิต ตัวเลือกเราจะน้อยมาก การผูกขาดในมิติของผู้บริโภคจึงอาจทำให้ราคาขยับขึ้น โดยที่ผู้บริโภคไม่มีอำนาจต่อรอง และในอีกทางหนึ่งบริษัทใหญ่ยังสร้างอำนาจต่อรองกับซัพพลายเออร์ได้อีกด้วย ทั้งนี้ ก็เป็นธรรมชาติของธุรกิจ แต่กลไกของภาครัฐต้องควบคุมไม่ให้ทรงอำนาจจนเกินไป ผ่าน 2 มาตรการ
เรื่องแรก คือ การปรับปรุง ปฏิรูป และการบังคับใช้กฎหมาย เกียรติอนันต์ มองว่าโดยจิตวิญญาณของกฎหมายกีดกันทางการค้า คือ การติดอาวุธให้กับรัฐ เพื่อมองเกมก่อน แล้วป้องกันการผูกขาดที่อาจจะเกิดขึ้น ไม่ใช่เอามาใช้หลังผูกขาดไปแล้ว รัฐจึงต้องมีเครื่องมือในการห้ามก่อนบริษัทเหล่านั้นจะโตขึ้น เพราะหากมาตามจับทีหลัง ฝ่ายธุรกิจย่อมมีทรัพยากรมากเพียงพอ ที่จะสามารถหาช่องทางพ้นผิดของตัวเองไปได้
แต่สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปด้วย คือ สร้างทางเลือกให้มีการผลิตเพิ่มมากขึ้น รัฐต้องส่งเสริมให้มีผู้ผลิตรายใหม่ ซึ่งอาจต่อยอดสนับสนุนจากกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย หรือ Start up ทำให้การแข่งขันเกิดขึ้นในภาคการผลิต เราต้องทำให้รายใหญ่รู้ว่า การทำธุรกิจ และการผลิตเขามีขอบเขตที่จะทำได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น และกรอบที่เขาไม่ควรล้ำเข้ามา
ในขณะที่ วิฑูรย์ เห็นด้วยว่า รัฐควรส่งเสริมผู้ผลิตและเกษตรกรรายย่อย หากมีการจัดการโรคระบาดได้แล้ว ต้องมีการเยียวยาความเสียหาย และแขวนหนี้สินของรายย่อยให้สามารถฟื้นตัวได้ แต่รัฐต้องไม่ลืมเรื่องช่องทางการตลาดด้วย เพราะแม้เราจะส่งเสริมให้รายย่อยผลิตได้เพิ่มมากขึ้น แต่ไม่มีช่องทางขาย แล้วผลผลิตของเขาจะเข้าสู่ตลาดได้อย่างไร และจะเป็นการผลักให้รายย่อยเข้าสู่ระบบเกษตรพันธะสัญญาของรายใหญ่ในที่สุด จึงควรเปิดพื้นที่การตลาดใหม่ ๆ และหลากหลาย ควบคุมการผลิตขนาดใหญ่ ที่เป็นสาเหตุของโรคระบาด โดยกำหนดทิศทางเกษตรกรรมที่ยั่งยืน และมีคุณค่าต่อโลกมากขึ้น
ยอมรับความจริง สรุปบทเรียน และแก้ปัญหาในภาวะฉุกเฉิน
วิฑูรย์ กล่าวว่า ข้อเสนอการแก้ปัญหาที่เสนอมา อาจสร้างปัญหาต่อเนื่อง เช่น การลดต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ลง แล้วปล่อยให้มีการนำเข้าข้าวโพด มันสำปะหลัง และวัตถุดิบอาหารสัตว์ เพื่อการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า อาจสร้างผลกระทบให้กับผู้ผลิตรายใหญ่อยู่บ้าง แต่ผู้ผลิตรายเล็ก รายกลาง จะกระทบหนักกว่า และจะส่งผลต่อราคาค่าอาหารของผู้บริโภคเข้าไปอีกด้วย
ในกรณีของเงินเยียวยาให้กับผู้ผลิตนั้น วิฑูรย์ มองว่า ถ้าการระบาดเกิดรุนแรงในระดับนี้ หายไปจากตลาด 60% – 70% ระดับการช่วยเหลือของรัฐบาลจึงต้องสมเหตุสมผลกัน ตอนนี้มองว่ายังไม่สามารถชดเชยความเสียหายได้ และยิ่งไม่ทำให้เกษตรกรตัดสินใจกลับมาเลี้ยงต่อ และไม่สามารถแบกรับความเสี่ยงในอนาคตต่อไปได้ ซึ่งจะยากต่อการฟื้นระบบการผลิต
ในขณะที่เกียรติอนันต์ กล่าวว่า ปัญหาสินค้าราคาแพงเกิดขึ้นทั่วโลก และการเกิดโรคระบาดในสัตว์ก็เช่นเดียวกัน วิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือ การเพิ่มรายได้ เป็นวิธีเดียวที่จะแก้เกมค่าครองชีพได้ โจทย์แรก คือ ต้องเพิ่มรายได้ ให้เร็วกว่าค่าครองชีพ และต่อมาต้องกระจายรายได้ให้ทั่วถึงคนทุกกลุ่ม คนในแต่ละกลุ่มอาจมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นต่อปีไม่เท่ากัน รัฐบาลต้องมองล่วงหน้าว่าอะไรจะเกิดต่อจากนี้ มองหาวิธีปฏิบัติที่ต่างกัน ตามกลุ่มเป้าหมาย
การแก้ปัญหาที่ผ่านมา เกียรติอนันต์ มองว่า เหมือนพยายามใช้ยาแก้ปวดบรรเทาชั่วคราว แต่ไม่เคยสร้างภูมิคุ้มกัน การที่ให้ความสำคัญกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงเรื่องเดียว จะมีผลเชิงลบเสมอ ตอนนี้สิ่งสำคัญ คือ ต้องกดปุ่มสัญญาณแดง การใช้วิธีเดิมแล้วไม่ได้ผล ไม่ควรใช้ต่อไป ตอนนี้สถานการณ์ฉุกเฉินมาก กระบวนการต้องเร่งด่วนตามไปด้วย และต้องมีประสิทธิภาพ เพราะหน่วยงานราชการมีคนที่มีความสามารถ เพียงแต่ต้องก้าวข้ามข้อจำกัดเดิมๆ
วิฑูรย์ ทิ้งท้ายว่า รัฐต้องยอมรับและสรุปบทเรียนเรื่องนี้ และต้องไม่ซ้ำรอยแบบเดิม เหมือนในช่วงของไข้หวัดนก ที่รัฐปกปิดข้อมูล แม้ออกมายอมรับว่าเป็นปัญหาทางเทคนิค แล้วพยายามแก้ปัญหา กว่าจะฟื้นตัวได้ใช้ระยะเวลา 3 – 5 ปีเป็นอย่างน้อย ประสบการณ์จากหลายประเทศ บอกว่าโรคนี้ไม่ได้ระบาดแบบถาวร เราต้องเรียนรู้ว่าเขาจัดการได้เพราะอะไร และต้องมองประโยชน์ของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และเกษตรกรทุกรายอย่างเท่าเทียม และเป็นธรรม