“หยุดสร้างเหมือง ปัดฝุ่นเมือง แก้ปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม” ข้อเสนอ Connect Fest 2

คนรุ่นใหม่ร่วมสะท้อนปัญหาความเสียหายหลังการสร้างเหมืองทั่วประเทศ และปัญหาฝุ่น PM2.5 เรียกร้องหน่วยงาน และตัวแทนในสภาฯ เร่งตรวจสอบแก้ไข

วันนี้ (20 ม.ค. 2565) โครงการ Connect Fest 2: Social Movement week for all โดยเครือข่ายนวัตกรรมคนรุ่นใหม่ สมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม จัดเวทีเสวนา : เหมือง เมือง และฝุ่น ชวนประชาชนถกมุมมองนโยบายเหมืองแร่ และแนวทางแก้ปัญหามลภาวะในเมือง

Connect Fest จุฑามาส

จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ สะท้อนความกังวลจากการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทย โดยระบุว่า แร่มีสารเคมีอื่น ๆ ประกอบร่วมด้วย เช่น สารหนู แต่ที่ผ่านมาพบว่ารัฐมีการออกกฎหมายเอื้อประโยชน์ภาคเอกชน แต่ตัดโอกาสการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นของภาคประชาชน ทั้งยังพบว่ากระบวนการต่าง ๆ ในการพิจารณาสร้างเหมืองมีความไม่ชอบธรรม พ.ร.บ.แร่ มีข้อกำหนดที่อ่อนไหว เช่น ห้ามทำเหมืองแร่ใกล้กับแหล่งโบราณคดี แต่แหล่งโบราณคดีจะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนเท่านั้น ทำให้ตำบลดงมะไฟ ซึ่งมีแหล่งโบราณคดีสำคัญแต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนไม่ได้รับการยกเว้น นำมาสู่การสร้างเหมือนหินดงมะไฟ

ในส่วนของการทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม พบว่า ผู้ที่ตรวจรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไม่เคยลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ ภายหลังการเปิดเหมืองก็ไม่มีการตรวจสอบการดำเนินกิจการว่ามีมาตรฐานหรือไม่ และส่งผลกระทบกับพื้นที่โดยรอบอย่างไร

“รอบเหมืองโปแตซทุกวันนี้ ชาวบ้านทำนาไม่ได้แล้ว เมื่อไม่มีใครไปตรวจสอบ และมีแต่คนปัดความรับผิดชอบ ที่เหมืองแร่คลิตี้ หรือเหมืองหินดงมะไฟ ก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม อยากบอก กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ว่า ก่อนที่จะพิจารณาอนุญาตให้มีการทำเหมืองใหม่ อยากให้มีการตรวจสอบเหมืองที่มีอยู่ก่อนว่า มีข้อผิดพลาดยังไง แก้ไขยังไงได้บ้าง”

Connect Fest พรชิตา

พรชิตา ฟ้าประทานไพร เยาวชนอมก๋อย กล่าวว่า ที่หมู่บ้านกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ มีการยื่นขอประทานบัตรตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 ภายหลังมีกระบวนการรวบรวมความคิดเห็นซึ่งพบว่ามีความผิดพลาด เนื่องจากชาวบ้านบางคนมีชื่อลงความเห็นชอบในเอกสาร ทั้งที่จริงๆ แล้วเขียนหนังสือไม่ได้ หรืออายุยังน้อยไม่บรรลุนิติภาวะ ชาวบ้านทราบว่ากำหนดการเริ่มก่อสร้างกำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ขณะนี้จึงพยายามต่อสู้ เพราะหากมีการก่อสร้างก็จะส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมในพื้นที่

“พื้นที่หมู่บ้านกะเบอะดินเป็นชนเผ่ากะเหรี่ยงและชาวบ้านไม่ค่อยมีความรู้เรื่องของกฎหมาย เรื่องทรัพยากรหรือเรื่องราวในพื้นที่ของตัวเองมากเท่าไหร่ แต่ชาวบ้านก็ทราบถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ทั้ง น้ำ อากาศ ทรัพยากรธรรมชาติ และอาจทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป จึงได้ต่อสู้ และได้เข้าไปบอกกับบริษัทว่ารายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมได้มาไม่ชอบธรรม”

Connect Fest รสนา

รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม. กล่าวว่า ปัญหาที่สำคัญของการทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอคือ โครงการที่ไปจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำรายงานนั้น จะมีเงื่อนไขว่า ถ้าอีไอเอไม่ผ่านจะไม่จ่ายค่าจ้างงวดสุดท้าย บริษัทผู้ถูกว่าจ้างจึงต้องทำยังไงก็ได้ให้ผ่าน และการเดินหน้าโครงการต่างๆ ที่ผ่านมา เรามีนักการเมืองมีอำนาจกว่าประชาชนให้สัมปทาน ทั้งที่รู้ว่าการฟื้นฟูธรรมชาติกลับมาเหมือนเดิมยากมาก

ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีแนวทางที่ว่า “เห็นเสือเราจะฆ่าเห็นป่าเราจะฟัน” ทำให้กรุงเทพฯ เสื่อมโทรมลง ปัจจุบันไม่มีใครรู้จักสายน้ำทั้งที่เคยได้ฉายาว่าเป็นเวนิสตะวันออก และยังต้องเผชิญกับปัญหามลภาวะ แตกต่างจากสิงคโปร์ที่เมือ่ได้ผู้นำดีก็สามารถพัฒนาจากเกาะเล็กๆ ให้กลายเป็นเมืองในป่าได้ (city in the garden)

คนกรุงเทพฯ อาจจะรู้สึกเหมือนไม่สามารถทำอะไรได้กับนโยบายต่างๆ แต่เราต้องรู้ว่าเรามีสิทธิ์ที่จะมีอากาศสะอาด เราต้องรู้ว่าผู้บริหารเมืองมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์หรือเปล่า ถึงได้มีการก่อสร้างตึกมากมาย และก่อให้เกิดฝุ่นขนาดนี้… เมื่อมีคนหนุ่มสาวมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมคือสิ่งสำคัญมาก และเราต้องไม่ใช่แค่บ่น แต่หาเครื่องมือ และเรียกร้องในตัวแทนของเราในสภาฯ ให้ขับเคลื่อนเชิงนโยบาย และผลักดันกฎหมายที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้

Connect Fest อัลลิยา

อัลลิยา เหมือนอบ ผู้ประสานงานรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนผ่านพลังงาน กรีนพีซ ประเทศไทย ระบุว่า ปัจจุบันมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดเล็ก ( PM2.5) ของไทยไม่เพียงพอ เพราะเป็นมาตรฐานที่ใช้มาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งปัจจุบันสิ่งแวดล้อมเมืองและปัญหามลพิษรุนแรงมากขึ้น จึงจำเป็นต้องเรียกร้องให้มีการปรับค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ คือ ค่าเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 ที่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยจะไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) จากเดิมที่ 10 มคก./ลบ.ม. และค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมง จะต้องไม่เกิน 15 มคก./ลบ.ม. จากเดิม 25 มคก./ลบ.ม.

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้