จาก “เยาวชนตะกอนยม” แห่งบ้านสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ คัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น สู่ “เลขาฯ กป.อพช.เหนือ” ประกาศจุดยืน ดันร่าง รธน.ใหม่ – ประชาธิปไตย – สิทธิมนุษยชน ด้าน “ศ.อรรถจักร์” ย้ำบทบาท กป.อพช. ผสานขบวนการคนรุ่นใหม่ ร่วมปฏิรูปโครงสร้างการเมือง
วานนี้ (15 ม.ค.64) คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคเหนือ (กป.อพช.เหนือ) จัดประชุมสมาชิกเครือข่าย ในหัวข้อ “กป.อพช.เหนือ MOVE ON” ณ มูลนิธิส่งเสริมวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต.สันผีเสื้อ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พร้อมจัดวงเสวนาและเลือกตั้งเลขาธิการ กป.อพช.เหนือคนใหม่ โดยมีผู้ถูกเสนอชื่อหนึ่งคน คือ ชาติชาย ธรรมโม ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ (CAN) จึงได้รับมติเอกฉันท์ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กป.อพช. ภาคเหนือคนใหม่
ชาติชาย แถลงทั้งน้ำตา ย้ำว่า ไม่ได้เสียใจกับการมารับตำแหน่ง แต่เป็นน้ำตาแห่งความยินดีที่ได้เห็นพลังของนักพัฒนาภาคเหนือ ทั้งนี้ตนไม่ได้ต้องการเป็นเลขาธิการฯ เพราะอยากเป็น แต่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม หากไม่ทำหน้าที่นี้ ก็ไม่สามารถเรียกร้องคนอื่นได้ พร้อมทั้งย้ำว่าการดำเนินงานหลังจากนี้จะตั้งอยู่บนหลักการการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะสัดส่วนของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งจะมีนักพัฒนาผู้มีประสบการณ์เป็นที่ปรึกษา ไม่ใช่ต้องการยึดบทบาทใคร
“ยืนยันว่า สิ่งที่ต้องการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดหลังจากนี้ คือการต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ฉบับ กป.อพช. ภาคเหนือ โดยการมีส่วนร่วมของหลายภาคส่วนที่มีข้อเสนอของเครือข่ายตนเองอยู่แล้ว รวมทั้งเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ที่เคลื่อนไหวในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา“
สำหรับ ชาติชาย ธรรมโม หรือ แคน อายุ 41 ปี เติบโตจาก “เยาวชนตะกอนยม” ที่ต่อสู้เรื่องแก่งเสือเต้น ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ก่อนจะเข้าร่วมกับเครือเยาวชนสมัชชาคนจน มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธุ์พืชแห่งประเทศไทยกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล แห่งประเทศไทย สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมเยาวชนภาคเหนือ (YT) ตามลำดับ ขณะนี้เป็นผู้จัดการชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ (CAN)
ด้าน ศ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “คนทำงานทางสังคมกับโครงสร้างการเมืองไทย” โดยย้ำว่าการเกิดขึ้นของ กป.อพช. มีคุณูปการต่อสังคมไทย อย่างไรก็ตามสถานการณ์สังคมการเมืองปัจจุบันนั้นเต็มไปด้วยปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นทำให้ความจนเป็นสิ่งที่ถูกส่งทอดจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้เกิดชนชั้นในสังคม ดังนั้นการดำเนินงานของ กป.อพช. ในปัจจุบันจึงควรเป็นไปเพื่อการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ โดยเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมใน กป.อพช. มากขึ้น ควบคู่ไปกับกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนที่ขับเคลื่อนประเด็นมาก่อน
ขณะที่เวทีเสวนาหัวข้อ “กป.อพช. จำเป็นต้องมีอยู่ไหมในสังคมไทย” มีข้อสรุปว่า กป.อพช. ยังคงมีบทบาทสำคัญและจำเป็นต้องมีอยู่ เพียงแต่ในสถานการณ์ปัจจุบันจำเป็นต้องปรับตัวโดยการแก้ไขปัญหาของชาวบ้านให้ได้จริง ทำกิจกรรมเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงมากกว่าการทำงาน routine และเชื่อมโยงประเด็นในสังคมมากขึ้น พร้อมทั้งให้ยอมรับว่า สังคมในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากช่วงแรกเริ่มการก่อตั้ง กป.อพช. อยู่มาก จึงควรเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม ให้ กป.อพช. เป็นพื้นที่เชื่อมร้อยผู้คนที่ทำงานประเด็นสังคมหลากหลายให้มีขับเคลื่อนร่วมกัน
ส่วนเวทีเสวนาหัวข้อ “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนกับ กป.อพช. เหนือ” ซึ่งเป็นเวทีที่เปิดให้คนรุ่นใหม่ในแวดวงได้ขึ้นมาร่วมแลกเปลี่ยน โดยเห็นตรงกันว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ไม่ได้มีที่มาจากจากประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยไม่ได้เป็นของประชาชนโดยแท้จริง จึงเกิดเป็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในทุกมิติ อาทิ สวัสดิการแห่งรัฐ, ปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ตลอดจนการคุกคามกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เคลื่อนไหวทางการเมือง
จึงมีข้อสรุปว่า กป.อพช. ควรเป็นพื้นที่เปิดเชื่อมโยงประเด็นและกลุ่มคนที่กำลังเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยให้มาเรียนรู้กัน กำหนดยุทธศาสตร์และเป้าหมายในการต่อสู้ร่วมกัน โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ การกระจายอำนาจ และสิทธิมนุษยชน